องุ่นไชน์มัสแคทจีนเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะญี่ปุ่นพลาด ไม่ 'ขึ้นทะเบียน' สายพันธุ์พืชใหม่ ในกรอบเวลาของ WTO

ที่องุ่นไชน์มัสแคทจีนเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะญี่ปุ่นดันพลาด ไม่ไป 'ขึ้นทะเบียน' สายพันธุ์พืชใหม่ ภายในกรอบเวลาของ WTO

องุ่นเป็นพืชที่มนุษย์ปลูกมานานมากอย่างต่ำๆ 5,000 ปี ซึ่งในปัจจุบันก็มีสายพันธุ์มากมายกว่า 5,000 ชนิดทั่วโลก

และในบรรดาสายพันธุ์ขององุ่นทั้งหลาย องุ่นสายพันธุ์ไชน์มัสแคท (Shine Muscat) จากญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แพงที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง โดยมีราคาสูงถึงพวงละหลักพันบาท อย่างไรก็ดี หลายคนก็คงจะเริ่มเห็นองุ่นสายพันธุ์นี้ขายกันทั่วไปในราคาถูกมากๆ แบบพวงละไม่ถึงร้อยบาทกันแล้ว แน่นอนว่าคงพอเดากันได้ว่าราคามันตกเพราะจีนเริ่มปลูกบ้างแล้ว และถ้าใครเคยซื้อกินก็คงจะรู้ว่าไชน์มัสแคทเวอร์ชันจีนที่ขายกันถูกๆ บ้างก็จะมีรสเปรี้ยว บ้างก็มีเมล็ด ซึ่งต่างจากเวอร์ชันญี่ปุ่นที่โดยทั่วไปจะหวานหอมและไม่มีเมล็ด
เรื่องราวขององุ่นนี้ก็อาจเป็นพล็อตเดิมๆ ของการที่จีนนำเอาสายพันธุ์พืชจากชาติอื่นไปปลูกแข่งขัน แต่ในความเป็นจริง เคสของไชน์มัสแคทมันมีรายละเอียดของการ 'ผิดพลาด' ของฝั่งญี่ปุ่นเองอยู่ด้วย และนั่นคือบทเรียนราคาแพงมากๆ ของพวกเขา

แต่ก่อนอื่นเราขอปูพื้นฐานจากสิ่งที่หลายคนที่เคยกินองุ่นไชน์มัสแคทสงสัยแน่ๆ ว่า องุ่นไร้เม็ดแบบนี้เขาปลูกกันอย่างไร?

ตรงนี้หลายคนที่คุ้นเคยกับการปลูกพืชเพื่อการค้าย่อมรู้อยู่แล้ว แต่สำหรับคนไม่รู้ ปกติพืชที่ปลูกเพื่อการค้าจริงจัง เขาไม่ได้ปลูกจากเมล็ด แต่เขาใช้วิธีตอนกิ่ง (grafting) หรือปักชำ (stem cutting) ซึ่งวิธีพวกนี้ ไอเดียคือการนำกิ่งของต้นเดิมมาทำให้มันสามารถงอกมาเป็นต้นใหม่ได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ต้นใหม่มีรหัสพันธุกรรมเหมือนต้นเดิมเป๊ะ และนั่นหมายถึงยังมีรสชาติเหมือนกันอีกด้วย

นี่จึงเป็นคำตอบว่าเค้าปลูกองุ่นไร้เมล็ด (หรือผลไม้ไร้เมล็ดใดๆ) ได้อย่างไรทั้งๆ ที่มันไม่มีเมล็ด และจริงๆ องุ่นไร้เมล็ดนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะมีการปลูกขายเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 1870 แล้ว แต่พัฒนาการที่สำคัญในทศวรรษ 1980 คือนักวิจัยไปเจอยีนที่จะทำให้องุ่นไร้เมล็ดได้ หลังจากนั้นก็เลยสามารถทำให้สายพันธุ์ที่มีรสชาติอร่อยอยู่แล้วกลายเป็นองุ่นไร้เมล็ดได้ง่ายๆ ด้วยการปรับแต่งพันธุกรรม

