เทรนด์ใหม่ วัยรุ่นอินเดีย ตกงาน อยู่ว่างๆไม่ทำอะไร สุดท้ายลักลอบเข้าอเมริกา เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์

งานง่าย รายได้ดี บังชอบ


ใครที่มีอาชีพในฝันคือ นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไปวันๆ เชิญทางนี้ เพราะวัยรุ่นอินเดียจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า ‘Timepass’

Timepass คือการอยู่ว่างๆ ไม่ทำอะไรเลยของคนอินเดียรุ่นใหม่ เหมือนกับการปล่อยเวลาผ่านไปเฉยๆ แต่ก็ไม่แปลว่า พวกเขาไม่มีเป้าหมายในชีวิต เพียงแค่ศักยภาพไม่เอื้ออำนวยก็แค่นั้น

ถ้าถามว่าวัยรุ่นอินเดียว่างงานกันเยอะขนาดไหน ทางรายงานของ ‘International Labor Organization’ ในปี 2024 ก็บอกว่า 29% ของบัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำเยอะกว่าพวกที่ว่างงานเพราะอ่านเขียนไม่ได้ถึง 9 เท่า

และถ้าเจาะจงไปที่เด็กจบใหม่เพศหญิงโดยเฉพาะ จะพบว่า 34% ของพวกเธอหางานไม่ได้เลย

อยู่ว่างๆ ก็เสพคอนเทนต์จนรัฐบาลจัดงานประกาศรางวัลให้ 

พอว่างกันเยอะขนาดนี้ กิจกรรมยอดฮิตในการฆ่าเวลาของวัยรุ่นอินเดียคือ ‘สมาร์ตโฟน’ ซึ่งเมื่อปีก่อน เวลาเฉลี่ยที่พวกเขาใช้ไปกับการไถมือถือคือ 4 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าปี 2023 ราวๆ 0.7 ชั่วโมง

หากมองลึกเข้าไปอีก 20% ของ 4 ชั่วโมงนั้นถูกใช้ไปกับการดูคลิปสั้นบนโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram Reels, Facebook Watch และ Youtube Shorts

อีกแพลตฟอร์มที่วัยรุ่นอินเดียฮิตคือ ‘Josh’ และ ‘Moj.’ แอปพลิเคชันของอินเดียเอาไว้เสพคอนเทนต์ท้องถิ่น ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายกว่า แถมค่าเปย์อินฟลูเอนเซอร์ที่ตนเองชอบยังถูกมาก ในราคาไม่ถึง 1 บาทต่อครั้ง 

ด้วยเหตุนี้ วัยรุ่นอินเดียจึงให้ทิปอินฟลูฯ กันฉ่ำมาก เสมือนเป็นวิธีแสดงความรัก จนบริษัทให้คำปรึกษาคาดการณ์ว่า ตลาดการให้ทิปออนไลน์จะมีมูลค่าสูงถึง 2.4 หมื่นล้านบาทในปี 2029

ปัจจุบัน ตลาดคอนเทนต์กลายเป็นแพลตฟอร์มพาณิชย์ของวัยรุ่น Timepass ถึงขั้นที่รัฐบาลอินเดียจัดงาน ‘National Creator Awards’ เป็นครั้งแรกของประเทศเลย

อย่าเพิ่งไปโทษฝรั่ง จีนต่างหากที่นำเทรนด์ Timepass 

บางคนคงคิดว่าประเทศที่มันจะนำกระแสแปลกๆ ได้ อาจเป็นฝั่งตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกาหรือเปล่า แต่ความจริงแล้ว ผู้นำเทรนด์ตัวจริงคือ ‘จีน’ ต่างหาก โดยวัยรุ่นจีนเรียกสถานะแบบนี้ว่า ‘Lying flat’

Lying flat คือการไม่ทำอะไรเลย ไม่ต่างจาก Timepass หรอก เพียงแค่วัยรุ่นจีนกับอินเดีย เขาเรียกไม่เหมือนกันเท่านั้น

ปรากฏการณ์ Lying flat ของจีนเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2021 เมื่อ ‘Luo Huazhong’ ชายหนุ่มวัย 20 กลางๆ ได้โพสต์ลงโซเชียล เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบเรื่อยๆ ของเขาว่า “ชีวิตก็เป็นแค่การนอนอยู่เฉยๆ นอนอยู่เฉยๆ และก็นอนอยู่เฉยๆ” 

Luo อธิบายว่า เขาใช้ชีวิตแบบแทบจะไม่มีความปราถนาอะไรเลย ไม่มีแรงกดดัน ไม่มีงานที่มั่นคง อาศัยอยู่บ้านพ่อแม่ไปวันๆ และถ้ามีกะจิตกะใจทำอะไรหน่อย เขาก็จะเดินทาง 3 ชั่วโมงเพื่อไปรับบทเป็น ‘คนตาย’ ที่นอนอยู่เฉยๆ ในสตูดิโอถ่ายหนัง

