อุปนายก สนต.ถอนตัวไม่ร่วมสังฆกรรมเลือกผู้แทนสื่อนั่งสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.



ที่มา - https://kaowonni.blogspot.com/2025/02/blog-post_8.html

 ชายแดนใต้ - สื่อ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยันไม่เห็นด้วยกับ ศอ.บต. ดันทุรังเลือกตัวแทนสื่อ นั่งสภาที่ปรึกษา โดยมีสื่อลงทะเบียนเพียง 26 คนจาก 300 กว่าคน ล่าสุด ผู้สมัครถอนตัวแล้ว 1 คน เพราะเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของสื่อในชายแดนใต้

8 กุมภาพันธ์ 2568 - จากกรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ 1 คน โดยคัดเลือกด้วยการลงคะแนนกันเอง เพื่อทำหน้าในสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปรากฏว่า สื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องการรับสมัครและการเลือกตั้ง ทำให้มีผู้มาลงชื่อเพียง 26 คน จากจำนวนสื่อใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 300 คนนั้น

ล่าสุด นายปิยะโชติ อินทรนิวาส อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย (สนต.) หนึ่งในผู้สมัครเพื่อเลือกตั้งเป็นตัวแทนสื่อมวลชน ได้ส่งหนังสือขอถอนตัว เพราะเห็นว่า จำนวนสื่อมวลชน ที่มาลงชื่อเพื่อเป็นผู้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครครั้งนี้เป็นสื่อส่วนน้อย ที่ไม่ครอบคลุมสื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านนายปรีชา หนูศิริ ตัวแทนสื่อ จ.สตูล กล่าวว่า สื่อใน จ.สตูลไม่มีใครทราบข่าว จึงไม่มีใครไปลงชื่อเพื่อทำการคัดเลือกตัวแทนสื่อในครั้งนี้ เช่นเดียวกับนายปาเรซ โลหะสันห์ สื่ออาวุโสของ จ.ปัตตานี ก็ระบุว่า ไม่เคยทราบว่ามีการเลือกตัวแทนสื่อเพื่อไปทำหน้าที่ในสภาที่ปรึกษา

ส่วนสื่อใน จ.นราธิวาสทุกคนก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีส่วนในการเป็นผู้สมัครและเป็นผู้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งตัวแทนสื่อ ที่ ศอ.บต.จัดขึ้นในครั้งนี้ ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งจาก สื่อมวลชนเพียง 22 คนจากสื่อมวลชนที่มีอยู่ 300 กว่าคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของสื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสื่อมวลชนส่วนมาก 90 % ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้

ด้านนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่ม 18 กลุ่มสื่อมวลชนและวรรณกรรม อดีตตัวแทนสื่อมวลชนที่ถูกเลือกไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนสื่อในสภาที่ปรึกษาทั้ง 2 สมัย และเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของ ศอ.บต. กล่าวว่า ในการเลือกตั้งตัวแทนสื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วย จ.สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อไปทำหน้าที่ตัวแทนสื่อใน สภาที่ปรึกษาฯ นั้น ก่อนหน้านี้ ศอ.บต.ดำเนินการโดยให้สื่อมวลชนของจังหวัดนั้นๆ ไปลงทะเบียนในจังหวัดที่สื่อมวลชนทำหน้าที่อยู่ เช่น สื่อใน จ.สงขลาก็ไปลงทะเบียนที่ประชาสัมพันธ์ จ.สงขลา สื่อ จ.สตูลก็ไปลงทะเบียนที่ จ.สตูล ยกเว้นผู้ที่แสดงความจำนงในการสมัครเป็นตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อการเป็นตัวแทนสื่อมวลชน ที่ต้องไปลงทะเบียนที่ ศอ.บต. วิธีการอย่างนี้จึงเป็นวิธีการที่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการทำให้สื่อทุกๆ จังหวัดมีสิทธิในการลงคะแนนในการเลือกตัวแทนของตนเอง โดยในวันเลือกตั้ง ศอ.บต.จะส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการเลือกตั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งผลคะแนนไปรวมที่ ศอ.บต. เพื่อประกาศว่าใครได้เป็นผู้แทนสื่อมวลชน เพื่อไปทำหน้าที่ในสภาที่ปรึกษาฯ

แต่ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีการแก้ไขกฎระเบียนการเลือกตั้งที่ดีอยู่แล้วให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริง เป็นไปได้ยากที่สื่อจาก 5 จังหวัดจะเดินทางไปดำเนินการที่ ศอ.บต. ซึ่งอยู่ใน จ.ยะลาถึง 2 ครั้ง เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของ ศอ.บต. ที่ไปแก้กฎระเบียบ และขาดความรอบคอบ รวมทั้งในอดีต จะมีการเชิญองค์กรสื่อในพื้นที่ไปประชุมหารือถึงวิธีการดำเนินการในการเลือกตัวแทนสื่อมวลชน แต่ในครั้งนี้ไม่มี และอ้างว่ามีการส่งข่าวให้กรมประชาสัมพันธ์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สื่อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบแล้ว แต่ปรากฏว่า สื่อกว่า 90%  ไม่ได้ทราบข่าวของการเลือกตั้งตัวแทนสื่อในครั้งนี้

ดังนั้น ถ้า ศอ.บต.ยังยืนยันว่าจะให้มีการเลือกตั้งตัวแทนสื่อในวันที่ 16 ก.พ.ก็คงดำเนินการได้ เพราะ ศอ.บต.เป็นผู้แก้กฎระเบียบให้มีการเลือกตั้งที่ ศอ.บต. แต่ก็ต้องถามความชอบธรรมว่าการที่สื่อจากอีก 4 จังหวัดนอกจาก จ.ยะลา ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง มีเพียงสื่อใน จ.ยะลาเพียง 22 คนเป็นผู้ลงคะแนน จะเรียกผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งว่าเป็นตัวแทนของสื่อมวลชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่ และผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะอ้างว่าเป็นตัวแทนของสื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่

“สมัยที่ผมได้รับการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง มีผู้ไปลงทะเบียนในทุกจังหวัด ที่ จ.สงขลามีสื่อมวลชนไปลงทะเบียนกว่า 100 คน ทั้งสื่อรัฐและสื่อเอกชน จังหวัดยะลามีสื่อไปลงทะเบียนเกือบ 100 คน ใน  จ.สตูลกว่า 50 คน และใน จ.นราธิวาสและปัตตานีก็มีผู้ไปลงทะเบียนจำนวนหนึ่ง และมีการไป เลือกตั้ง ซึ่งผมได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 จากผู้สมัครด้วยกัน ดังนั้น ผู้บริหารของ ศอ.บต.ต้องดูว่าการเลือกตั้งตัวแทนสื่อมวลชน เพื่อไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนในสภาที่ปรึกษาฯ ครั้งนี้ เหมาะสม หรือไม่ และที่สำคัญ ศอ.บต. เห็นความสำคัญของสื่อมวลชนหรือไม่  หากท่านคิดว่า ถูกต้อง เหมาะสม สื่อมวลชนไม่มีความสำคัญ ท่านก็ดำเนินการของท่านไป เพราะ สื่อไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปเปลี่ยนแปลงให้มีการแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม และอยากเห็น สื่อมวลชน ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาแสดงความคิดเห็น ในเรื่องที่เกิดขึ้น” นายไชยยงค์กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่