ทำไม แบรนด์ไทย ชอบใช้ “ชื่อสัตว์” มาตั้ง “ชื่อแบรนด์” ทั้ง กระทิง งู ม้าลาย เสือ ช้าง

ทำไม แบรนด์ไทย ชอบใช้ “ชื่อสัตว์” มาตั้ง “ชื่อแบรนด์” ทั้ง กระทิง งู ม้าลาย เสือ ช้าง

- เครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง

-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิงห์

- แป้งเย็นตรางู

- ชุดเครื่องครัวตราหัวม้าลาย

- ปูนตราเสือ

- แฟ้มตราช้าง

แบรนด์ยอดนิยมเหล่านี้ คือตัวอย่างของแบรนด์ที่นำชื่อสัตว์ ที่คนไทยคุ้นเคย มาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์

แล้วทำไมแบรนด์ไทย จึงนิยมนำชื่อสัตว์มาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์มากขนาดนี้ ?

ในบทความนี้ MarketThink จะอธิบายให้อ่านกัน

จริง ๆ แล้ว ในโลกของการตลาด และการสร้างแบรนด์ ชื่อของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มักจะถูกนำมาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์กันอย่างแพร่หลาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับแบรนด์ไทยเท่านั้น

โดยตัวอย่างของแบรนด์ดังในต่างประเทศ ที่ใช้ชื่อสัตว์มาเป็นชื่อแบรนด์ เช่น

- รถยนต์ Jaguar ที่มาจาก เสือจากัวร์

- ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม Dove ที่มาจาก นกพิราบ

- แบรนด์เสื้อผ้า Crocodile ที่มาจาก จระเข้

- เว็บเบราว์เซอร์ Firefox ที่มาจาก สุนัขจิ้งจอก

โดยสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย นำชื่อสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์ เรื่องนี้มีเหตุผลอยู่ด้วยกันหลายข้อ ได้แก่

1. ชื่อของสัตว์แต่ละชนิด คือสิ่งที่คนทั่วโลกมีความคุ้นเคยกันเป็นปกติอยู่แล้ว

ซึ่งความคุ้นเคยนี้ มีข้อดีที่สำคัญที่สุด คือ เราสามารถจดจำชื่อสัตว์ต่าง ๆ ได้ง่าย

เพราะชื่อสัตว์ส่วนใหญ่นั้น เป็นคำสั้น ๆ เห็นแล้วจำได้ในทันที ไม่ต้องอาศัยการตีความ หรือนึกนาน ๆ จากความคุ้นเคยกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มักพบเจอในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และสัตว์บางชนิดก็อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนทั่วโลก มาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ความทรงจำของคน ยังจดจำเรื่องต่าง ๆ ในรูปแบบรูปภาพ (Visual) ซึ่งแน่นอนว่า เราต่างจำได้อยู่แล้วว่าสัตว์แต่ละชนิด มีลักษณะทางกายภาพอย่างไร

การนำสัตว์มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

2. สัตว์แต่ละชนิด บ่งบอกตัวตนหรือคุณสมบัติของแบรนด์ได้

คิดภาพตามง่าย ๆ ว่า สัตว์แต่ละชนิด มีลักษณะบางอย่างที่มีความเฉพาะตัว และความเฉพาะตัวนั้น สามารถนำมาใช้กับการบ่งบอกตัวตน หรือคุณสมบัติของแบรนด์ได้

ตัวอย่างเช่น

- ช้าง สะท้อนถึง ความแข็งแรง และความใหญ่โต

- กระทิง สะท้อนถึง ความรวดเร็ว กระฉับกระเฉง แข็งแรง มีพลัง

- ตุ๊กแก สะท้อนถึง ความคงทน ความสามารถในการยึดเกาะ

ซึ่งการนำชื่อของสัตว์เหล่านี้ มาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์ จะทำให้เกิดการจดจำถึงตัวตน หรือคุณสมบัติ ที่เชื่อมโยงกับภาพจำของสัตว์แต่ละชนิดได้
และเมื่อเกิดการจดจำได้ ก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบโดยแบรนด์อื่น ๆ

3. สร้าง Emotional Connection ระหว่างแบรนด์หรือสินค้า กับกลุ่มเป้าหมาย

จากผลการศึกษา หลายคนน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า คนกับสัตว์บางชนิดนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีมาเป็นเวลานาน และคนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบสัตว์กันเป็นปกติอยู่แล้ว

สังเกตได้จากในแวดวงการตลาด และการสร้างแบรนด์ เรามักจะเห็นสัตว์ถูกนำมาใช้อยู่เสมอ เช่น ในโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ หรือแพ็กเกจจิงกระดาษทิชชูแบรนด์ดัง ๆ หรือแม้แต่โลโกของแบรนด์ต่าง ๆ ที่บางครั้งก็ออกแบบมาจากสัตว์บางชนิด

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพราะ Emotional Connection ระหว่างคนกับสัตว์ รวมถึงการนำสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาใช้เป็นชื่อของแบรนด์ ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องค่านิยม ความเชื่อ และความรู้สึกของคนอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น

- ยาอมแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว ที่มาจากความเชื่อเรื่อง “การใช้พิษล้างพิษ”

โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อของคนจีน ที่เชื่อว่าเมื่อคนเกิดอาการเจ็บป่วย แสดงว่ามีพิษในร่างกาย จึงนำตะขาบซึ่งเป็นสัตว์มีพิษ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการใช้พิษล้างพิษ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย

จนกลายเป็นที่มาของการใช้ชื่อสัตว์อย่าง ตะขาบ ในชื่อแบรนด์ของยาอมแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัวนั่นเอง

4. แบรนด์ที่ตั้งชื่อจากสัตว์ ออกแบบโลโกได้ง่าย

เหตุผลข้อนี้ แม้จะดูเป็นเหตุผลที่เรียบง่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสร้างแบรนด์ให้คนจดจำได้นั้น โลโกก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

และที่สำคัญคือ การนำชื่อของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์นั้น มีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้แบรนด์สามารถออกแบบโลโกได้ง่าย

เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอยู่แล้ว โดยแบรนด์สามารถนำลักษณะภายนอกของสัตว์ที่แตกต่างกันนี้มาใช้ในการออกแบบโลโกได้

โดยที่อาจสอดแทรกลักษณะเฉพาะบางอย่างของสัตว์ลงไปให้เหมาะกับแบรนด์ เช่น ความดุร้าย ความปราดเปรียว ความกระฉับกระเฉง หรือความน่ารัก เป็นมิตร ของสัตว์แต่ละชนิด

ทั้งหมดนี้ ก็คือเหตุผลแบบง่าย ๆ ที่อธิบายได้ว่าทำไม แบรนด์ไทย รวมถึงแบรนด์ในต่างประเทศจำนวนมาก นิยมนำชื่อสัตว์มาใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์
ส่วนจะตั้งชื่อแบรนด์เป็นสัตว์ชนิดใด ก็คงขึ้นอยู่กับความชอบ ความเคยชิน หรือวัฒนธรรมของคน ในแต่ละพื้นที่ ว่าในพื้นที่นั้น ชอบสัตว์ชนิดใดมากเป็นพิเศษ

ที่มา :  MarketThink
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่