"อิสราเอล" หนีสงคราม เปลี่ยน "ปาย" ไม่เหมือนเดิม ปัญหาที่รัฐไม่ควรซุกไว้ใต้พรม

ทำไมชาวยิวอิสราเอลเดินทางมาปายมากขึ้น?



https://www.facebook.com/share/p/15tWvqAfCE/


กระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจมองข้ามของ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ และบรรยากาศที่ผ่อนคลาย แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา “ปาย” เริ่มได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอิสราเอลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดคำถามว่าปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือเป็นความท้าทายด้านสังคมและความมั่นคงกันแน่?

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ตอบคำถามกับ TNN ONLINE 

ว่าทำไมชาวอิสราเอลเดินทางมาปายมากขึ้น?โดย ผศ.ดร.มาโนชญ์ แบ่งชาวยิวอิสราเอลออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 

กลุ่มที่ 1. คนอิสราเอล ทั่วไป ไม่ต้องการอยู่ในภาวะสงคราม 

กลุ่มที่ 2 คนอิสราเอลที่อพยพ ออกจากตอนเหนือของประเทศที่กำลัง ปะทะ กับ ฮิซบอเลาะห์ อันตราย จึงตัดสินใจออกนอกประเทศ 

และ กลุ่มที่ 3 ทหารประจำการของอิสราเอล ที่ได้หยุดพักผ่อน หรือ หยุดประจำการ ระหว่างช่วงพักสงคราม ซึ่งทหารกลุ่มนี้ได้รับค่าตอบแทนความเสี่ยงเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้นำเงินมาใช้ในการท่องเที่ยว  

ทั้งสามกลุ่มจะมองหาปลายทางที่เหมาะสม คือ ประเทศที่สวยงาม สงบสุข ค่าครองชีพไม่สูงมาก และ เป็นประเทศที่มีทัศนคติที่ดีกับชาวอิสราเอล ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะ “เมืองปาย” เป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์เป็นลำดับต้น ๆ เพราะเป็นพื้นที่สงบ ปลอดภัย เหมาะสำหรับพักพิง และ บางกลุ่มอาจเดินทางมาพำนักในไทยชั่วคราว เนื่องจากสงครามที่ยืดเยื้อ

"ปาย" ในวันนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากกระแสการท่องเที่ยวของชาวอิสราเอล ถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการด้านความมั่นคงและสังคม การกำหนดมาตรการที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้คงอัตลักษณ์ของปาย และทำให้ชาวปายสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้มาเยือนได้อย่างยั่งยืน

ผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น แม้ว่าเมืองปายจะเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่กับกรณีของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลกลับทำให้คนปายบางส่วนเริ่มแสดงความกังวลในหลายประเด็น เช่น พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีลักษณะ ป่วน สร้างความไม่สงบ รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจขัดต่อมารยาทและวัฒนธรรมไทย  

ผศ.ดร.มาโนชญ์ วิเคราะห์ว่าการเข้ามาของชาวยิว อิสราเอลในจำนวนมาก รวมถึงมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การรวมกลุ่มกันปฏิบัติศาสนกิจที่มีความเฉพาะตัว ทำให้เกิดความกังวลของคนในพื้นที่ คนในท้องถิ่นมองว่านี่ไม่ใช่การท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง บางส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับการตั้งชุมชนชาวอิสราเอล ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การยึดครองดินแดนในอดีต 

แม้จะไม่มีหลักฐานว่าอิสราเอลต้องการตั้งถิ่นฐานที่ปาย แต่การพำนักระยะยาวและการเช่าพื้นที่ในลักษณะผิดปกติทำให้เกิดความระแวงว่าอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคต

ขณะที่ความเสี่ยงด้านความมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง มองว่าไม่ควรตระหนกมากเกินไปแม้อิสราเอลจะมีคู่ขัดแย้ง เช่น กลุ่มฮามาส ที่ไม่เคยมีประวัติการโจมตีนอกพื้นที่ของตนโดยตรง หรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ และ ISIS ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความขัดแย้งของอิสราเอลใ-ปาเลสไตน์มากนัก 

แต่เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อไทยในระยะยาว ซึ่งหากมีการแสดงออกที่ยั่วยุหรือปลุกระดม เช่น การเย้ยหยันฝ่ายตรงข้ามในปาเลสไตน์ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับนักท่องเที่ยวอิสราเอลเอง

ความท้าทายและปัญหาความมั่นคงจากนักท่องเที่ยวอิสราเอลในปาย

ผศ.ดร.มาโนชญ์ เสนอว่าการแก้ไขปัญหาของปาย รัฐบาลไทยควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและกล้าหาญในการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยว โดยไม่ควรเร่งรีบสรุปว่า “ไม่มีปัญหา” เพียงเพราะกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้คนในพื้นที่มั่นใจว่ามีมาตรการป้องกันที่รัดกุม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

โดยสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใสเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ ทั้งการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่อาจสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

การบังคับใช้กฎหมายควรมีความเข้มงวด โปร่งใส และควรมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมการรวมกลุ่มของชาวอิสราเอลในพื้นที่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมเพื่อลดความหวาดระแวง รวมถึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังด้านความมั่นคงอย่างเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินการของรัฐต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นอันดับแรก

ขณะเดียกันการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ หากดำเนินการอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและความสงบสุขของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ต้องยอมรับวา "ปาย" ในวันนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากกระแสการท่องเที่ยวของชาวอิสราเอล ถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการด้านความมั่นคงและสังคม การกำหนดมาตรการที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้คงอัตลักษณ์ของปาย และทำให้ชาวปายสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้มาเยือนได้อย่างยั่งยืน เพราะการเดินทางไปยังต่างถิ่นเพื่อหนีภัยสงครามของชาวอิสราเอลจะยังคงมีต่อไปตราบใดที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ตะวันออกกลางยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ที่มาข้อมูล : สัมภาษณ์ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ

ที่มารูปภาพ : Getty Image

https://www.tnnthailand.com/tnnexclusive/190051/?fbclid=IwY2xjawIklnhleHRuA2FlbQIxMQABHVG-xkwxNKpx0NsQnVj1wZQBfyQCQf2g1-mkmjI85ElGaWNPak7Y1DKU9g_aem_Q1F7l4owFZFY2uBWDD5C-w
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่