แล้วองุ่นไชน์มัสแคทมายังไง? อธิบายง่ายๆ มันเป็นผลผลิตขององค์การวิจัยด้านการเกษตรแห่งชาติ โดยสายพันธุ์นี้ใช้เวลาในการคิดค้นมา 30 ปี หรือพูดง่ายๆ ว่าเริ่มวิจัยกันในราวทศวรรษ 1950 และวิจัยสำเร็จมาเป็นองุ่นไชน์มัสแคทที่เรารู้จักกันในปี 1988 และที่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้ หลักๆ คือนักวิจัยต้องการนำองุ่นสายพันธุ์ต่างประเทศมาปรับแต่งให้ทั้งปลูกได้ในญี่ปุ่น มีลูกใหญ่ ทนโรค และรสหวานอร่อย หรือพูดง่ายๆ ก็คือคอนเซ็ปต์ที่เขาต้องการมันคือการพัฒนา 'ราชินีแห่งองุ่น' ขึ้นมานั่นเอง จึงใช้เวลานานมาก

หลังจากพัฒนาสายพันธุ์ 'ราชินีแห่งองุ่น' สำเร็จในปี 1988 สิ่งที่ทำต่อมาก็คือส่งต่อสายพันธุ์ให้เกษตรกรญี่ปุ่นไปทดลองปลูกว่าปลูกได้จริงและให้รสชาติอร่อยหรือไม่?

เป็นเหตุผลที่ทำให้มันต้องใช้เวลากว่าสิบปีในการพิสูจน์ว่าราชินีแห่งองุ่นสายพันธุ์ใหม่นี้มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์จริง โดยสุดท้ายองุ่นสายพันธุ์ใหม่นี้ก็แพร่หลาย และถูกจดทะเบียนเป็นสายพันธุ์ใหม่ในชื่อว่า 'Shine Muscat' ในปี 2006

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ 'ความผิดพลาดครั้งใหญ่’ ของญี่ปุ่น

ในญี่ปุ่น หลังจากเปิดตัว ไชน์มัสแคทถูกเอามาขายในราคาที่แพงมากๆ แบบพวงละหลายพันบาท คนจะซื้อกันเป็นของฝากในโอกาสพิเศษเท่านั้น เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง ญี่ปุ่นมองว่าคงไม่มีต่างชาติเจ้าไหนจะนำเข้าองุ่นพวงละหลายพันไปขายในประเทศตัวเอง มันคือองุ่นที่ญี่ปุ่นมองว่าก็คงกินกันในญี่ปุ่นเป็นหลักนี่แหละ เพราะมันถูกพัฒนาให้เป็นองุ่นที่อร่อยสุดที่ญี่ปุ่นจะปลูกได้ในดินญี่ปุ่น ดังนั้นญี่ปุ่นจึงไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนองุ่นสายพันธุ์ใหม่นี้กับองค์กรการค้าโลก หรือ WTO

ทั้งนี้ถามว่าถ้าขึ้นทะเบียนจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบง่ายๆ คือญี่ปุ่นจะมีสิทธิ์ผูกขาดในการปลูกองุ่นสายพันธุ์ที่คิดค้นใหม่อย่างไชน์มัสแคทได้อย่างต่ำคือ 20 ปี และถ้าชาติอื่นๆ ต้องการปลูกหรือขายบ้าง ก็ต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ (royalties) ให้กับทางญี่ปุ่น (ถ้าเอาแบบละเอียด มันคือสิทธิบัตรพันธุ์พืชภายใต้ข้อตกลง TRIPS แต่ลงรายละเอียด ณ ที่นี้คงไม่เหมาะ)

