เพลง K-POP กับบทบาทสำคัญในการประท้วงไล่ผู้นำเกาหลีใต้

โดยผู้สื่อข่าว Flat Team คิม ฮัน-ซอล  

“อดทนรอในสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้ดี พร้อมสิ่งที่เปล่งประกาย เสียงดังกึกก้อง ข้อมูลอันรวดเร็ว และความสามารถในการประเมินสถานการณ์”

ประโยคนี้อธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้แฟนคลับ K-POP เหมาะสมกับการชุมนุมประท้วงที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา แม้จะดูเหมือนเรื่องตลกในตอนแรก แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าเป็นความจริง ผู้ชุมนุม เพลงที่ใช้ร้อง และสิ่งของที่ใช้ในเหตุการณ์ประท้วงเพื่อถอดถอนผู้นำ ล้วนสะท้อนถึงวัฒนธรรมของกลุ่มผู้หญิงวัย 20-30 ปีที่เป็นหัวใจของแฟนคลับ K-POP

“แฟนคลับ K-POP ผู้หญิงวัย 20-30 ปี” กลุ่มแรกที่ลงสู่ท้องถนน

กลุ่มเป้าหมายหลักของแฟนคลับ K-POP คือผู้หญิงในวัย 20 และ 30 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการที่ผู้เข้าร่วมประท้วงหลักในเหตุการณ์ถอดถอนครั้งนี้ก็เป็นผู้หญิงในกลุ่มวัยเดียวกัน ส่งผลให้ K-POP กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการประท้วงครั้งนี้  

เมื่อเกิดวิกฤตประชาธิปไตยเกาหลีใต้จาก “เหตุการณ์กฎอัยการศึก 3 ธันวาคม” ของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล กลุ่มแฟนคลับ K-POP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัย 20-30 ปี ได้หลั่งไหลออกมาสู่ท้องถนนอย่างรวดเร็ว แม้จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด แต่พวกเธอก็ยังคงนั่งบนพื้นที่เย็นยะเยือก ร้องเพลงและฟัง K-POP ขณะรอการลงมติถอดถอนประธานาธิบดีในรัฐสภาทั้ง 2 ครั้ง

สิ่งของที่นำติดตัวไป เช่น ถุงร้อน ที่ชาร์จแบบพกพา น้ำ และของว่าง ล้วนคล้ายกับอุปกรณ์ที่แฟนคลับพกติดตัวไปร่วมคอนเสิร์ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแท่งไฟเรืองแสง ซึ่งเป็นสิ่งของสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับแฟนคลับ K-POP ที่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของการประท้วงในครั้งนี้ไปโดยปริยาย

เพลง K-POP ที่ก้องกังวานไปทั่วพื้นที่ชุมนุมประท้วง

เมื่อการถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอลได้รับมติผ่านในรัฐสภา เพลงแรกที่เปิดในงานชุมนุมที่ย่านยออีโดไม่ใช่เพลงประท้วงแบบดั้งเดิม แต่เป็นเพลง K-POP อย่าง Into the New World ของวง Girls’ Generation จากปี 2007 หลังจากเสียงอันเงียบงันที่เกิดขึ้นระหว่างการประกาศผลมติ ผู้ชุมนุมกลับมารวมตัวร้องเพลงนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า “Goodbye to repeating sadness in this world” ซึ่งสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวังของเหล่าผู้ประท้วงหลายๆ คน

ในปัจจุบัน เพลงที่คนทุกช่วงวัยสามารถร้องร่วมกันได้นั้นก็เริ่มหายากมากขึ้นเรื่อยๆ  เพลง K-POP กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่แนวเพลงที่สามารถเชื่อมโยงคนข้ามวัยได้ โดยเพลงหลักๆ ที่ใช้ในเหตุการณ์การประท้วงครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น Into the New World (2007) ของ Girls’ Generation, On a Saturday Night (2009) ของซน ดัม-บี และ Crooked (2013) ของ G-Dragon ซึ่งเป็นเพลงยอดนิยมในช่วงวัยเรียนของกลุ่มผู้หญิงในวัย 20-30 ปีหลายๆ คน นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ใหม่กว่า เช่น Time of Our Life (2019) ของ DAY6 และรวมไปถึงเพลงของวง Aespa อย่าง Next Level (2021), Supernova และ Whiplash (2024) ที่ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในปีนี้ด้วยเช่นกัน

