หุ้นกู้ยืดจ่ายหนี้ 12 บริษัท 2.6 หมื่นล้าน ผิดนัดชำระ 1.8 พันล้าน ไม่กระทบวงกว้าง

”สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย“ เผย 9 เดือนแรกปีนี้ หุ้นกู้ยืดจ่ายหนี้ 12 บริษัท มูลค่ารวม 2.6 หมื่นล้าน ITD-EA สัดส่วน 70% ของมูลค่าหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ ด้านผิดนัดชำระหนี้แค่ 4 บริษัท มูลค่า 1.8 พันล้าน ไม่กระทบวงกว้างเหตุเป็นบริษัทขนาดเล็ก ชี้เทรนด์นี้มีโอกาสยังอยู่ต่อ แต่ปี 2568 หากเศรษฐกิจดีขึ้น หลายบริษัทมีกระแสเงินสดกลับเข้ามา หนุนการจัดหาสภาพคล่องจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นของหุ้นกู้น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้

วันที่ 7 ตุลาคม 2567 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) สถานการณ์ของหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ (Default) ไม่ว่าจะเป็นการผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย มีอยู่ประมาณ 4 บริษัท จำนวน 7 รุ่น ประกอบด้วย 1.บริษัท พี พี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท 2.บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด (CISSA) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 217 ล้านบาท 3.บริษัท ไอริส กรุ๊ป จำกัด (IRIS) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 859 ล้านบาท และ 4.บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 408 ล้านบาท

ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทขนาดเล็กและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย (Non-listed Company) มีมูลค่ารวมแค่ประมาณ 1,876 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปี 2566 ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ 22 รุ่น จากผู้ออก 5 บริษัท มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้จะมีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระหนี้ จำนวน 12 บริษัท มูลค่ารวม 26,890 ล้านบาท จำนวน 24 รุ่น ประกอบด้วย

1.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาช) (ITD) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 14,455 ล้านบาท
2.บริษัท สยามนุวัตร จำกัด (SNW) จำนวน 3 รุ่น มูลค่า 520 ล้านบาท
3.บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (GLOCON) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 300 ล้านบาท
4.บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JCK) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 612 ล้านบาท
5.บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) (PROEN) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 500 ล้านบาท
6.บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CGD) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 1,672 ล้านบาท
7.บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 389 ล้านบาท 
8.บริษัท เจซี เควิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (JCKD) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 375 ล้านบาท 
9.บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) (APCS) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 385 ล้านบาท 
10.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 6,200 ล้านบาท 
11. บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 912 ล้านบาท และ 
12. บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 570 ล้านบาท

โดยจะเป็นบริษัทผู้ออกที่เคยเลื่อนกำหนดชำระหนี้มาก่อน 4 บริษัท (SNW, JCK, JCKD, CGD) ส่วนที่เหลืออีก 8 บริษัท เพิ่งขอเลื่อนกำหนดชำระในปีนี้ ทั้งนี้หากเทียบปี 2566 ที่มีหุ้นกู้ขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ 37 รุ่น จากผู้ออก 14 บริษัท มูลค่ารวม 12,443 ล้านบาท

“บริษัทที่ขอเลื่อนกำหนดชำระ คือแทนที่จ่ายเงินต้นตามเวลาที่ครบกำหนด แต่ขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอยืดอายุหุ้นกู้ครบกำหนดออกไป 1-2 ปี รวมถึงบางบริษัทไม่ได้ครบกำหนดชำระเงินต้น แต่ครบกำหนดชำระดอกเบี้ย แต่มีเหตุขัดข้องเรื่องสภาพคล่องยังจ่ายไม่ได้ ก็ขอเลื่อนออกไป”

ทั้งนี้จะสังเกตเห็นว่าเฉพาะมูลค่าหุ้นกู้ ITD และ EA จะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่าหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ ซึ่งจากที่เคยสร้างความกังวลให้กับตลาด ปัจจุบันต้องถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลายลง เพราะ EA มีการเจรจาประชุมผู้ถือหุ้นกู้ไปครบทุกรุ่นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเชื่อว่าถ้าความเชื่อมั่นกลับคืนมา ในปี 2568 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะมีกระแสเงินสดที่เข้ามาจากการประกอบธุรกิจอยู่

“สำหรับบริษัทเหล่านี้จะเห็นว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในการรอถึงวันครบอายุแล้วพบว่าโรลโอเวอร์ไม่ได้ ส่วนใหญ่จะประกาศออกมาก่อนหลังจากดูแล้วตลาดไปไม่ได้ โดยบางบริษัทเตรียมแผนเพิ่มทุน เตรียมขายสินทรัพย์เพื่อเตรียมเงินสำรองไว้ล่วงหน้า ซึ่งเทรนด์การเลื่อนกำหนดชำระมีโอกาสยังอยู่ต่อ แต่เชื่อว่าหากภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะดีขึ้นในปี 2568 จะทำให้หลายบริษัทมีกระแสเงินสด (Cash Flow) กลับเข้ามา ผลประกอบการดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดหาสภาพคล่องจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นของหุ้นกู้น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน” นางสาวอริยากล่าว... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1669156

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่