รูปแบบการจ้างงานของราชการ

ช่วงนี้มีข่าวเรื่องคุณครูที่มีรายชื่อผ่านการสอบคัดเลือกให้เป็นพนักงานราชการครูแล้วชื่อหายไป แต่ในข่าวพูดผิดพูดถูกออกข่าวกันเต็มไปหมดเลย เลยจะมาแชร์ให้ฟังว่าราชการมีรูปแบบการจ้างงานแบบไหนบ้างเท่าที่เรารู้
รูปแบบที่ 1 ข้าราชการ : เป็นตัวท๊อปของสายงานราชการ มีสวัสดิการครบแบบจัดเต็ม เช่น เงินเดือน การประเมินเงินเดือนสองครั้งต่อปี การเลื่อนขั้น สิทธิ์บำเหน็จ/บำนาญ สิทธิ์เบิกจ่ายค่าเล่าเรียนบุตร สิทธิ์รักษาพยาบาลแบบเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง ครอบคลุมตัวเอง บิดา มารดา สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมาย บุตรธิดาอายุไม่เกิน 18 ไม่เกิน 2 คน สิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้าน (ถ้าตรงตามเงื่อนไข) สิทธิ์ลา 11 ประเภท สิทธิ์ค่าตอบแทนอื่น ๆ 
รูปแบบที่ 2 : ลูกจ้างประจำ : ในสมัยก่อนถูกเรียกว่าข้าราชการวิสามัญ สวัสดิการจะลดทอนมาจากข้าราชการคือ มีเงินเดือน มีการประเมินขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง มีสิทธิ์บำเหน็จบำนาญ เบิกได้หลายรายการคล้ายข้าราชการ รักษาพยาบาลด้วยสิทธิ์เบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ครอบคลุมตัวเอง บิดา มารดา สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมาย บุตรธิดาอายุไม่เกิน 18 ไม่เกิน 2 คน แต่ไม่มีการเลื่อนระดับ มีสิทธิ์ลาเช่นเดียวกัน แต่มีค่าตอบแทนที่น้อยกว่า 
รูปแบบที่ 3: พนักงานราชการ : เป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความคล่องตัวให้ส่วนราชการสามารถเพิ่ม ลด คนทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเป็นสัญญาจ้างงานครั้งละไม่เกิน 4 ปี ต่อายุได้เรื่อย ๆ ตัดสวัสดิการอื่น ๆ ออกทั้งหมด คงเหลือไว้เฉพาะการประเมินเงินเดือนสองครั้งต่อปี  แต่จะขึ้นแค่ครั้งเดียว ไม่มีสิทธิ์เลื่อนขั้น ไม่มีบำเหน็จบำนาญ ส่วนราชการถือเป็นนายจ้างส่งประกันสังคมให้ ดังนั้นจึงต้องใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลจากประกันสังคม ใช้เบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลางไม่ได้ เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากลูกจ้างประจำ ลดภาระผูกพันกับทางคลังลงโดยให้ค่าตอบแทนมากขึ้น มีสิทธิ์ลาน้อยกว่าข้าราชการ (มากกว่าทั้งข้าราชการและลูกจ้างประจำตอนแรกบรรจุแต่เงินเดือนก็ตันเร็วกว่าเพราะไม่มีการเลื่อนระดับ) ในบางหน่วยงานเช่นทหาร ให้สิทธิ์โควต้าสอบบรรจุข้าราชการทหารเป็นพิเศษให้กับบุคคลกลุ่มนี้
รูปแบบที่ 4 : ทหารอาสา : รูปแบบการจ้างงานใกล้เคียงกับพนักงานราชการคือสัญญาจ้างครั้งละ 4 ปี แต่ต่อได้แค่ครั้งเดียว เมื่อสิ้นสุดได้สิทธิ์โควต้าสอบบรรจุข้าราชการทหาร มีการประเมินเงินเดือน มีชั้นยศแต่ต้องคืนเมื่อปลดประจำการ มีเงินตอนออกจากงานคล้ายบำเหน็จ รักษาพยาบาลด้วยสิทธิ์กรมบัญชีกลาง (ไม่แน่ใจ) 
