ชวนคนรุ่นใหม่ร่วมพัฒนาเมืองกับกทม.และฟุกุโอกะผ่านโครงการ SYEP 2024


Specialised Youth Exchange Programme (SYEP) เป็นโครงการจากความร่วมมือของกทม.และฟุกุโอกะที่พาคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปีลงไปศึกษาความเป็นไปของเมืองผ่านธุรกิจท้องถิ่นและอินไซต์จากหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางของเมืองอย่างกทม. เพื่อสร้างธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาของเมืองได้อย่างตรงจุดโดยจะเลือกตัวแทนจากฝั่งกทม.และฟุกุโอกะเมืองละ 6 คนมาจับกลุ่มกันตามปัญหาที่สนใจและช่วยกันออกแบบแผนธุรกิจ โดยจะแบ่งเป็นสามทีมและแต่ละทีมต้องมีคนไทยและคนญี่ปุ่นอย่างละครึ่งซึ่งดีมาก ๆ เพราะเราจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองจากทั้งสองประเทศเกี่ยวกับโครงการที่เคยดำเนอการและปัญหาที่พบเจอทำให้การพัฒนาแผนได้มุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเยอะมาก โดย SYEP ปีนี้แบ่งเป็น 2 เฟส คือ
- ปลายปี 2024 – ทีมญี่ปุ่นบินมากรุงเทพเพื่อสำรวจเมืองและเจาะลึกเพื่อแก้ปัญหาของกรุงเทพร่วมกับตัวแทนจากไทย ซึ่งในบทความนี้จะเล่าเฟสนี้ตั้งแต่กระบวนการจนถึงโปรเจคที่ทำเลย
- ต้นปี 2025 – ทีมไทยบินไปฟุกุโอกะเพื่อทำความเข้าใจกับบริบทของสังคมเมืองโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในฟุกุโอกะโดยระหว่างที่ทำแผนธุรกิจ ทางเมืองได้จัดสรรเมนเทอร์ที่เคยทำธุรกิจที่แก้ไขปัญหาของเมืองได้สำเร็จมาให้คำแนะนำ อย่างกลุ่มของผู้เขียนได้รับการดูแลจากคุณทัตสึโระ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่เคยได้รับทุนจนสร้างธุรกิจ Annotation ที่ใช้เอไอช่วยจดทะเบียนให้เด็กที่ไร้สัญชาติในมาเลเซียและฟิลิปปินส์จนได้เป็นหนึ่งใน Forbes 30 Uder 30 Asia ด้วย ซึ่งคุณทัตสึโระจะอยู่กับพวกเราตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำแผนธุรกิจสำหรับเมืองฟุกุโอกะ ให้ฟีดแบคและคำแนะนำยาว ๆ จนถึงวันที่บินไปดูงานและเสนอโปรเจคเลย

ขบวนการสร้างแผนงานที่ช่วยแก้ปัญหาของเมืองผ่าน Design Thinking
ถ้าเรามีเวทมนตร์ที่สร้างอะไรก็ได้หนึ่งอย่าง เราอยากทำอะไรเพื่อทำให้เมืองที่เราอยู่ดีขึ้น? 

เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาเมืองที่ต้องคิดแผนธุรกิจที่เข้าใจปัญหาของเมืองจริง ๆ คงหนีไม่พ้นการนำ design thinking เข้ามาช่วยในกระบวนการคิด ซึ่งได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ดนุวศิน เจริญมาสร้างเซสชั่นนี้ให้เรา ซึ่งสนุกมากกก

ทางโปรแกรมเริ่มจากให้เราไปดูงานและลงพื้นที่ก่อนที่จะมาคิดโปรเจคกัน ทำให้เราได้เห็นทั้งตัวอย่างธุรกิจที่สามารถอยู่ได้และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมไปพร้อมกันจากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการพูดคุยและลงลึกถึงกระบวนการพัฒนาธุรกิจไปจนถึงปัญหาที่พบและปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการแก้ปัญหาทั้งเชิงธุรกิจและสังคม หลังจากนั้นจึงพาไปลงพื้นที่อีกสองวันเพื่อพูดคุยและสำรวจปัญหาที่เราสนใจจากชุมชนจริง ๆ ตอนที่ดิสกันกันเรื่องปัญหาที่เราสนใจเราเห็นภาพร่วมกันประมาณนึงและง่ายต่อการลงลึกเพื่อเจาะปัญหาและกลุ่มเป้าหมายให้ชัด

โครงการของจขกท.

