หมอตี๋ โพสต์อุทาหรณ์ เดี๋ยวนี้เด็กวัย 15-16 ปี เป็นโรคซิฟิลิสเยอะมาก พร้อมยกเคสศึกษา

หมอตี๋ โพสต์อุทาหรณ์ เดี๋ยวนี้เด็กหญิงวัย 15-16 ปี เป็นโรคซิฟิลิสเยอะมาก พร้อมยกเคสศึกษา ติดมาจากแฟนคนแรก โชคดีที่ตรวจเจอเร็ว รักษาทัน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 67 นพ. โกเมศ กิมวัฒนานุกุล หรือ หมอตี๋ โพสต์เตือนภัยผ่านเพจ Skin Insight by Tee ว่าปัจจุบันนี้เด็กหญิงอายุ 15-16 ปี เป็นโรคซิฟิลิสกันเยอะมาก โดยเฉพาะเคสน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ตนพบว่ามีอาการส่อติดเชื้อ (ผื่นแดงขึ้นตามฝ่ามือ-เท้า ไม่คัน) หลังส่งเลือดตรวจยืนยันก็ทราบว่าติดแล้วแน่นอน ซึ่งลักษณะนี้คือติดมาจากผู้ชาย 100%

อีกทั้งพอซักประวัติก็พบว่าได้รับมาจากแฟนคนแรก ฉะนั้นจะเห็นว่า “ซิฟิลิส” ไม่จำเป็นต้องผ่านผู้ชายมาหลายคน คนแรกก็แจ็คพอตได้เลย อีกทั้งตอนที่รู้ผล คุณแม่ที่มาด้วยกันถึงกับใจสั่นน้ำตาไหล แต่โชคดีที่โรคนี้หากรู้เร็ว รักษาเร็ว ฉีดยาฆ่าเชื้อ สามารถรักษาให้หายได้

ทว่าความน่ากลัวคือหากไม่รีบมาตรวจ สักพักผื่นจะหายไปเอง และเข้าสู่ระยะแฝง ไม่แสดงอาการอยู่หลายปี แต่ความจริงคือเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในตัว ก่อนเริ่มลามไปที่สมอง, ตับ, กระดูก ฯลฯ ดังนั้นการป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะเป็นการดีที่สุด

อย่างไรก็ดี มีชาวเน็ตใจบุญท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์กรณีตนและแฟนหนุ่มเป็นซิฟิลิสว่า หากผู้ชายเป็นจะมีอาการหนองใน และแพทย์ที่ไปตรวจมาก็บอกว่าสาเหตุอาจมาจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน หรือตอนอาบน้ำ และถ้ามีลูกอยู่ก็ส่งผลถึงตัวเด็กด้วย แต่โชคดีที่ตอนนี้รักษาหายแล้วเรียบร้อย

ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน อย่างในเคสตัวเองไปของเอกชนมา ต้องกินยาเยอะมาก ครั้งละ 4 เม็ด (เช้า, กลางวัน, เย็น และก่อนนอน) แถมต้องฉีดยา ครั้งหนึ่งพันกว่าบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าเลือดว่าจะกลับมาปกติตอนไหน หากใช้การฉีดยาจะหายไว อาจฉีดแค่ 2-3 ครั้ง ก็หายแล้ว

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema Polidum ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และปาก หากไม่รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อาการขั้นต้นของโรคซิฟิลิสโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลดังกล่าว โดยมี 4 ระยะอาการดังนี้

ระยะที่ 1 มีตุ่มเล็ก ๆ แตกเป็นแผลมีน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือทั่วร่างกาย
ระยะที่ 3 ระยะแฝง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ
ระยะที่ 4 เชื้อเข้าไปทำลายระบบสมอง และอวัยวะต่าง ๆ

สำหรับโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์มาก เนื่องจากเชื้อสามารถผ่านรกไปยังตัวของทารก และติดต่อไปยังทารกได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ แต่ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับปริมาณเชื้อในกระแสเลือด และระยะของการตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นแท้ง, พิการแต่กำเนิด หรืออาจร้ายแรงถึงเสียชีวิตระหว่างคลอดได้

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่นี่ https://thethaiger.com/th/news/1299494/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่