ผู้เชี่ยวชาญชี้ กระแสตื่นทัชสกรีนจบแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะกลับมาใช้ระบบ 'ปุ่มกด'

ผู้เชี่ยวชาญชี้ กระแสตื่นทัชสกรีนจบแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะกลับมาใช้ระบบ 'ปุ่มกด' ตั้งแต่มือถือยันแผงควบคุมรถยนต์

เราเกิดมาในยุคที่ 'จอทัชสกรีน' เป็นของไฮเทค ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อยากดูไฮเทคต้องเปลี่ยนแผงควบคุมแบบกดๆ บิดๆ แบบเดิมมาเป็นการควบคุมผ่านจอทัชสกรีน และกระบวนการนี้ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดอย่างช้าๆ และถ้ามันจะมีหมุดหมายสักจุดในการ 'กวาดล้างปุ่มกด' ก็อาจเป็นในปี 2017 ที่ Apple ออก iPhone 10 ที่เป็นรุ่นแรกที่เอาปุ่ม 'Home’ ออกไป
อย่างไรก็ดี ในโลกปัจจุบันดูเหมือนปุ่มกดจะกลับมา iPhone 16 ที่ Apple ประกาศในปี 2024 มีการเพิ่มปุ่มกดมา 2 ปุ่ม และในปีเดียวกันนี้บริษัทรถยนต์ชั้นนำในโลกก็มีการนำเอาแผงควบคุมสไตล์ปุ่มกดแบบสมัยเก่ากลับมาในรถรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น ไม่ว่านั่นจะเป็นรถของ Volkswagen, Porsche หรือ Hyundai

ปรากฏการณ์นี้เด่นมากจนสื่อการเงินชั้นนำของอเมริกาอย่าง The Wall Street Journal เรียกมันว่ากระแส 'กลับมาใส่ปุ่ม' (Re-Buttonization) ทางสื่อ IEEE Spectrum ที่เป็นสื่อประจำสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงได้ไปสัมภาษณ์นักวิชาการด้าน 'ปุ่มกด' อย่างราเชล พลอตนิก (Rachel Plotnick) ที่เธอเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับปุ่มกดโดยเฉพาะ ในปี 2018 ชื่อ  ‘Power Button: A History of Pleasure, Panic, and the Politics of Pushing’ และหลายส่วนของบทสัมภาษณ์มีความน่าสนใจมาก

ราเชลเล่าคร่าวๆ ว่าจริงๆ แล้วกระแสในการบอกว่า 'ปุ่มกดกำลังจะตาย' หรือ 'โลกนี้จะไม่มีปุ่มกดอีกต่อไป' มันมาราวๆ ปี 2009 ซึ่งนั่นคือหลังโลกเริ่มรู้จักสมาร์ทโฟนหมาดๆ (iPhone 3G และระบบปฏิบัติการณ์ Android เปิดตัวไล่เลี่ยกันในปี 2008) และหลังจากนั้นกระแสโลกในการออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรก็ไปทางเดียวกันหมด คือเปลี่ยนทุกอย่างให้ควบคุมด้วยระบบทัชสกรีน

อย่างไรก็ดี ผ่านมา 15 ปี เหมือนหลายๆ ฝ่ายจะพร้อมใจกันกลับไปหาปุ่มกดอย่างไม่ได้นัดหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือกระทั่ง สมาร์ทโฟน คำถามคือทำไม?

ราเชลพยายามจะให้เราคิดทบทวนว่า จริงๆ แล้วเราต้องการ 'ทัชสกรีน' จริงหรือ? มันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นจริงหรือไม่

หากลองคิดดูดีๆ ทัชสกรีนไม่ได้ทำให้ 'การควบคุม' อะไรง่ายขึ้นเลย ผิดกับการกดปุ่ม การบิดปุ่มต่างๆ ที่มันทำให้การควบคุมง่ายกว่ามาก และที่สำคัญก็คือ การใช้ปุ่มมันทำให้เราคลำๆ ก็รู้ว่าต้องกดตรงไหน ต่างจากทัชสกรีนที่เราต้องมองหน้าจอตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นก็ควบคุมไม่ได้

ราเชลบอกว่าคนกลุ่มแรกๆ ที่ต่อต้านจอทัชสกรีนคือคนตาบอด เพราะจริงๆ แล้วการออกแบบแผงควบคุมให้เป็นทัชสกรีนคือการออกแบบที่กีดกันคนตาบอด เป็นอย่างยิ่ง และก็ใช้เวลาอยู่หลายปีที่กลุ่มคนตาบอดต่อสู้เพื่อให้คนออกแบบแผงควบคุมนั้นคำนึงหน่อยว่าคนตาบอดจะใช้กันอย่างไร

ทั้งนี้กระแสย้อนกลับไปสู่การควบคุมด้วยปุ่มมันเกิดจากการที่ยุคหลังๆ คนไปไหนก็เจอแต่ 'หน้าจอ' จนคนในสังคมเกิดภาวะ 'เหนื่อยล้ากับหน้าจอ ' (Screen fatigue) แบบคนจำนวนมากเบื่อแล้ว เวลาทำงานหรือกระทั่งเรียนหนังสือก็ต้องเจอหน้าจอทั้งวัน มิติชีวิตอื่นๆ ก็อยากเจออย่างอื่นที่ไม่ใช่หน้าจอบ้าง และคนจำนวนมากก็เลยอยากกลับไปใช้ 'ปุ่มกด' แบบเดิมๆ เพราะที่จริงนั่นก็ไม่ได้แค่ทำให้ไม่ต้องเจอหน้าจอไปสักพัก แต่มันทำให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ราเชลก็พูดถึงปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้วการค่อยๆ หายตัวไปของปุ่มกด มันทำให้คนรุ่นใหม่ๆ โตมาแบบแทบไม่เคยกดปุ่มอะไรเลย และพวกเขาก็มีความหวาดกลัวที่จะกดปุ่มอะไรที่เขาไม่รู้จัก โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขัน ไม่ว่าจะเป็นการกดปุ่มเดินเครื่องช่วยชีวิตคนหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือปุ่มเตือนภัยตอนไฟไหม้ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

ที่มา : BrandThink
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่