ผลการสำรวจวิจัยครั้งใหญ่กับประชากรนับล้านคนในหลายร้อยประเทศทั่วโลก ชี้ว่าคนหนุ่มสาวอายุน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุยังไม่ถึง 50 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งกันเพิ่มขึ้นถึง 79% ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ Oncology ชี้ว่าจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย เพิ่มขึ้นจาก 1.82 ล้านคน ในปี 1990 มาอยู่ที่ 3.26 ล้านคน ในปี 2019 ส่วนจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทั้งที่ยังอยู่ในวัยเพียง 30-40 ปี เพิ่มสูงขึ้น 27% ทำให้ปัจจุบันมีคนอายุต่ำกว่า 50 ปี ที่ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็ง มากกว่าปีละ 1 ล้านคนทั่วโลก
แม้จะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของแนวโน้มอันน่าวิตกดังกล่าว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักวิจัยด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงของจีนระบุว่า วิถีชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีสุขภาพดี, การกินอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ, การสูบบุหรี่และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ความอ้วน, และชีวิตประจำวันที่ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนหนุ่มสาวล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งกันมากขึ้น
นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ระดับโลก ครอบคลุมประชากรวัย 14-49 ปี ใน 204 ประเทศ และใช้ฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ 29 ชนิด
ในบรรดาผู้ป่วยมะเร็งที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนที่พบได้ราว 13.7 คน ต่อประชากร 100,000 คน ทั้งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด ที่ 3.5 คน ต่อประชากร 100,000 คน
มะเร็งหลอดลมและมะเร็งต่อมลูกหมาก มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอายุน้อยอย่างรวดเร็วที่สุด โดยตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหนุ่มสาวที่เป็นมะเร็งทั้งสองชนิดเพิ่มขึ้น 2.28% และ 2.23% ตามลำดับ ส่วนโรคมะเร็งตับมีแนวโน้มพบได้น้อยลงมากที่สุดในกลุ่มคนวัยเยาว์ โดยมีจำนวนผู้ป่วยต่ำลง 2.88% ต่อปี
จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดในกลุ่มอายุไม่ถึง 50 ปี มีอยู่ 1.06 ล้านคนในปี 2019 เพิ่มขึ้นราว 27% จากสถิติของ 3 ทศวรรษก่อน โดยนอกจากมะเร็งเต้านมแล้ว สาเหตุการตายในอันดับรองลงมาได้แก่ มะเร็งหลอดลม, มะเร็งปอด, มะเร็งกระเพาะอาหาร, และมะเร็งลำไส้ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งไตและมะเร็งรังไข่
สำหรับภูมิภาคที่มีผู้ป่วยมะเร็งอายุน้อยมากที่สุด ได้แก่ทวีปอเมริกาเหนือ, พื้นที่แถบโอเชียเนีย, และประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนภูมิภาคที่ประชากรมีรายได้ในระดับปานกลางและระดับต่ำ พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัยหนุ่มสาวได้มากที่สุด ที่กลุ่มประเทศแถบโอเชียเนีย, ยุโรปตะวันออก, และเอเชียกลาง
ในบรรดาประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง โรคมะเร็งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอายุขัยของหญิงสาวมากกว่าชายหนุ่ม โดยมะเร็งเต้านมทำให้มีอัตราการตายในสตรีวัยเยาว์ชาวเอเชียเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากราว 5-13 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 1990 มาเป็น 8.7-15.6 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2019 ซึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต มาอยู่ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับชาวตะวันตกมากขึ้น
ทีมผู้วิจัยระบุว่า “โรคมะเร็งเต้านมที่พบในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเจริญพันธุ์ เช่นการมีประจำเดือนเร็วขึ้น, การใช้ยาคุมกำเนิด, การไม่เคยให้กำเนิดบุตรเลย, หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากแล้ว, รวมทั้งอาจมีสาเหตุจากปัจจัยทางกายภาพและพฤติกรรมในการดำรงชีวิตอื่น ๆ ด้วย”
ทีมผู้วิจัยยังประมาณการว่า หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขนี้โดยด่วน อัตราของผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกถึง 31% และ 21% ตามลำดับ ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแสดงความเห็นต่อผลการศึกษาข้างต้นว่า บุคคลทั่วไปยังไม่ควรจะต้องวิตกกังวลกับแนวโน้มดังกล่าว ซึ่งเป็นการคาดการณ์จาก “ตัวเลขดิบ” ที่ยังไม่ใช่ตัวเลขซึ่งผ่านการคำนวณตรวจสอบและถ่วงดุลตามมาตรฐานทางสถิติศาสตร์ โดยหากนำตัวเลขดิบไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในบริบทแวดล้อมอื่น ๆ แล้ว จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของคนวัยนี้ลดลงด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งอายุน้อยอาจดูเหมือนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก รวมทั้งมีการตรวจคัดกรองมะเร็งกันแพร่หลายมากขึ้นกว่าในสมัยก่อนนั่นเอง
ที่มา : BBC
คนอายุต่ำกว่า 50 ปี เป็นมะเร็งกันเพิ่มขึ้นถึง 80% ทั่วโลก สถานการณ์นี้กำลังบอกอะไรกับพวกเรา
นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ระดับโลก ครอบคลุมประชากรวัย 14-49 ปี ใน 204 ประเทศ และใช้ฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ 29 ชนิด
ในบรรดาผู้ป่วยมะเร็งที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนที่พบได้ราว 13.7 คน ต่อประชากร 100,000 คน ทั้งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด ที่ 3.5 คน ต่อประชากร 100,000 คน
มะเร็งหลอดลมและมะเร็งต่อมลูกหมาก มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอายุน้อยอย่างรวดเร็วที่สุด โดยตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหนุ่มสาวที่เป็นมะเร็งทั้งสองชนิดเพิ่มขึ้น 2.28% และ 2.23% ตามลำดับ ส่วนโรคมะเร็งตับมีแนวโน้มพบได้น้อยลงมากที่สุดในกลุ่มคนวัยเยาว์ โดยมีจำนวนผู้ป่วยต่ำลง 2.88% ต่อปี