โมดิฟายด์เครื่องรับสัญญาณ Bluetooth/DAC ให้เสียงดียิ่งขึ้นครับ

การโมดิฟายด์เครื่องเสียงจำพวกแอมป์จิ๋วมีคลิปให้ดูเป็นแนวทางใน Youtube มากมาย  หลายคนที่ทำคลิปไม่มีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์แท้จริงโดยใช้ความคิดง่ายๆ แค่ว่าเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่ราคาแพงกว่าใส่เข้าไปก็จะได้เสียงดีขึ้นแต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น หลายคนเปลี่ยนตัวเก็บประจุที่ทำหน้าที่คัปปลิ้งสัญญาณจากของเดิมที่เป็นแบบชิพเซรามิคเป็นชนิดอิเล็กทรอไลต์แล้วคิดว่ามันดีกว่าเดิม  แน่นอนการเปลี่ยนประเภทตัวเก็บประจุที่ทำหน้าที่นี้แทบทุกคนจะฟังออกว่าเสียงเปลี่ยนไป  แต่หารู้ไม่ว่าตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์แม้จะเป็นออดิโอเกรดราคาแพงคุณสมบัติก็ยังแย่กว่าแบบเซรามิคเป็นร้อยเท่า  ตัวเก็บประจุแบบเซมิคนั้นตอบสนองความถี่ได้ยอดเยี่ยม การสูญเสียต่ำมากเราจึงพบเห็นเขาใช้ในวงจรความถี่สูงมากๆ ระดับ GHz ก็ยังใช้   ข้อเสียของตัวเก็บประจุเซรามิกมีอย่างเดียวคือมันทำงานได้รวดเร็วเกินไปเมื่อนำมาใช้คัปปลิ้งสัญญาณเสียงจะรู้สึกว่าเสียงไม่นุ่มนวล  แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ตัวเก็บประจุต่างชนิดขนานเข้าไปเทคนิคนี้เรียกว่า Bi-cap เราจะเห็นการใช้เทคนิคนี้ได้จากเครื่องเสียงชั้นดีทั่วไป  ตัวเก็บประจุที่นำมาต่อขนานมักใช้ตัวเก็บประจุคุณภาพสูงทำงานในย่านความถี่เสียงได้ดีมีการสูญเสียต่ำและไม่มีการรั่วไหลของประจุไฟฟ้า  นิยมใช้ตัวเก็บประจุแบบฟิล์มเพราะหาซื้อง่ายแต่จะใช้รุ่นใด ยี่ห้อใดแล้วแต่จะเลือกดูตัวอย่างจากเครื่องเสียงไฮเอนด์แล้วทำตามเขาเสียงก็จะดีขึ้นเอง

วันนี้ผมไม่ได้โมดิฟายด์แอมป์จิ๋วแต่จะโมดิฟายด์เครื่องรับสัญญาณ Bluetooth/DAC ให้เสียงดีขึ้นและสัญญาณรบกวนต่ำลง  อันนี้ว่ากันตามทฤษฎีแต่ใช้งานจริงของหูคนจะฟังออกไหมเป็นอีกเรื่อง   เครื่องรับสัญญาณ Bluetooth/DAC เครื่องนี้ผมซื้อมาราคารวมค่าส่งไม่ถึง 400 บาท ไม่มียี่ห้อแต่ระบุชื่อรุ่นว่า A05 ก่อนหน้านี้ผมซื้อเครื่องรับสัญญาณ Bluetooth หลายเครื่องราคาตั้งแต่ร้อยกว่าบาทไปจนถึงพันบาทต้นๆ ทั้งรุ่นใช้ชิพของบริษัทอเมริกา จีน พบว่าบางรุ่นเสียงดีแต่มีอาการสะอึก บางรุ่นเสียงใสแต่เบสขาดน้ำหนัก บางรุ่นขายแพงแต่เสียงดนตรีตีกันมั่วไปหมดผมก็เลยขายถูกๆ ทิ้งไปหมดจนมาพบเครื่องนี้