อย่างไรก็ตาม Luo บอกว่า Lying flat ไม่ใช่การนอนอยู่กับที่ทั้งวัน แต่มันคือสภาวะทางจิตใจที่รู้สึกว่าไม่มีอะไรบนโลกนี้คุ้มค่าพอให้เราต้องสนใจหรือเสียพลังงานให้เลย

พอ Luo โพสต์แบบนี้ คนอื่นก็เริ่มแสดงความเห็นตาม จนสุดท้าย Lying flat กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และจีนจึงรองรับความต้องการของเด็กๆ ด้วยการจัดโรงแรมประมาณ 21,000 แห่งเป็นสถานที่ให้เกมเมอร์มาเล่นเกมกันได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีผู้ปกครองหรือเพื่อนในชีวิตจริงมารบกวน

เด็กจีนหันมาเล่นเกมแทนทำงาน แต่เด็กอินเดียมาก่ออาชญากรรมแทน 

จากเคสของประเทศจีน ตอนนี้ เราอยู่ในยุคที่คนรุ่นใหม่จะไม่ยอมเป็นทาสของการทำงานให้นายทุนอีกต่อไป แต่พวกเขายอมที่จะแลกชีวิตการทำงาน เพื่อหันมารักตนเองและทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขแทน

แต่รู้หรือไม่ว่าการที่คนเราจะมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบได้ ตอนเด็กเติบโตมาอย่างไรก็เป็นปัจจัยสำคัญ?

สำหรับประเทศจีนแล้ว การที่เด็กๆ ในประเทศสามารถเข้าถึงวัตถุหรือนวัตกรรมต่างๆ ได้อาจเป็นเรื่องที่ไม่ยากมาก เมื่อเทียบกับอินเดีย ด้วยนโยบายลูกคนเดียวและเศรษฐกิจที่เติบโตแบบ 2 ดิจิตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เด็กอินเดียส่วนหนึ่งไม่ได้เติบโตมาแบบนั้น ส่งผลให้เวลาที่ต้องอยู่ว่างจริงๆ พวกเขาก็ไม่รู้จะทำอะไร และมีแค่โซเชียลมีเดียเป็นที่พึ่งพา

สุดท้ายเด็กอินเดียบางส่วนจึงเลือกที่จะลักลอบเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ แต่ก็ถูกจับไปเป็นทหารรัสเซียแทน โดยไม่มีทางเลือก และไม่รู้จะกลับบ้านยังไง

หรือต่อให้ไม่ได้เป็นผีน้อยที่อเมริกา ก็ใช่ว่าที่เหลือจะทำงานสุจริตกัน เพราะวัยรุ่นอินเดียจำนวนไม่น้อย ผันตัวไปเป็น ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ คอยหลอกประชาชนอเมริกัน ด้วยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อหวังให้เหยื่อโอนเงินให้

ฟังดูเป็นเรื่องแสนหดหู่ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ สิ่งที่เล่าไปถือเป็นอาชญากรรมส่วนน้อยเท่านั้นที่วัยรุ่นอินเดียทำกันในต่างประเทศ เพราะในบ้านตัวเอง คดีหลอกหลวงแบบนี้กลายเป็นเรื่องที่ฉุดไม่อยู่เสียแล้ว

ต่อให้ไม่ไปเป็นโจร โซเชียลมีเดียก็ยังทำร้ายเด็กอินเดียอยู่ดี 

แน่นอนว่า โลกออนไลน์ไม่ได้ทำให้เด็กทุกคนกลายเป็นอาชญากร แต่มันก็มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังความเชื่อแบบผิดๆ และทำลายสุขภาพจิตเยาวชนไม่น้อย

ตัวอย่างเช่น ‘Abhinav Arora’ เด็กชายวัย 10 ขวบผู้เป็นร่างทรง และโด่งดังจนมีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียนับล้านคน

Arora และเด็กอีกหลายคน จากที่จะได้ใช้ชีวิตเหมือนเยาวชนทั่วๆ ไป พวกเขากลายเป็นคนที่ขาดหลักเหตุผลทางความคิด ไม่มีการเชื่อมต่อกับโลกแห่งความเป็นจริง และต้องจมอยู่กับโลกออนไลน์ที่เป็นแค่ภาพลวงตา

ด้านนักจิตบำบัดก็บอกว่า เดี๋ยวนี้ คนไข้ไม่ค่อยบ่นกันแล้วว่า ‘เบื่อโลก’ แต่พวกเขากลับเผชิญปัญหาของ ‘ความว่างเปล่าแทน’

คงต้องดูกันไปอีกยาวๆ ว่าสถานะ Timepass จะทำร้ายเด็กอินเดียไปนานแค่ไหน หรือจริงๆ แล้วมันคงจะไม่ร้ายแรงมาก อาจกลายเป็นเรื่องปกติเหมือน Lying flat ก็ได้

แล้วถ้ามองย้อนมาที่ประเทศไทยล่ะ คุณคิดว่าเด็กไทยกำลังเผชิญสภาวะ Timepass หรือ Lying flat กันบ้างหรือเปล่า?

https://www.facebook.com/share/p/18wsTSLfRf/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่