เคยสงสัยไหม สถานะการเงินของเราเป็นแบบไหน (1/3)

--------------------------------------------------------------------------------------------
"บทความนี้เคยโพสไปแล้ว แต่เอามาเรียบเรียงใหม่ 
ความตั้งใจยังเหมือนเดิม คือ อยากให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องความมั่นคงทางการเงินของตนเอง
ความผิดพลาดที่ผ่านมา คือ โพสๆ หายๆ เรื่องไม่ประติดประต่อ
สิ่งที่ยังคงมีในใจคือ ไฟในใจที่ยังไม่ยอมแพ้ (แม้จะเริ่มใหม่หลายครั้งแล้ว) 
สิ่งที่หวัง เป็นกำลังใจให้ผมทำความตั้งใจของตัวเองให้สำเร็จสักที ^ ^"
--------------------------------------------------------------------------------------------

เคยสงสัยกันไหมครับ
ว่าสถานะการเงินของเราเป็นแบบไหน

เมื่อเรารู้สถานะการเงินของเราแล้ว มันจะยังไงต่อ รู้ไปทำไม รู้แล้วได้อะไร 

ในเมื่อวัตถุประสงค์หลักของเรา คือการออมเงินเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ตัวเอง 

ดังนั้น แน่นอนว่า เมื่อเรารู้ว่าการเงินเราเป็นยังไง เราจะออมยังไง และเราจะทำยังไงให้เรามีความมั่นคงทางการเงินในที่สุดนั้นเอง
ไม่ใช้เราไม่รู้นะครับว่าการเงินเราเป็นยังไง ผมมั่นใจว่าทุกคนรู้ และเมื่อรู้แล้ว เราควรจะยังไงต่อกับการออมเงิน 
ขออนุญาติแลกเปลี่ยนมุมมองกันนะครับ

ในที่นี้ ผมขอใช้เงินคงเหลือเป็นตัวจัดกลุ่มแต่ละกลุ่มครับ แบ่งได้คร่าวๆ คือ

1.เงินเดือนเหลือ มีเงินสำหรับใช้จ่ายตามใจตัวเองได้
2.เงินเดือนพอดีรายจ่าย พูดง่ายๆคือ เดือนชนเดือน 
3.เงินเดือนไม่พอรายจ่าย 

จริงๆแล้วเราสามารถออมเงินได้เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน สำคัญที่ว่าเราให้ความสำคัญมันแค่ไหนมากกว่าครับ ไม่ปฏิเสธว่า คนที่เดือนชนเดือน คนที่เงินเดือนไม่พอ จะเอาที่ไหนไปออม แลกเปลี่ยนมุมมองกันครับ ขอเริ่มกันเลย

1. กลุ่มคนเงินเดือนเหลือ 

                   คือคนที่มีรายได้มากเกินกว่าค่าใช้จ่ายประจำ เมื่อหักรายจ่ายประจำแล้ว ยังสามารถซื้อของ เที่ยว หรือทำอะไรตามใจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเงินจะไม่พอจ่าย หรือสามารถแบ่งมาออมก็ได้สบาย

                    แปลกแต่จริง กลุ่มนี้ มีเงินเหลือกิน เหลือใช้ แต่หลายคนก็ไม่ค่อยเหลือเก็บ แย่ไปกว่านั้น จากเงินเดือนเหลือ  ก็อาจจะหลงทางสู่วงจรบัตรเครดิต ผ่อน 0% ผ่อนของ สุดท้ายผ่อนขั้นต่ำ นำไปซื้อของทีตัวเองอยากได้(เงินเดือนเหลือ ธนาคารเจ้าของบัตรชอบ อนุมัติวงเงินให้เยอะ) ส่วนเราเองก็เหตุผลเข้าข้างตัวเอง เช่น ให้รางวัลตัวเองบ้าง เงินเดือนยังเหลือ ผ่อนสบายๆ ไม่เป็นไรหรอกแค่เดือนละเท่านั้นเท่านี้ ไม่มีดอกเบี้ย  ได้แต้มบัตรด้วย แต้มไว้ทำโน่นนี่นั่น บลาๆๆ และหลายคนจบลงที่ ผ่อนจนเกินกำลังตัวเอง จนท้ายที่สุด หลุดจากคำว่า เงินเดือนเหลือๆ ไปเป็น กลุ่มเดือนชนเดือนในที่สุด  แล้วเราควรทำยังไงไม่ให้เราติดกับดักตัวเอง มีเงินออมใช้จนเกษียณแบบสบายๆ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าอิจฉาแหละครับรายได้มีพอไม่ต้องเครียดเรื่องเงินไม่พอใช้ แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มนี้แล้วใช้เงินเกินตัว อาจทำให้ตัวเองเดือดร้อนและลำบากได้เช่นกัน…อย่าชะล่าใจเชียว