กลุ่มเราสนใจเรื่องปัญหาของผู้สูงอายุในไทยโดยโฟกัสเรื่องสุขภาพการเงินของผู้สูงอายุในไทยซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินบำนาญ ทั้งยังมีเงินเก็บน้อย (78% มีเงินสำรองฉุกเฉินน้อยกว่า 6 เดือน) และยังต้องช่วยจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัวทำให้ปีที่ผ่านมา (2024) ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (NRRI) มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 49.30 เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 เราสร้างตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงอายุ 65 ปีที่เคยทำงานแอดมินในบริษัทเอกชนและเรียกเธอว่า Auntie Michiko เป็นตัวแทนของคุณป้าทั่วไปที่ยังกระฉับกระเฉง ชอบเข้าวัดทำบุญและรักหลานชาย เธอยังมีไฟและยังอยากช่วยลูกสาวแม่เลี้ยงเดี่ยวจุนเจือครอบครัว แต่งานอะไรที่ผู้สูงวัยยังเก๋าของเรายัทำได้บ้าง สิ่งที่น่าสนใจคือจากการพูดคุยและสถิติเผยว่าสุขภาพของผู้สูงวัย 60–69 ปีไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการทำงาน ทัศนคติที่สังคมมีต่อพวกเขาต่างหากที่ทำให้คุณป้ามิจิโกะและเพื่อน ๆ ไม่สามารถหางานได้


พวกเราจึงตั้งใจทำโปรเจคในการช่วยผู้สูงอายุให้กลับเข้าสู่สังคมการทำงานอย่างครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การช่วยผู้สูงอายุ Upskill และ Reskill. – จริง ๆ ความต้องการของตลาดงานในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เรื่องการเรียนรู้และขัดเกลาทักษะของแรงงานให้ตอบโจทย์บริบทปัจจุบันเป็นเรื่องที่คอมมอนแต่การอบรมในปัจจุบันส่วนใหญ่มักโฟกัสที่คนรุ่นใหม่หรือคนที่สนใจเปลี่ยนสายงาน เราจึงมองว่าการออกแบบการฝึกอบรมที่เหมาะกับผู้สูงอายุเป็นอีกสิ่งที่ทำให้พวกเขาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้น การช่วยคอนเนคกับตลาดงานโดยการทำโครงการนำร่องที่ช่วยสนับสนุนผู้สูงอายุให้เข้าไปทำงานในบริษัทโดยอ้างอิงจากความถนัดเดิม เช่น พนักงานธุรการ และอาจจะเริ่มจากการเป็นพนักงานสัญญาจ้างเพื่อนำร่องก่อน พร้อมสร้างภาพจำใหม่ให้ผู้สูงอายุผ่านคอนเสปขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด ซึ่งหลังจากนำเสนอแผนธุรกิจก็มีผู้ใหญ่จากหลายหน่วยงานทั่วกทม.รวมถึงหน่วยงานจากญี่ปุ่นที่ประจำการที่ไทยเข้ามารับฟัง ซักถามและให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงพูดคุยถึงแนวทางที่จะนำไปปรับใช้ด้วย เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เยอะมาก ทั้งผ่านธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ผ่านการสำรวจชุมชน ผ่านผู้ใหญ่จากหลายหน่วยงานที่ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องอยู่จริง ๆ และที่สำคัญผ่านเพื่อนจากฟุกุโอกะที่แลกเปลี่ยนโครงการที่ญี่ปุ่นได้ทำแล้วสามารถนำมาปรับใช้กับบริบทของกทม. นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่าและสนุกมาก ๆ แนะนำสำหรับคนที่สนใจมากค่ะ

#SYEP #SYEP2025 #BANGKOK #FUKUOKA #IAO #BMA

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่