ประสบการณ์เลือกซื้อเตียงผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ

เราขอแบ่งปันข้อมูลที่เราประสบมาจากการเลือกซื้อ "เตียงผู้ป่วย" ให้กับญาติผู้ใหญ่นะคะ หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อท่านอื่นๆ บ้าง
 
--------------------------
 
คุณตาของเรา มีอาการแขนขาอ่อนแรงไปซึกนึง ก็ต้องทำกายภาพบำบัด 
ก็เลยจะซื้อเตียงผู้ป่วย หรือเตียงผู้สูงวัย มาใช้งานที่บ้าน
โดยมีโจทย์ว่า  คุณตาต้องลงจากเตียงมาทำกายภาพบำบัดเกือบทุกวัน
เพราะฉะนั้น  เตียงต้องสามารถปรับได้ต่ำมากๆๆๆ  เพราะคุณตาตัวไม่สูงนัก 
ถ้าเวลาคุณตานั่งข้างเตียง แล้วขาแตะไม่ถึงพื้น มันก็จะลำบากในการทรงตัวยืน หรือลำบากในการขึ้นลงเตียง   
 
เรื่องการปรับเตียงได้ต่ำสุดจึงเป็นโจทย์สำคัญอันดับแรกในการเลือกซื้อเตียงนี้
เพื่อให้ผู้อาวุโสขาแตะถึงพื้นได้  สะดวกในการลุกยืน  สะดวกในการขึ้นลงเตียง ฯลฯ
 
การจะวัดว่าเตียงจะต้องปรับได้ต่ำสุดแค่ไหน เพื่อที่จะเหมาะกับการใช้งาน ก็ตอบยากค่ะ 
เพราะต้องขึ้นอยู่กับความสูงของคนป่วย/ผู้อาวุโส
 
แล้วเวลาผู้อาวุโสนั่งขอบเตียง เพื่อจะลุกยืน หรือขึ้นลงจากเตียง  ก็ต้องบวกความสูงของที่นอน
หรือกรณีของคุณตาเรา  จะมีทั้งที่นอน+ที่นอนลม   ทำให้ความสูงมันเพิ่มขึ้น  
ถ้าเตียงปรับได้ไม่ต่ำจริงๆ    เวลาคุณตานั่งข้างเตียงเพื่อจะลงจากเตียง ก็จะขาลอย ขาไม่แตะพื้นตอนที่จะลงจากเตียง 
ซึ่งมันก็จะทุลักทุเลพอสมควร ในการนำขึ้นลง  ในการหัดยืน ฯลฯ
 
-------------------------------------
 
- ตอนแรก เราอยากได้เตียงแบบ manual  คือ  การปรับเตียงขึ้นลงหรือเอียงนอน หรืออื่นๆ
โดยใช้มือหมุนเอา ไม่ใช้ระบบไฟฟ้า  เพราะเวลาไฟดับ (ซึ่งมันก็เกิดขึ้นได้เป็นระยะ) 
มันจะเป็นปัญหาวุ่นวายที่เราจะปรับอิริยาบถของผู้อาวุโสไม่ได้  ต้องคาไว้ในท่าเดิม 
มันซีเรียสเลยแหละสำหรับผู้อาวุโสที่ยังขยับตัวไม่ได้  
 
- แต่พอหาข้อมูลพบว่า  เตียงแบบ manual  ซึ่งไม่ใช้ระบบไฟฟ้าในการปรับเตียง   
มันปรับต่ำสุดได้ประมาณนึง  ซึ่งมันก็ยังสูงไปสำหรับคุณตาของเรา   (บวกกับความสูงของที่นอนและที่นอนลมไปด้วย)
 
-  เราพบว่า  เตียงที่ปรับได้ต่ำสุด  ประมาณสูงจากพื้น 20 กว่า ซม. หรือ ไม่เกิน 30 ซม.  
มันจะเป็นเตียงไฟฟ้า   
 
ส่วนเตียงที่มี 2 ระบบ  คือ  มีทั้งระบบไฟฟ้า และระบบมือหมุน   เราก็ชอบค่ะ
เวลาไฟดับ  ก็ใช้มือหมุนปรับเตียงได้   
แต่มันก็ติดปัญหาตรงที่ว่ามันปรับเตียงไม่ได้ต่ำตามที่เราต้องการ
 
