ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือเราจะไม่แก่ตาย....?

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี ทั้งไทยและเพื่อนบ้านยังคงไม่มีมาตรการเด็ดขาดพอที่จะช่วยลดปัญหาฝุ่นได้ หรือเราจะไม่ได้แก่ตายกันจริงๆ?

[ เรื่องโดย: ภัชชา ธำรงอาจริยกุล ]

สถานการณ์หมอกควันมีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี จนเราเห็นภาพหมอกหนาเสมือนอยู่เมืองหนาว แต่คงไม่มีใครกล้าสูดหายใจเพราะต่างรู้กันดีว่าแฝงไปด้วย PM 2.5 ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยข้อมูลจาก State of Global Air ระบุว่าในปี 64 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการตายจาก PM 2.5 มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่มีจีนและอินเดียซึ่งครองอันดับ 1 และ 2 ของประเทศที่มีจำนวนการตายจาก PM 2.5 มากที่สุด

ขณะที่ในอาเซียน อินโดนีเซียมีการตายจาก PM 2.5 สูงสุด 129,300 ราย รองลงมาคือ ไทย 53,400 ราย ฟิลิปปินส์ 43,200 ราย เวียดนาม 41,500 ราย และเมียนมา 31,200 ราย

แม้อาเซียนจะมีกลไกความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังหมอกควันข้ามพรมแดนที่เกิดจากการเผาและไฟป่า รวมถึงบรรเทาปัญหานี้ผ่านการดำเนินการในประเทศและความร่วมมือภายในประเทศและระหว่างภูมิภาค แต่ปัญหาหมอกควันที่ยังคงรุนแรงสะท้อนให้เห็นว่าอาเซียนต้องการการแก้ไขปัญหาที่เข้มข้น จริงจัง และเป็นรูปธรรมมากกว่านี้

ในช่วงปลายหน้าหนาวถึงต้นหน้าร้อน ไทยมักมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากลมสงบและการถ่ายเทอากาศไม่ดี ซึ่งต้นตอของ PM 2.5 มาจากการเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่า รวมถึงการเผาและควันจากรถยนต์ การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเผาป่าที่เป็นการเผาซ้ำซากเพื่อทำให้ป่าเสื่อมโทรมและบุกรุกป่า

หนึ่งในต้นตอปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของไทยคือ หมอกควันข้ามพรมแดนที่ถูกกระแสลมพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาและสปป.ลาว ซึ่งข้อมูลจาก ASEAN Specialised Meteorological Centre ระบุว่าตลอด 10 ปีมานี้พบจุดความร้อนมากที่สุดในอาเซียน สลับกันเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามมาด้วยกัมพูชาเป็นอันดับ 3

แต่แทนที่เราจะชี้หน้ากล่าวหาประเทศเพื่อนบ้าน ไทยเองกลับเผาหนักเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร โดยข้อมูลจากรายงานของ สสส. เทียบปี 67 กับ 66 ในช่วง 1 ม.ค.- 31 พ.ค. ไทยมีการเผาเพิ่มขึ้นถึง 73.15% โดยเผาข้าวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 295.84% ข้าวโพด 281.69% และพื้นที่เกษตรอื่นๆ เผาเพิ่ม 390.27% แต่ข่าวดีคือจากปี 66 ที่ไทยเผชิญไฟป่าร้ายแรง ในปี 67 ไทยมีการเผาลดลงถึง 54.02%

อ่านเพิ่มเติม : กรุงเทพธุรกิจ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่