โรงขยะไฟฟ้าอ่อนนุช ชูเทคโนโลยี แยกกลิ่น ดูดอากาศ แก้ปัญหาร้องเรียน

โรงขยะไฟฟ้าอ่อนนุช ชูเทคโนโลยี แยกกลิ่น ดูดอากาศ แก้ปัญหาร้องเรียน  สยามรัฐออนไลน์ 

โรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่เดือน เมษายน 2565 เนื่องจากเกิดผลกระทบด้านกลิ่นและเสียงต่อชุมชน ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามที่ กรอ. กำหนด ปัจจุบันมีแผนขออนุญาตเปิดกิจการอีกครั้งในเดือน มีนาคม และคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้อย่างเป็นทางการในเดือน เมษายนนี้ เนื่องจากมีการปรับปรุงตามที่ กรอ.กำหนด และมีการทำความเข้าใจกับชุมชนเพิ่มมากขึ้น

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) กล่าวว่า การปรับปรุงเรื่องแรก ด้านกายภาพ โดยรอบโรงงานกำจัดมูลฝอยฯ มีโรงงานอื่น ๆ อีกประมาณ 7-8 แห่งตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน แต่โรงงานกำจัดมูลฝอยฯ อยู่ใกล้ชุมชนที่สุด จึงถูกร้องเรียนมากที่สุด เพราะเป็นโรงงานที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ มีช่องทางสื่อสารร้องเรียนโดยตรงในนามกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือหุ้นกว่าร้อยละ 98 เหตุนี้ เคทีจึงนำเครื่องมือมือตรวจวัดกลิ่น (e-nose) มาติดตั้ง โดยภาพรวม เครื่องมือนี้ประกอบด้วยหัวตรวจจับคุณภาพอากาศหลายด้าน สามารถวัดความเข้มข้นกลิ่น ความเร็วลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ และ PM2.5 ซึ่งจะตรวจวัดแบบ Real-Time (การประมวลผลข้อมูลที่ได้รับทันที) และส่งข้อมูลไปจัดเก็บในระบบคลาวด์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์

เนื่องจากปัญหาการร้องเรียนเรื่องกลิ่นที่ผ่านมา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากลิ่นที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งใดบ้าง เป็นกลิ่นจากโรงงานกำจัดมูลฝอยฯ 100% หรือไม่ เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยแยกกลิ่นที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่จะนำอุปกรณ์ไปเก็บตัวอย่างกลิ่นจากแหล่งที่มาและโรงงานโดยรอบ เพื่อนำมาบันทึกในระบบจำค่ากลิ่น จากนั้นเมื่อเกิดกลิ่นรบกวนหรือถูกร้องเรียนก็สามารถตรวจสอบได้ว่ากลิ่นที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งใด เพื่อนำมาอธิบายยืนยันกับชาวบ้านในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชาวบ้านเริ่มเข้าใจ ลดปัญหาลง ขณะเดียวกัน กทม.สามารถตักเตือนโรงงานแหล่งกำเนิดกลิ่นได้ตรงจุดตามคำร้องเรียนของชาวบ้านได้มากขึ้น ปัจจุบันมีการติดตั้งสถานีเครื่องตรวจวัดกลิ่นแล้ว 5 สถานี แบ่งเป็น ในโรงงานกำจัดมูลฝอยฯ 3 สถานี ในชุมชน 2 สถานี โดยเคทีเช่ามาทดลองใช้ในราคาเดือนละ 200,000 บาทเพื่อแก้ปัญหาการร้องเรียนเรื่องกลิ่น ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวมีราคาเครื่องละ 1,000,000 บาท คาดว่าหากทดลองจนแน่ใจและได้รับการยอมรับจากชาวบ้านทุกชุมชนแล้วอาจจะจัดซื้อต่อไป

เรื่องต่อมาคือ การติดตั้งเครื่องบำบัดกลิ่นภายในโรงงานกำจัดมูลฝอยฯ จาก 100,000 ลบ.ม./ชม. เป็น 167,000 ลบ.ม./ชม. โดยเครื่องดังกล่าวทำหน้าที่ดูดอากาศในระบบปิด หมายความว่า อากาศภายในอาคารจัดการขยะต่าง ๆ จะไม่ออกมาภายนอก เพราะถูกดูดตลอดเวลา โดยอาคารต่าง ๆ มีการปิดช่องว่างทั้งหมดให้เป็นอาคารระบบปิด ไม่ให้อากาศภายในออกมาภายนอก ประกอบกับติดตั้งเครื่องดูดอากาศกำลังสูงดังกล่าวเข้าไป อีกเรื่องคือการปรับปรุงกระบวนการคัดแยกขยะไม่ให้มีเศษขยะอินทรีย์ติดไปกับขยะเชื้อเพลิง หรือขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) ที่ผ่านกระบวนการจัดการต่าง ๆ เช่น การคัดแยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ออกมา การฉีกหรือตัดขยะมูลฝอยออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อเป็นการปรับปรุงและแปลงสภาพขยะให้เป็นเชื้อเพลิง สามารถขายได้ แต่ขั้นตอนการผลิตต้องทำให้เศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ปนเปื้อนน้อยที่สุด เพราะมีกลิ่นแรงเวลาขนย้าย ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการคัดแยกต้องทำให้มีประสิทธิภาพจึงจะลดกลิ่นได้ยั่งยืน สำหรับขั้นตอนสุดท้าย การติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังเรื่องกลิ่น โดยการตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประกอบด้วยการมีส่วนร่วมจากตัวแทนชุมชน กทม. ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นร่วมกัน


ด้านนายปัญญา อมรชัยวุฒิกุล ตัวแทนชาวบ้านในชุมชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ทั้งโรงงาน ชาวบ้าน และหน่วยงานต่าง ๆ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามร่วมกัน ข้อเสนอจากชาวบ้านที่มีการเรียกร้องมาตลอดคือ อยากให้ติดตั้งระบบดับเพลิงบริเวณอาคารขาเข้าให้ถูกต้อง แต่เข้าใจว่าโรงงานปิดไปนาน รายได้ยังไม่หมุนเวียน ยังอยู่ในช่วงเวลาทดลองก่อนเปิดอย่างเป็นทางการเพื่อปั่นไฟ ในส่วนอื่นมีการปรับปรุงมากขึ้น เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในโรงงาน 8 ตัว ให้ชาวบ้านสามารถติดตามตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงงานได้ เพื่อช่วยกันติดตามและปรับปรุงแก้ไข ยอมรับว่า จากการเรียกร้องมา 3 ปี การปรับปรุงครั้งนี้ดีกว่าที่ผ่านมาทั้งหมด

สำหรับแนวทางผลิตไฟฟ้า เคทีจะเริ่มทดลองผลิตไฟฟ้าจากขยะ 200 ตันก่อน เพื่อทดสอบและควบคุมกลิ่นให้ได้มาตรฐาน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อไป คาดว่าจะผลิตสูงสุดได้ที่ 600 ตัน ปัจจุบันเคทีพุ่งเป้าไปที่การลดผลกระทบทางกลิ่นและเสียงเป็นหลัก เน้นการผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการขยะในปริมาณที่สามารถควบคุมกลิ่นและเสียงได้ เพื่อกลับมาเปิดกิจการเชิงพาณิชย์ในระยะยาวอีกครั้ง หลังจากปิดปรับปรุงไปประมาณ 2 ปี ปัจจุบันมีหนี้สะสมกว่า 2,000 ล้านบาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่