‘ฝุ่นผ้าเบรก’ ทำลาย ‘ปอด’ อันตรายกว่า ‘ควันท่อไอเสีย’ ใช้ ‘รถอีวี’ ก็ไม่ช่วย เกิดฝุ่นอยู่ดี

‘ฝุ่นผ้าเบรก’ ทำลาย ‘ปอด’ อันตรายกว่า ‘ควันท่อไอเสีย’ ใช้ ‘รถอีวี’ ก็ไม่ช่วย เกิดฝุ่นอยู่ดี

“มลพิษทางอากาศ” ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 7 ล้านคนต่อปีทั่วโลก ซึ่งหากพูดถึงมลพิษทางอากาศในเมือง ผู้คนมักจะคิดถึง “ควันจากท่อไอเสีย” แต่แท้จริงแล้ว ฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการสึกหรอของยางและถนน โดยเฉพาะ “ฝุ่นผ้าเบรก” อาจจะเป็นอันตรายสุขภาพของมนุษย์มากกว่า

“การปล่อยไอเสียที่ไม่ได้มาจากท่อไอเสีย” (Non-exhaust emissions) เกิดจากการสึกหรอของผ้าเบรกของรถยนต์ ยาง และถนน รวมถึงอนุภาคต่าง ๆ บนถนน กลายเป็นมลพิษหลักที่เกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนนในหลายประเทศของยุโรป แซงหน้าการปล่อยควันจากท่อไอเสีย ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ไม่มีใครคาดคิด

“ฝุ่นผ้าเบรก” เป็นของเสียหลักที่เกิดขึ้นจากการปล่อยไอเสียที่ไม่ได้มาจากท่อไอเสีย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการควบคุม และไม่รู้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ได้นำผ้าเบรกชนิดต่าง ๆ ทั้งผ้าเบรกออร์แกนิกที่ไม่มีแร่ใยหิน ไฮบริดเซรามิก โลหะต่ำ และกึ่งโลหะ มาทำการเปรียบเทียบความเป็นอันตรายของฝุ่นละอองจากการสึกหรอ ที่น่าประหลาดใจคือ ฝุ่นละอองจากผ้าเบรกออร์แกนิกและผ้าเบรกไฮบริดเซรามิก ซึ่งมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ เป็นพิษต่อเซลล์ปอดมากที่สุด เพิ่มความเสี่ยงโรคปอด โรคหอบหืด มะเร็งปอด ซึ่งอันตรายมากกว่าฝุ่นจากท่อไอเสียดีเซลอีกด้วย

เกือบครึ่งหนึ่งของทองแดงที่ลอยอยู่ในอากาศมาจากการสึกหรอของเบรกและยาง ซึ่งการวิจัยพบว่า ทองแดงสามารถซึมเข้าไปในเซลล์ปอดได้ และหากได้รับทองแดงในปริมาณสูง ก็จะทำให้ปอดทำงานได้แย่ลง ตลอดจนเป็นโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นนักวิจัยจึงเสนอว่า ควรใช้สารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับฝุ่นผ้าเบรก เพื่อทำให้ทองแดงเป็นกลาง มีพิษน้อยลง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพลดลง

ในอดีตผ้าเบรกมี “แร่ใยหิน” เป็นส่วนประกอบ เพื่อใช้ต้านทานความร้อน แต่หลังจากที่พบว่าแร่ใยหินส่งผลกระทบโรคปอด ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ออกแบบผ้าเบรกแบบใหม่ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด ทั้งแบบที่ใช้โลหะชนิดต่าง ๆ ไปจนถึงใช้เส้นใยสังเคราะห์

แม้ว่าเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยขจัดการปล่อยไอเสีย ซึ่งช่วยลดก๊าซพิษและฝุ่นละออง แต่ก็ไม่สามารถขจัดฝุ่นบนท้องถนน ยาง และเบรกได้ จากการศึกษาพบว่า รถยนต์ไฟฟ้ามักจะมีน้ำหนักมากกว่ารถสันดาป ทำให้รถอีวีสร้างฝุ่นที่ไม่ใช่ไอเสียได้มากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซล

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่