'ดีอี' จัดเต็ม กม.ใหม่ บังคับค่ายมือถือ-แบงก์ร่วมรับผิดชอบ เพิ่มโทษคุก 5 ปี

ยอดโจรออนไลน์ระบาดหนัก เดือน พ.ย.67 ฉกเงินวันละ 85 ล้านบาท 'ดีอี' จัดเต็ม กม.ใหม่ บังคับค่ายมือถือ-แบงก์ร่วมรับผิดชอบ เพิ่มโทษคุก 5 ปี

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า หลังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้กว่า 40% พร้อมเสริมมาตรการรุกคืบเพื่อปิดช่องโหว่อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ล่าสุดเตรียมผลักดันกฎหมายใหม่บังคับให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและธนาคารต้องรับผิดชอบหากปล่อยให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

การดำเนินงานที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างชัดเจน โดยได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเพื่อปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า และการขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเกิน 100 ครั้งต่อวัน และการจำกัดการถือครองซิมการ์ดเกิน 5 เบอร์ พร้อมวางแผนออกกฎหมายกำกับการส่ง SMS ที่มีลิงก์ โดยกำหนดให้ผู้ส่งต้องลงทะเบียนก่อน และหากเกิดความเสียหาย ผู้ให้บริการจะต้องร่วมรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายใหม่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหายจากบัญชีม้า การเพิ่มบทลงโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยเพิ่มโทษจำคุกจาก 1 ปี เป็น 5 ปี

สถิติยอดแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่ 1 มี.ค.65 ถึง 30 พ.ย.67 ผ่านเว็บไซต์ Thaipoliceonline มีจำนวนกว่า 739,494 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,360 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท โดยสามารถอายัดบัญชีได้ 560,412 บัญชี รวมยอดอายัดกว่า 8,627 ล้านบาท

เฉพาะเดือน พ.ย.67 มีการแจ้งความออนไลน์ 31,353 เรื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 2,540 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 85 ล้านบาท สามารถอายัดได้ 16,229 บัญชี รวมยอดอายัดกว่า 383 ล้านบาท โดยคดีที่ได้รับการแจ้งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การหลอกลวงซื้อขายสินค้า หลอกโอนเงินเพื่อทำงานพิเศษ ข่มขู่ทางโทรศัพท์ หลอกให้กู้เงิน และหลอกโอนเงินเพื่อรับรางวัล

Cr. https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9670000120734



หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของสิงคโปร์ ได้ออกประกาศมาตรการต่อต้านการหลอกลวงทางออนไลน์ เพื่อลดจำนวนผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพหลอก และอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบธนาคารและการชำระเงินดิจิทัลของสิงคโปร์
สิ่งที่ตามมาจากการประกาศดังกล่าวคือกรอบความรับผิดชอบร่วมกัน หรือ Shared Responsibility Framework (SRF) โดยสถาบันการเงินของสิงคโปร์มีเวลา 6 เดือน นับจากวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ในการปรับใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่ง SRF ฉบับสมบูรณ์ ระบุว่า สถาบันการเงินและบริษัทโทรคมนาคมต้องร่วมกันรับผิดชอบความสูญเสียของเหยื่อจากกลลวงฟิชชิ่ง
ทั้งนี้ สิงคโปร์มองว่า กรอบ SRF ยังคาดหวังให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการชำระเงินต้องส่งแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ในกรณีที่ผู้ใช้งานมีพฤติกรรมเสี่ยงด้วย เช่น มีการเพิ่มวงเงินในการทำธุรกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว หรือมีการล็อกอินในอุปกรณ์ใหม่ เป็นต้น

https://news1005.mcot.net/news/16172/

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่