คิม โด-ฮอน นักวิจารณ์วัฒนธรรมป๊อป ได้ให้ความเห็นว่า ในอดีตเพลงประท้วงมักเชื่อมโยงกับดนตรีป๊อป เช่น เพลง Apartment ของยุน ซู-อิล ที่ผู้ชุมนุมร้องร่วมกันในเหตุการณ์ประท้วงในครั้งก่อนๆ แต่ทุกวันนี้ เพลงที่ทุกคนสามารถร้องร่วมกันได้นั้นก็เริ่มมีน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อผู้หญิงวัย 20-30 ปีที่เป็นแกนหลักของการประท้วงในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเธอจะเลือกเพลง K-POP ซึ่งเป็นเพลงที่พวกเธอเชื่อมโยงและรู้จักกันดีมาใช้”  

ความเป็นระเบียบของแฟนคลับ K-POP แปรเปลี่ยนเป็นพลังในกิจกรรมประท้วง

วัฒนธรรมการจัดระเบียบของแฟนคลับ K-Pop แสดงออกอย่างชัดเจนในการชุมนุมครั้งนี้ แฟนคลับที่คุ้นเคยกับการต่อคิวรอเข้ารายการเพลงและเข้าคอนเสิร์ตนั้น ก็ได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ แม้จะต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและสภาพอากาศที่หนาวจัด แต่ก็ออกมาปักหลักประท้วงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

โดยถึงแม้การลงมติถอดถอนประธานาธิบดีในครั้งแรกจะล้มเหลว แต่เหล่าผู้หญิงวัย 20-30 ปีก็ยังคงยืนหยัดประท้วงอยู่หน้ารัฐสภาต่อไป โดยถือแท่งไฟเรืองแสงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแฟนคลับ K-POP ซึ่งมีผู้สังเกตการณ์ได้เปรียบเทียบว่า “ความทุ่มเทของพวกเธอเหมือนกับการรอพบศิลปินที่พวกเธอชื่นชอบหลังการแสดง”

นอกจากนี้ คิม โด-ฮอน ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ผู้คนวัย 20-30 ปีที่มีประสบการณ์ในกิจกรรมกลุ่มและพฤติกรรมทางสังคมจากการเป็นแฟนคลับอยู่แล้ว ได้ช่วยให้พวกเธอตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมได้อย่างรวดเร็วและกลายเป็นแกนหลักในการประท้วงครั้งนี้”  

ศิลปินตอบแทนแฟนคลับด้วย “Reverse Fan Service”

ก่อนการลงมติถอดถอนครั้งที่สอง ก็มีศิลปิน K-POP ต่างเข้ามาร่วมสนับสนุนให้กับกลุ่มผู้ประท้วงด้วย ยกตัวอย่างเช่น

- IU ได้จ่ายค่าอาหารล่วงหน้าหลายร้อยชุด เช่น ขนมปัง ซุปร้อน เค้กข้าว และเครื่องดื่ม ที่ร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ใกล้กับย่านยออีโดเพื่อแฟนคลับที่มาเข้าร่วมประท้วง

- NewJeans ได้จ่ายค่าอาหารล่วงหน้า เช่น คิมบับ ก๋วยเตี๋ยวเย็น และซุบไก่โสม เพื่อเป็นของขวัญเล็กๆ ให้กับ Bunnies (ชื่อแฟนคลับของ NewJeans) และแฟน K-POP ทุกคน ถึงแม้ว่า NewJeans จะยังคงมีข้อพิพาทกับค่ายต้นสังกัดเดิมและบริษัทแม่อยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ อี ดง-อุค นักแสดงชื่อดัง ได้โพสต์เพลง Into the New World หลังการลงมติถอดถอนประธานาธิบดีสำเร็จ พร้อมข้อความที่ว่า “เหมือนฤดูใบไม้ผลิที่กำลังใกล้เข้ามาถึง”  

เหตุการณ์การประท้วงในครั้งนี้สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม K-POP กับ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยแสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ของการเคลื่อนไหวทางสังคมที่นำโดยแฟนคลับของศิลปินในเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี



โพสต์ภาษาอังกฤษที่นำมาแปล: https://x.com/juantokki/status/1868499016360866117?t=IFKfS9q84Rf2WB0kQxdlZg&s=19

แหล่งข่าวอ้างอิงฉบับภาษาเกาหลี: https://n.news.naver.com/article/032/0003339495?sid=103
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่