-  สรุปคือ  เราก็เลยต้องเลือกเอาโจทย์หลักไว้ก่อน คือ  ปรับเตียงได้ต่ำสุด   ก็เลยจำเป็นต้องเป็นเตียงไฟฟ้า
 
-  เตียงไฟฟ้า  ก็จะมีแบบที่  มีแบตฯสำรองมากับเตียง เพื่อใช้กรณีไฟดับ
และแบบที่ ไม่มีแบตฯสำรองมา ซึ่งคุณก็ต้องไปหาซื้อเครื่องสำรองไฟ  UPS  หรือทางออกอื่นๆ เอาค่ะ
 
เราก็เลือกแบบเตียงไฟฟ้า ที่มีแบตสำรองไฟมาให้  แต่เราก็ยังจะซื้อ UPS เครื่องสำรองไฟ มาป้องกันไว้อีกหนึ่งขั้น
 
-  เราไม่รู้หรอกค่ะว่า  เวลาจะซื้อเตียงแบบนี้  ต้องสังเกต ต้องพิจารณาอะไรบ้าง   แต่พอเจอประสบการณ์จริง   ก็เลยมาบอกสิ่งที่เจอ
คือ  
 
1.  ควรซื้อเตียงมาล่วงหน้าก่อนใช้งานจริง (ถ้าเป็นไปได้นะคะ)  
แล้วเอามาลองให้มั่นใจ ก่อนจะให้คนป่วยหรือผู้อาวุโสมานอน มาใช้งานจริง
เพราะถ้าซื้อเตียงมาปุ๊บ  แล้วให้คนป่วยได้ใช้งานเลย   การจะทดลองอุปกรณ์ต่างๆ   
การจะซ่อมแซม เปลี่ยนอะไหล่อะไร มันจะวุ่นวายแล้วแหละ เพราะมีผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง
 
กรณีของเรา   เราซื้อเตียงมาตั้งไว้ที่บ้านก่อน โดยที่คุณตายังอยู่ รพ.  
อีกประมาณครึ่งเดือน คุณตาค่อยออกจากรพ. กลับมาบ้าน 
แล้วเราก็ทดลองโน่นนี่ เช่น  ขนาดของที่นอนบวกที่นอนลม มันจะสูงเท่าไหร่?  เพื่อที่จะหาผ้าปูที่นอนที่ขนาดเหมาะสม 
 
หรือ ลองเข็นเตียงดู  ล้อมีปัญหามั้ย  ล็อคล้อมีปัญหามั้ย   เตียงมีเสียงผิดปกติเวลาปรับอิริยาบถหรือไม่
ถ้าหัวเตียงถอดได้เพื่อสระผมผู้ป่วย  ก็ต้องลองถอดหัวเตียงดู  หรืออื่นๆ  
เรียกได้ว่า  ลองใช้งานทุกอย่างดูว่า เจอปัญหาอะไรมั้ย
 
ส่วนประกอบต่างๆ  แน่นหนา ไม่ส่งเสียงกระทบกันแบบผิดปกติ  หรือเวลาเข็นเตียง มีเสียงผิดปกติมั้ย  
 
หรือลองปรับระบบไฟฟ้าดู  ว่ามันใช้ได้มั้ย    ระบบแบตสำรองใช้ได้มั้ย???
 
 
2.  เราลองลูบคลำรอบเตียง ที่จะมีจุดสัมผัสกับตัวคน ว่า วัสดุแน่นหนามั้ย?   
เราพบร่องรอยต่อของการอ๊อกเหล็กที่มีปัญหา หรือการขันน็อตหลวม  หรือ มีบางส่วน มีหัวน็อตที่มีความคมยื่นออกมา  ฯลฯ
พวกนี้เราเจอค่ะ  ก็แปลกใจว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องรอบคอบมากๆๆๆ   แล้วก็ซื้อกับบริษัทที่น่าเชื่อถือ  ก็ยังเจอปัญหาเหล่านี้
เราก็ต้องแจ้งเคลมให้บริษัททำการแก้ไขซะแต่เนิ่นๆ   โดยที่ยังไม่มีคนป่วยมาใช้งาน  มันก็สะดวกในการเปลี่ยนอะไหล่ ฯลฯ
 
เท่าที่นึกออกก็เท่านี้แหละค่ะ  ถ้าเจออะไรเพิ่มเติมก็จะมาทิ้งข้อมูลไว้ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่