รู้กันไหม เพลงเด็กดีที่ร้องกัน มีที่มายังไง.................

กำเนิดเพลงเด็กดี (หน้าที่ของเด็ก)

สำหรับเพลงเด็กดีนี้ ประพันธ์คำร้องโดยครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนนวนิยายชื่อดังคนหนึ่งของไทย ท่านเป็นพี่สาวของครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ ท่านได้เล่าถึงที่มาของเพลงดังกล่าวว่า เมื่ออดีตท่านเป็นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติคนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ มีอยู่ปีหนึ่งที่ทางสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก ท่านจึงได้นำเนื้อหาดังกล่าวมาแต่งเป็นกลอนให้คล้องจองกัน และขอให้ครูเอื้อ สุนทรสนานแต่งทำนองให้ จากนั้น ก็ได้มีการนำเพลงนี้ไปเปิดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ในวันเด็กแห่งชาติทุกปี แต่ต่อมาเพลงนี้ก็ได้ค่อยๆหายไป
การที่เพลงดังกล่าวได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ก็เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณาเห็นว่า เนื้อเพลงเด็กดี มีสาระสอดรับกับการสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ในสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นคำสอนที่ร่วมสมัยสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น จึงได้ร่วมกับบมจ.อสมท จัดทำสปอตเพลงเด็กดี ขึ้นอีกครั้ง เพื่อเผยแพร่ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เพราะเห็นว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่เข้าถึงเด็ก เยาวชน และแม้แต่ประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า “ดี” ว่าหมายถึง มีลักษณะที่เป็นไปในทางที่ต้องการ หรือน่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนคำว่า “คนดี” หมายถึง คนที่มีคุณความดี คนที่มีคุณธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งคำว่า ดี และคนดี ล้วนเป็นนามธรรม ยากแก่การเฉพาะเจาะจงลงไป สิ่งที่ “ดี”หรือ “คนดี” ในความคิดของคนๆหนึ่ง อาจจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ และประสบการณ์ความรู้ของแต่ละคน ดังนั้น การที่กำหนดหน้าที่ของ “เด็กดี” ว่ามีอยู่ด้วยกันสิบประการข้างต้น จึงเป็นเสมือนเครื่องชี้แนะแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมว่า หากต้องการเป็น “เด็กดี” ควรปฏิบัติตนเช่นไรบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หน้าที่สิบประการดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์ที่ตายตัว ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างกว้างๆเท่านั้น และเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอขยายความคิดในการปฏิบัติตนของแต่ละข้อเพิ่มเติม ดังนี้
หนึ่ง นับถือศาสนา โดยทั่วไปคนเราต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งตามความเชื่อของตน หรือครอบครัวอยู่แล้ว แต่การนับถือศาสนาในที่นี้ มิได้หมายเพียงแต่การนับถือตามลายลักษณ์อักษร แต่ต้องเป็นการเคารพด้วยความศรัทธา และยึดมั่นต่อการปฏิบัตตนเป็นศาสนิกชนที่ดีตามหลักการของศาสนานั้นๆด้วย เช่น ถือศีลห้าตามหลักพุทธศาสนา ไม่..่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมยเขา เป็นต้น
สอง รักษาธรรมเนียมมั่น คือ การปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย เช่น มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ หรือผู้อาวุโสกว่า รู้จักไปลามาไหว้ และไม่ชิงสุกก่อนห่าม เป็นต้น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณ และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆมาก่อน ดังนั้น สิ่งที่ท่านสอนจึงเป็นความหวังดีที่มุ่งให้ลูกหรือลูกศิษย์ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้าในชีวิต หากเรื่องใดเห็นว่าท่านเข้าใจผิด ก็ควรค่อยๆชี้แจง ไม่ก้าวร้าวหรือลบลู่ท่าน
สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน นั่นคือ ปิยวาจา อันเป็นคำพูดที่สุภาพ ฟังแล้วรื่นหู ไม่พูดจาหยาบคาย กระโชกโฮกฮาก หรือทำน้ำเสียงดูหมิ่นดูแคลน แม้แต่กับเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด เพราะคนเราทุกคนย่อมอยากได้ยินได้ฟังคนที่พูดจาดีกับตัวเรา และนอกจากพูดเพราะแล้ว ยังควรพูดดี มีสาระ ไม่เพ้อเจ้อ หรือกล่าววาจาส่อเสียดให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ข้อสำคัญ ต้องรักษาคำพูด มีสัจจะวาจา ไม่โกหกหลอกลวงคนอื่นๆ เพราะจะทำให้เราไม่เป็นที่เชื่อถือ
ห้า ยึดมั่นกตัญญู เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคนเรานั้นต้องมีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ที่มีพระคุณกับเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย หรือผู้เคยให้ความช่วยเหลือ ทางพุทธศาสนายังกล่าวไว้ว่า “ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี” คนที่มีความกตัญญู ไปไหนๆก็จะมีแต่คนเมตตาให้ความรักความเอ็นดู หรือหากเราตกอยู่ในความทุกข์ยากเดือดร้อน เขาก็จะเต็มใจช่วยเหลือเรา
หก เป็นผู้รู้รักการงาน หมายถึง ให้มีความขยันหมั่นเพียร มีความรัก ความเอาใจใส่ที่จะศึกษาหาความรู้ทั้งในเรื่องการเรียน และการช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน หรือช่วยประกอบการอาชีพ โดยไม่ดูดาย หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เพราะการรักการงานจะทำให้เราได้เรียนรู้ และมีวิชาความรู้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ สอนให้เรามีความรับผิดชอบทั้งในด้านการศึกษา และการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตด้วย
เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่นไม่เกียจไม่คร้าน เมื่อเป็นเด็ก มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน เราก็ต้องเล่าเรียนด้วยความขยันขันแข็ง ต้องศึกษาให้รู้จริง มีความมุมานะ ไม่ท้อถอยหรือเกียจคร้านเสียก่อน การที่เราเรียนอะไรให้รู้จริง จะทำให้เรามีฐานความรู้ที่แม่นยำ และมีประโชน์ต่อการประกอบอาชีพในภายหน้า ขณะเดียวกันการมีมานะบากบั่น ก็จะสอนให้เราเป็นคนอดทน ไม่ท้อถอย อันจะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
แปด รู้จักออมประหยัด ข้อนี้ก็สำคัญไม่น้อย เพราะการรู้จักเก็บออม จะช่วยให้เรามีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยในคราวจำเป็น โดยไม่ต้องหยิบยืมใครให้เป็นหนี้สิน โดยเฉพาะภาวะปัจจุบันที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายที่ล้วนโฆษณาชักจูงให้เราเกิดความอยากได้ ทั้งๆหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น
เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ความซื่อสัตย์ก็เช่นเดียวกับความกตัญญูที่ทุกคนต้องมีไม่ว่ากับคนนอกหรือคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ฯลฯ เพราะความซื่อสัตย์ จะทำให้คนเรามีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน คบกันก็มีความสุข ไม่ต้องหวาดระแวง กลัวเขาจะทรยศ หรือคิดคดหักหลัง คนที่ไม่ซื่อสัตย์จะไม่มีวันได้รับความซื่อสัตย์จากคนอื่น และมักทุกข์ใจตลอดเวลา เพราะกลัวว่าคนอื่นจะคิดไม่ซื่อกับตนบ้าง และขณะเดียวกัน คนเราก็ต้องมีน้ำใจนักกีฬา คือ ต้องรู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัยคนอื่นด้วย
สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา ไม่ว่าอยู่โรงเรียน หรือที่บ้านก็ให้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ เช่น ช่วยครูติวเพื่อนที่เรียนอ่อน ช่วยซื้อกับข้าวให้พ่อแม่ หรือช่วยเลี้ยงน้อง ฯลฯ และในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี ไม่หลงติดอบายมุขหรือยาเสพติด และต้องช่วยกันรักษาสมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมที่ดีงาม หรือโบราณสถานโบราณวัตถุ ฯลฯ ไม่ไปทำลายหรือขีดเขียนเล่นด้วยความคะนอง ต้องประพฤติตนให้มี “จิตสาธารณะ” คือ ใช้ของส่วนรวมด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกับของๆ เราเอง
ชื่อเพลง หน้าที่เด็ก
คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
"เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน (ซ้ำ)
หนึ่ง นับถือศาสนา
สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
สึ่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
ห้า ยึดมั่นกตัญญู
หก เป็นผู้รู้รักการงาน
เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยญชาญ ต้องมานะบากบั่นไม่เกียจไม่คร้าน
แปด รู้จักออมประหยัด
เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ให้เหมาะแก่กาลสมัยชาติพัฒนา
สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา เด็กสมัยชาติพัฒนา จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ "

ฟังเพลง คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์
ชอุ่มเกิดที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรสาวคนโตของขุนปัญจพรรค์พิบูล อดีตข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดนครปฐม กับกระแส ปัญจพรรค์ (สกุลเดิม โกมารทัต) เป็นพี่สาวของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534)
จบการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม ศึกษาชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 1 เลขประจำตัวที่ 1 แล้วเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 11
รับราชการที่กรมโฆษณาการ ทำงานในแผนกและกองต่างๆ เช่น กองกระจายเสียงวิทยุแห่งประเทศไทย แผนกนิตยสารและห้องสมุด, บรรณาธิการหนังสือโฆษณาสาร, หัวหน้าคณะละครวิทยุ คณะโฆษณาสาร และคณะวัฒนธรรมบันเทิง รวมทั้งแต่งบทละครและเพลงประกอบเรื่องให้คณะสุนทราภรณ์
เขียนเรื่องสั้นเป็นงานอดิเรกขณะทำงานอยู่ที่กองกระจายเสียงวิทยุแห่งประเทศไทย จำนง รังสิกุล ซึ่งทำงานอยู่อีกแผนกหนึ่งได้พบเรื่องสั้นที่เขียนเก็บใส่แฟ้มไว้ จึงได้นำผลงานเรื่องสั้นชื่อ “ฉันกับกามเทพ” ส่งให้ นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการนิตยสารสตรีสารอ่าน ปรากฏว่าได้ลงตีพิมพ์เป็นเรื่องแรกในชีวิตและเริ่มงานเขียนเป็นอาชีพตั้งแต่นั้น
ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่สร้างจากผลงานเขียน/นวนิยายที่มีชื่อเสียง เช่น "ทัดดาวบุษยา" "บ้านนอกเข้ากรุง" "เมียนอกกฎหมาย" "มารพิศมัย" "สร้อยฟ้าขายตัว" นอกจากนี้ยังมีผลงานคำร้อง เพลงข้องจิต หนึ่งในดวงใจ ช่อรักซ้อน วิมานใยบัว รักเอาบุญ ดอกพุดตาน สำคัญที่ใจ ฝากลมวอน เกิดเป็นคน แผ่นดินทอง หน้าที่ของเด็ก (เด็กเอ๋ยเด็กดี) เป็นต้น
ชอุ่มสมรสกับจำโนทย์ แย้มงาม ไม่มีบุตรด้วยกัน
ชอุ่มถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556 สิริอายุ 91 ปี โดยหน้าที่สุดท้ายคือทำงานที่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นกรรมการเซ็นเซอร์ของสถานี

Cr. เจาะเวลาหาอดีต  ·
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่