                  คนกลุ่มนี้ออมเงินได้ ง่ายๆเลยครับ คือ ออมก่อนใช้ เช่นเงินเดือน 25,000 ให้ตัดไปออมเลย ตามสะดวก อาจจะ 5,000 3,000 500 ส่วนที่เหลือ คุณจะใช้จ่ายอะไร มีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ก็ตามสะดวก แต่เราจะได้มีความมั่นคงทางการเงินขึ้นมาระดับหนึ่ง แปลกแต่จริง ถ้าเรามีเงินในกระเป๋า 1000 แล้วไม่มีที่กดเงิน ไม่มีที่ใช้เงิน เงิน 1,000 อาจจะอยู่ได้ทั้งอาทิตย์ แต่ถ้าอยู่ในห้าง 1,000 คงหมดตั้งแต่ร้านแรกแล้ว ที่จะสื่อก็คือ ในเมื่อคุณมีโอกาสออมเงินมากกว่า มีเงินมากกว่า และมันทำให้คุณเกษียณตัวเองได้ไวกว่าหลายๆคน ถ้าคุณเอาเงินไปใช้ให้ถูกวิธี เงินเดือนเท่ากัน ไม่มีภาระเหมือนกัน ทำไมชีวิตเกษียณต่างกัน
ยกตัวอย่างให้คิดครับ 

                    คน 2 คน มีเงินเดือน 50,000 เหมือนกัน ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินเหมือนกัน

                     คนหนึ่งเช่าบ้านพออยู่ได้ไม่ได้หรู ผ่อนรถไม่แพงมากเอาแต่พอมีใช้ไม่อวดใคร เที่ยวกลางคืนไม่บ่อย กินข้าวธรรมดาๆ จนคนรอบข้างมองว่า ขี้เหนียว (อาจไม่ขนาดนั้น แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน) เงินเดือน 50,000 กินใช้ธรรมดา เช่าบ้านพออยู่ได้ 50,000 ตัดใจออม 20,000 เหลือ 30,000.- 
แล้วก็มาวางแผนว่า 30,000 จะใช้ยังไงให้พอ (กินดีบ้าง ปกติบ้าง เที่ยวบ้าง)ใช้บ้าง อดบ้าง ฉลองบ้าง ตามโอกาส  ผ่านไป 1 ปี คนนี้จะมีเงินออม 20,000*12 = 240,000.- 

                   กลับมาที่อีกคน มีเงินเดือน 50,000.- ใช้ของแบรนด์ ผ่อนรถเดือนละ 15,000.- เช่าบ้านเดือนละ 10,000.- ค่าน้ำมัน ค่ากิน  บัตรเครดิต บลาๆ แบบว่าใช้ก่อน เหลือก็ออม ไม่เหลือก็ไม่ออม ไม่เดือดร้อน เพราะสิ้นเดือนเงินก็ออก ชีวิตดีๆก็วนลูปไปเรื่อยๆ ผ่านไป 1 ปี อาจไม่มีเงินเก็บเลยก็เป็นไปได้ หรือถ้าออมได้สักเดือนละ 1,000 (เหมือนจะดี) แต่จริงๆไม่ดีซะทีเดียวครับ ไม่ดีเพราะว่าศักยภาพเรา ทำได้ดีกว่านั้น เพียงแค่ลดรายจ่ายไม่จำเป็น ลดการเที่ยวบาง ลดการเป็นหัวจ่ายบ้าง สมมุติออมเดือนละ 1,000 ผ่านไป 1 ปี ออมได้ 12,000.- (เทียบไม่ได้กับ 240,000 เลยใช่ไหมครับ) ชีวิตดำเนินไปได้ทั้งภาพสวย มีคนชม มีคนอิจฉา ชีวิตสะดวกสบาย 

                  เลือกได้ครับ แบบไหนคุ้มกว่า ระหว่าง สบายๆทุกเดือน กับ สุขบ้างทุกข้างแต่มีเงินเก็บ  อย่าเพิ่งดราม่านะ เข้าใจว่าเหตุผลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แค่เปรียบเทียบแบบสุดโต่งให้เห็นภาพชัดเฉยๆครับ

                    นี่ไม่นับว่า วันหนึ่งจะตกงาน อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้นะ อาชีพอย่างกัปตันเครื่องบินก็ขายปลาท่องโก๋ให้เห็นมาแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราควรวางแผนสำรองไว้ด้วย นี่ไม่นับ เกิดจำเป็นใช้ฉุกเฉินตอนไหนนะครับ  

                     ผมไม่ได้แอนตี้บัตรเครดิตนะ มีได้ แต่ใช้ให้เป็น หลายคนทำได้ ใช้แล้วสิ้นเดือนจ่ายเต็มยอด จบ ไม่มีดอกเบี้ย แต่หลายๆคนก็ตกสู่วังวนผ่อน 0 เปอร์ฺเซ็นต์ ผ่อนขั้นต่ำเพื่อซื้อของที่ตัวเองอยากได้และคิดเข้าข้างตัวเองว่า ฉันผ่อนไหว รู้ตัวอีกที ก็ผ่อนไม่ไหวแล้ว
 
                     วันหนึ่งที่คุณมีเงินออมสักห้าหกเดือน ความรู้สึกคุณจะเปลี่ยนไปเอง เมื่อผลตอบแทนที่ได้จากการออม การลงทุน หรือแม้มีเพียงเงินออมที่เหลือแสดงในบัญชีเพิ่มขึ้นทุกๆเดือน มันก็จะทำให้คุณอยากมีเงินออมมากขึ้นไปเอง สำคัญคือต้องเริ่มครับ มากน้อย ตามสะดวก ตามกำลัง

ขอจบเท่านี้ก่อนนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่