รุ่นนี้ใช้ชิพตัวใหม่ของ JL เป็นบริษัทจีน  ชิพรุ่นนี้ไม่มีอาการสะอึกเสียงใสรายละเอียดดี เบสกระชับเป็นลูกๆ แต่นุ่มนวล เสียงเบสแนวนี้จะอยู่กลางๆ ฟังเพลงช้าๆ ซึ้งๆ ได้ ฟังเพลงเร็วก็สนุก  ด้านบนแผ่นปริ๊นผมเพิ่มตัวเก็บประจุ Wima 0.1uF เข้าไปที่จุดรับไฟเลี้ยง 5V. ที่ต่อผ่านพอร์ต USB-C เข้ามา ตัวเก็บประจุตัวนี้จะเสริมความสามารถให้ตัวเก็บประจุอิเล็คทรอไลต์ 220uF ที่อยู่ใกล้กันเมื่อใส่ตัวเก็บประจุตัวนี้เข้าไปอิมพีแดนซ์ที่ความถี่สูงจะลดลงเป็นผลดีกับภาคจ่ายไฟ


ด้านหลังมีตัวเก็บประจุ Bi-cap เพิ่มเข้าไป 4 ตัว สีเหลืองตัวใหญ่ค่า 330nF ยี่ห้อ EVOX ตัวนี้ผมใส่เข้าไปเพื่อทำหน้าที่ลดอิมพีแดนซ์ความถี่สูงหลังจากไฟเดินทางผ่านไดโอดซึ่งทำหน้าที่ดีคัปปลี้ง จริงๆ แล้วที่ด้านบนแผ่นปริ๊นเขาใช้ตัวเก็บประจุแบบชิพเซรามิค 2 ตัวค่าต่างกันต่อเป็น Bi-cap อยู่แล้วแต่ผมก็เพิ่มตัวเก็บประจุแบบฟิมล์มเข้าไปเพราะมีของเหลือเมื่อใส่ตัวเก็บประจุตัวนี้เข้าไปไม่น่าจะมีผลอะไร   ตัวเก็บประจุสีเหลืองตัวเล็กค่า 100nF ยี่ห้อ EVOX ตัวนี้ผมใส่เข้าไปเพื่อทำหน้าที่ลดอิมพีแดนซ์ความถี่สูงหลังจากไฟผ่านทรานซิสเตอร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเรกูเลเตอร์จ่ายไฟให้ราบเรียบ  จุดนี้ในวงจรเขามีตัวเก็บประจุชิพเซรามิคทำหน้าที่ Bi-cap อยู่แล้วแต่ผมก็ใส่เข้าไปซึ่งไม่น่าจะมีผลอะไร  ส่วนตัวเก็ประจุ Wima สีแดงตัวเล็ก 0.1uF ต่อ Bi-cap ให้กับตัวเก็บประจุอิเล็คทรอไลต์ค่า 470uF ซึ่งทำหน้าที่คัปปลิ้งสัญาณเสียง  เมื่อเพิ่มตัวนี้เข้าไปจะมีผลกับเสียงย่านความถี่กลาง-สูงทำให้ให้ดียิ่งขึ้นเพราะคุณสมบัติของตัวเก็บประจุแบบฟิล์มเหนือกว่าแบบอิเล็คทรอไลต์หลายเท่า



รูปร่างภายนอกเมื่อประกอบเสร็จแล้ว สิ่งที่ผมไม่ชอบในเครื่องรับเครื่องรับสัญญาณ Bluetooth/DAC รุ่นนี้ คือ รีโมทที่เป็นแบบเล็กๆ บางๆ  โวลลุ่มก็อยู่ซ้ายมือรู้สึกขัดตาขัดใจ แถมยังใช้โวลลุ่มแบบ A ระยะเร่งเสียงจะอยู่ท้ายๆ เสียงจึงจะออกมาแต่มันก็ไม่เป็นปัญหาเพราะผมใช้ต่อกับ PC ไม่ได้ปรับลดเสียงเพิ่มเสียงที่รีโมทหรือตัวเครื่องอยู่แล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่