บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ 'ปรับเพดานค่าจ้าง เงินสมทบกองทุน'แบบขั้นบันได และ เงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาท รับสิทธิได้วันนี้

บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ “ปรับเพดานค่าจ้าง เงินสมทบกองทุนประกันสังคม" แบบขั้นบันได 3 ขั้น หลังรับฟังความคิดเห็น 95%เห็นด้วย ชงเข้าครม.ก่อนเริ่มใช้ปี 69
 
ตั้งแต่ปี 2534 เงินสมทบจัดเก็บเข้ากองทุนประกันสังคมได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้คำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท  ซึ่งถือว่าจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในกรอบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากช่วงเวลานั้นค่าแรง ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน และไม่เคยมีการปรับปรุงจนถึงปัจจุบัน

สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน จึงจะมีการปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เงินสมทบประกันสังคม เป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น เพื่อไม่ให้กระทบนายจ้างและผู้ประกันตน

ทั้งนี้ การที่ต้องขยับปรับเพดานค่าจ้างสูงสุดที่ 23,000 บาท เนื่องจากเป็นไปตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่า เพดานค่าจ้างควรสูงกว่าค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 1.25 เท่า เพื่อให้ดูแลสิทธิประโยชน์ได้เพียงพอหรือพอใช้
    
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2568 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม) ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า  ในการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2568 เห็บชอบกฎกระทรวงที่จะปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เงินสมทบประกันสังคม เป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น จากเดิม 15,000 บาทเป็น ในปี 2569-2571 สูงสุด 17,500 บาท ,ปี 2572-2574 สูงสุด 20,000 บาท และตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป สูงสุด 23,000 บาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และมีผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่า 2 แสนคน โดย 95% เห็นด้วย

"หลังจากที่บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบแล้วจะส่งกฎกระทรวงเข้าคณะกรรมการกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ก่อนนำเสนอต่อรมว.แรงงานพิจารณาก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 4-5เดือนนี้ และจะเริ่มดำเนินการในปี 2569 ซึ่งกฎกระทรวงต้องออกมาก่อนการบังคับใช้ 6 เดือน"นายบุญสงค์กล่าว

ขณะที่นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้อิงกับฐานเพดานค่าจ้างให้แก่ผู้ประกันตนตลอดมา เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น กรณีคลอดบุตรในปี 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์ 4,000 บาทต่อครั้ง ปัจจุบัน 15,000 บาทต่อครั้ง

เงินสงเคราะห์บุตร ปี 2541 ได้รับ 150 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คนสูงสุด 2 คน ปัจจุบัน  800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน สูงสุด 3 คน และกรณีเสียชีวิต เงินค่าทำศพ ในปี 2538 จ่ายเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปัจจุบัน 50,000 บาท เป็นต้น 

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ทั้งเงินทดแทนการขาดรายได้ ,กรณีเจ็บป่วย , กรณีทุพพลภาพ, กรณีว่างงาน, เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร, เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ บำนาญชราภาพนั้น เมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

ปรับเพดานค่าจ้าง  สิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพิ่ม

ในปี 2567 เพดานค่าจ้าง สูงสุด 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด 750 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ 6 กรณี คือ
1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 7,500 บาทต่อเดือน (250 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 45,000 บาท)
2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 22,500 บาทต่อครั้ง
3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 7,500 บาทต่อเดือน
4.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท
5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 7,500 บาทต่อเดือน
6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 5,250 บาทต่อเดือน

แต่เมื่อมีการปรับเพดานค่าจ้างเพิ่มขึ้น สิทธิประโยชน์ 6 กรณีจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยปี 2569-2571 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด 875 บาทต่อเดือน
1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 8,750 บาทต่อเดือน (291 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 52,500 บาท)
2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 26,250 บาทต่อครั้ง
3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 8,750 บาทต่อเดือน
4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 105,000 บาท
5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 8,750 บาทต่อเดือน
6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 6,125 บาทต่อเดือน

ปี 2572-2574 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน
1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 10,000 บาทต่อเดือน (333 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 60,000 บาท)
2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 30,000 บาทต่อครั้ง
3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 10,000 บาทต่อเดือน
4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 120,000 บาท
5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 10,000 บาทต่อเดือน
6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 7,000 บาทต่อเดือน

ปี 2575 เป็นต้นไป ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน
1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 11,500 บาทต่อเดือน (383 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 69,000 บาท)
2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 34,500 บาทต่อครั้ง
3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 11,500 บาทต่อเดือน
4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 138,000 บาท
5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 11,500 บาทต่อเดือน
6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,600 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 8,050 บาทต่อเดือน

Cr. https://www.bangkokbiznews.com/health/labour/1163131



ประกันสังคม เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 1,000 บาท รับสิทธิได้แล้ววันนี้

ผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 เฮ! ประกันสังคม "เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร" เดือนละ 1,000 บาท เริ่มรับสิทธิได้แล้ววันนี้
 
ความคืบหน้า ประกันสังคม "เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร" เดือนละ 1,000 บาท ล่าสุดวันนี้ (23 มกราคม 2568) นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า นับเป็นข่าวดีต้นปี 2568 ของ "ผู้ประกันตน" ทุกครอบครัว เมื่อกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตนและภาคแรงงาน ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ
 
 
โดย ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่มีบุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ได้คราวละไม่เกิน 3 คน
ทั้งนี้ "ผู้ประกันตน" ต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน และต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

สำหรับ ผู้ประกันตนที่ยังไม่เคยยื่นคำขอกรณีสงเคราะห์บุตร สามารถขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านระบบ e-Self Service หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่สะดวกทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมพร้อมจ่ายประโยชน์ทดแทนทุกกรณีผ่านบริการพร้อมเพย์ที่ผูกด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับบัญชีธนาคาร ได้ทุกธนาคาร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

Cr. https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1163455


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่