ตรงนี้กล่าวโดยสรุปคือ ญี่ปุ่นปล่อยผ่านให้ไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเอง เพราะไม่คิดว่าจะมีใครนำองุ่นโคตรแพงนี้ไปขายที่อื่นได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีพวกพ่อค้าหัวใสเอา 'ต้นกล้า' ขององุ่นไชน์มัสแคทไปทดลองปลูกทั้งในเกาหลีใต้และจีน ผลคือปลูกได้ทั้งคู่ และนี่คือสิ่งที่ญี่ปุ่นคาดไม่ถึงว่ามันจะเป็นไปได้

กว่าญี่ปุ่นจะรู้ตัวว่ามีการ 'ลักลอบปลูก' ในเกาหลีใต้และจีน ก็เมื่อกลางทศวรรษ 2010 ในเวลานั้นญี่ปุ่นก็งงเพราะรู้ตัวอีกทีไม่ใช่แค่มันปลูกได้ทั้งในเกาหลีใต้และจีน แต่ทั้งสองชาตินี้ยังปลูกไชน์มัสแคทส่งออกขายในหลายประเทศแล้ว ถึงตอนนี้ญี่ปุ่นก็หมดสิทธิ์นำองุ่นไชน์มัสแคทไปขึ้นทะเบียนกับ WTO เพื่ออำนาจในการผูกขาดองุ่นไชน์มัสแคทไปเสียแล้ว เพราะมันเลยกำหนดการขึ้นทะเบียนพืชสายพันธุ์ใหม่ตามระเบียบของ WTO กล่าวคือตามระเบียบจะต้องขึ้นทะเบียนกับ WTO ภายใน 6 ปี หลังจากขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ในประเทศตัวเองเสร็จสรรพ หรือญี่ปุ่นต้องไปขึ้นทะเบียนภายในปี 2012 แต่ตอนที่เกาหลีใต้กับจีนส่งไชน์มัสแคทมาตีตลาดโลกนั้นเลยปี 2012 ไปแล้ว

ผลก็คือ ญี่ปุ่นก็เลยไม่มี 'อำนาจผูกขาด' ในทั้งตัวสายพันธุ์และชื่อสายพันธุ์ไชน์มัสแคท ในทางปฏิบัตินั่นหมายถึงญี่ปุ่นไม่มีอำนาจจะไปห้ามเกาหลีใต้และจีนปลูกองุ่นชนิดนี้ขายหรือไม่ให้เรียกมันว่าไชน์มัสแคทได้ เหตุนี้จึงนำเรามาสู่สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นต้อง 'สู้' ในตลาดส่งออกองุ่นไชน์มัสแคทที่คุณภาพรสชาติใกล้กันแต่ราคาถูกกว่าไชน์มัสแคทของญี่ปุ่นราวครึ่งหนึ่ง อย่างองุ่นจากเกาหลีใต้ และก็ต้องสู้กับองุ่นไชน์มัสแคทจีนที่รสชาติเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่าไชน์มัสแคทญี่ปุ่นเป็นสิบเท่า

เรียกได้ว่าญี่ปุ่นเจอแบบนี้เข้าไปถึงกับจุก ทำอะไรไม่ได้ และสุดท้ายการออกกฎหมายห้ามนำเมล็ดพืชและต้นกล้าใดๆ ออกจากญี่ปุ่นเด็ดขาด (เว้นแต่ได้รับอนุญาต) ในปี 2020 นั้นก็น่าจะเป็นผลจากบทเรียนขององุ่นไชน์มัสแคทโดยตรง ซึ่งทุกคนที่รับรู้เรื่องราวมาตลอด ก็จะเห็นว่านี่คือนโยบาย 'ล้อมคอก' แบบแก้เขินของญี่ปุ่น เพราะกฎหมายนี้ก็ไม่สามารถหยุดการไหลบ่าขององุ่นไชน์มัสแคทจีนที่ออกมาในตลาดโลกอย่างเป็นภูเขาเลากาได้แต่อย่างใด

ที่มา : BrandThink
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่