รูปแบบที่ 5 : พนักงานของรัฐ :เป็นรูปแบบการจ้างงานของหน่วยงานที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ มีฐานเงินเดือนที่สูงกว่า ขึ้นเงินเดือนมากกว่า และบางที่มีโบนัส มีค่าตอบแทนบางรายการเป็นระเบียบแยกออกมา ไม่มีบำเหน็จบำนาญ แต่มีกองทุนเป็นของตัวเองที่ดูแลสวัสดิการพวกนี้ และเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีการประเมินขึ้นขั้นได้ 
รูปแบบที่ 5: จ้างเหมาบริการ : เป็นการจ้างเหมือนจ้างทำของ สวัสดิการแย่ คนที่อยู่จุดนี้มักเป็นเด็กจบใหม่เพื่อรอไปสอบบรรจุหรือหางานที่ดีกว่า หรือพ่อแม่ที่มีเส้นสายพาเข้ามา ลักษณะการทำงานคือตกลงกันว่าให้ทำอะไรบ้าง แล้วก็ทำตามนั้น ไม่ได้มีสวัสดิการในฐานพนักงาน กล่าวคือไม่มีการประเมินเงินเดือน ได้เท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น ไม่มีประกันสังคม ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน โดยปกติได้เงินเดือนตามคุณวุฒิ ไม่ต้องอนุมัติโครงสร้างบุคลากรจากส่วนกลาง
รูปแบบที่ 6: อัตราจ้าง : เป็นการจ้างงานที่แย่ที่สุดพวกที่เราเคยได้ยินข่าวว่า จ้างครูอัตราจ้าง วุฒิปริญญาตรี เงินเดือน 5000 บาท เป็นต้น เป็นการลักไก่เนื่องจากจำเป็นต้องใช้บุคลากรแต่ไม่มีงบสนับสนุนจึงต้องเล่นแร่แปรธาตุโดยการออกผ้าป่ามาเป็นค่าจ้างบ้าง อะไรบ้าง และเนื่องจากเงินเดือนต่ำกว่าที่กฏหมายกำหนดจึงไม่มีสถานะเป็นพนักงานเช่นกัน (ผิดกฏหมาย) จึงไม่มีประกันสังคม ไม่มีขึ้นเงินเดือน ไม่ต้องอนุมัติโครงสร้างบุคลากรจากส่วนกลาง
* ในข่าวคุณครูสอบในรูปแบบพนักงานราชการ คือมีสวัสดิการที่ดีในระดับหนึ่ง และพอมีเรื่องที่จะปลอบใจทำขวัญด้วยการจ้างในรูปแบบอัตราจ้าง ซึ่งมีสวัสดิการที่แย่ที่สุด ซึ่งกรณีนี้จ้าง 15800 บาท โดยอิงตัวเลขมาจากเงินเดือนข้าราชการครูเมื่อปีที่แล้ว (ตอนนี้ปรับขึ้น 10%) 
** ไม่มีการจ้างงานที่ชื่อว่า พนักงานข้าราชการ จะมีแค่ พนักงานราชการ หรือข้าราชการ ไปเลย
*** ระบบราชการควรมีหน่วยงานที่ 3 เข้ามาตรวจสอบการสอบคัดเลือกบุคคล เช่นข้าราชการพลเรือนมี กพ. เป็นผู้ตรวจสอบความรู้เบื้องต้น (ภาค ก) และคุณวุฒิ แต่พนักงานราชการ ลูกจ้าง เป็นอำนาจของแต่ละส่วนราชการจัดสอบกันเอง จึงมีข้อครหาว่ามีตัวอยู่แล้ว ช่วยลูกหลานกันเอง
**** การจ้างงานของราชการไม่ใช่สิ่งที่ให้เพื่อการปลอบใจ แต่เป็นการมอบสวัสดิการและอำนาจของรัฐให้เขาทำงาน ถ้าเขามีความสามารถเขาก็ควรได้ตามที่เขาสอบ ถ้าเขาไม่มีก็ไม่ควรได้สวัสดิการอะไรทั้งนั้น
***** งานเอกสารของราชการเป็นการให้คุณให้โทษกับคน เป็นการใช้อำนาจรัฐ มันไม่มีหรอกที่จะทำพลาดกันได้ง่าย ๆ ธุรการร่าง หัวหน้าขั้นต้นตรวจ หน้าห้อง ผอ.ตรวจอีกครั้ง หรือถ้าไม่มีหน้าห้องก็มา ผอ.เลย อย่างน้อยก็ต้องมี 3 คนช่วยกันดู ทั้ง 3 คนต้องรับผิดชอบทั้งนั้น ผมเองก็โดนหัวหน้าดุประจำเรื่องการพิมพ์เอกสาร แต่มันก็คือหน้าที่เขาเพราะเขาก็เซ็นรับผิดชอบงานของเราไปพร้อมกันนั่นแหละ ถ้าผิดจริงก็ต้องลงโทษอย่างหนักตามระเบียบเพื่อกู้ศรัทธาคืน
****** ข้อมูลรวบรวมจากประสบการณ์ที่ตัวเองคลุกคลีกับระบบราชการมาสักพักหนึ่ง อาจมีขาดบ้าง ไม่ตรงบ้างก็บอกกันนะ อย่าด่าผม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่