JJNY : เท้งฉะแก้ฝุ่นไม่มีประสิทธิภาพ│เท้งดักคอ ปรับครม.│นันทนาค้านยื่นศาลรธน.ตีความ│ญี่ปุ่น-อาเซียนจัดการซ้อมกู้ภัยในไทย

เท้ง ฉะ มาตรการแก้ฝุ่นรัฐบาล ไม่มีประสิทธิภาพ จี้ประกาศ กทม. เขตควบคุมมลพิษ
https://www.khaosod.co.th/politics/news_9630820

“เท้ง” ฉะ มาตรการแก้ฝุ่นรัฐบาล ไม่เห็นประสิทธิภาพ จี้ ประกาศให้ กทม. เป็นเขตควบคุมมลพิษ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีกลไกให้รอบด้านมากขึ้น
 
วันที่ 12 ก.พ. 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมาสูงเกินค่ามาตรฐานติดอันดับโลกอีกครั้งในพื้นที่ กทม. ว่า ตอนนี้ยังมีช่องว่างหลายอย่างระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าฯ กทม. เช่น เรื่องการมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นเจ้าคณะตรวจตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก สามารถตรวจรถยนต์ที่มีจำนวน 6 ล้อขึ้นไป ซึ่งยังมีอีกหลายมาตรการที่ท้องถิ่นรอการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง
 
โดยการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) เราก็จะนำมาตรการต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายเหล่านี้ที่เป็นช่องว่างระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่นมาพูดคุยกันว่า แต่ละฝ่ายจะดำเนินการให้เสร็จเมื่อไหร่
 
เมื่อถามว่าการติดตามมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นของรัฐบาล ดูเหมือนรัฐบาลจะระบุว่าแก้ปัญหาได้ มองอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาฝุ่นมาจากหลายช่องทาง นอกจากเรื่องยานพาหนะแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งจะเป็นช่องว่างอีกอย่างหนึ่งที่รอให้รัฐบาลมอบอำนาจให้กับส่วนท้องถิ่น รวมถึงการประกาศให้ กทม. เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้มีกลไกในการกำกับดูแลปัญหามลพิษอย่างรอบด้านมากขึ้น
 
ผมคิดว่าสิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือเรื่องความชัดเจน หากเรามองย้อนไปหลายเดือนหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการออกข้อสั่งการ ออกนโยบายมาเยอะมาก เพียงแต่การกระทำที่ช่วยอุดช่องว่างต่างๆเหล่านั้นได้มีการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังแค่ไหน อาจจะยังไม่เห็นประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในที่ประชุมกมธ.พรุ่งนี้ เราอยากจะได้ความชัดเจนจากตัวแทนที่นายกฯ หรือผู้ว่าฯ กทม.ส่งมา” นายณัฐพงษ์ กล่าว
 


เท้ง ดักคอ นายกฯ ปรับครม. หนีซักฟอกไม่พ้น ชี้ ธรรมนัส คัมแบ๊ก อาจติดเรื่องจริยธรรม 
https://www.khaosod.co.th/politics/news_9630842

“เท้ง ณัฐพงษ์” ดักคอ นายกฯ ปรับครม. หนีซักฟอกไม่พ้น ย้ำ ไม่อยากให้แต่งตั้งแบบแบ่งผลประโยชน์ ชี้ ธรรมนัส คัมแบ๊ก รมต. อาจติดเงื่อนไขจริยธรรม
 
วันที่ 12 ก.พ. 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)  โดยร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม จะกลับมาดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ว่า การปรับครม. เป็นอำนาจของนายกฯ โดยตรง นายกฯ จะปรับหรือแต่งตั้งใครขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือนายกฯ จะต้องตัดสินใจ
 
เมื่อถามว่าหาก ร.อ.ธรรมนัส กลับมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี จะติดเงื่อนไขเรื่องจริยธรรมหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีโอกาสเป็นไปได้ แต่เรื่องกรอบจริยธรรมก็เคยวางเงื่อนไขเอาไว้เช่นกันว่า กลไกในการตรวจสอบจริยธรรมนั้น ควรจะเป็นหน้าที่ขององค์กรนั้นๆ ที่จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบ
 
เมื่อถามว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะสั่นคลอนหรือไม่ หากมีการปรับร.อ.ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรี นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยู่ที่ความชอบธรรมของครม. เชื่อว่าหากมีการปรับครม.แล้วค้านสายตาประชาชน ตอนนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลก็คงจะไม่มั่นคง
 
เมื่อถามว่ากระแสการปรับครม. มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนการแบ่งผลประโยชน์ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้การแต่งตั้งครม.เป็นไปตามโควตาหรือระบบแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์กันระหว่างพรรคการเมือง อยากเห็นการแต่งตั้งครม.ที่เป็นไปตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล
 
เมื่อถามว่าหากมีการชิงปรับครม. ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจยังคงเดินหน้าต่อได้ ฉะนั้น หากจะมีการปรับครม. นายกฯ ก็หนีไม่พ้นอยู่แล้ว
 


นันทนา ค้าน ยื่นศาลรธน.ตีความ แก้รธน. ฉะยื้อเวลา ทั้งที่กระบวนการช้ามากแล้ว
https://www.khaosod.co.th/politics/news_9630902

‘นันทนา’ ไม่เห็นด้วย ยื่นศาลรธน.ตีความ แก้รัฐธรรมนูญ ฉะยื้อเวลา ทั้งที่กระบวนการช้ามากแล้ว หวั่น เหตุการณ์บานปลาย ถ้าแก้รธน.สะดุด
 
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2568 น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ให้สัมภาษณ์กรณี นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เตรียมยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1 ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ สะดุดหรือไม่
 
น.ส.นันทนา กล่าวว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระดังกล่าวไปแล้ว ตนยืนยันว่าควรจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 และสว.ในกลุ่มพันธุ์ใหม่ก็เตรียมตัวที่จะอภิปรายในสภาแล้ว
 
เมื่อถามว่าหากมีการยื่นญัตติดังกล่าวจะมีผลต่อการพิจารณาหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ขั้นแรกคือต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากหรือเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งหากเสียงข้างมากเห็นด้วยที่จะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องยุติการพิจารณา
เมื่อถามว่าส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาแล้ว ก็ควรจะเป็นไปตามขั้นตอนนิติบัญญัติ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ครั้งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็เคยไม่รับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณามาก่อนแล้ว จึงเป็นการยืดเยื้อไปเฉยๆ
 
เป็นการยื้อไป ฉะนั้น จึงไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนทำในสิ่งที่ศาลบอกว่าไม่รับพิจารณา เป็นเรื่องของรัฐสภา ควรจะให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ แต่ยังมีความพยายามที่จะไปยังจุดนั้นอีก เป็นการพยายามทำซ้ำ เหมือนยื้อเวลาออกไป และเป็นการยืดเยื้อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปอีก ทั้งที่ช้ามานานแล้ว” น.ส.นันทนา กล่าว
 
เมื่อถามว่าจะมีมวลชนมาปักหลักรอติดตามการพิจารณาในสภาด้วย แต่หากการพิจารณาสะดุด กังวลหรือไม่ว่าอาจจะมีเหตุการณ์บานปลาย น.ส.นันทนา กล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลใจ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้อยาวนานมาพอสมควรแล้ว เมื่อมีการบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาแล้วก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่หากไม่เป็นไปตามกระบวนการ และมีมวลชนมาทวงถามเรื่องนี้ ทางบรรดาผู้แทนทั้งหลายก็ควรที่จะมีคำตอบให้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่