พลิกโฉม 6,500 ไร่ อู่ตะเภา สู่แอร์พอร์ตซิตี้ สถานบันเทิงครบวงจร 24 ชั่วโมง

กาสิโน เอาแน่นะวิ เพี้ยนหัวเราะ

อู่ตะเภา – วันที่ 19 มิถุนายน 2563 นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) จับปากกาเซ็นสัญญากับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นการร่วมทุนของสองเจ้าสัว และยักษ์รับเหมา ระหว่าง บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC)
ผู้คว้าสัมปทานร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ โดยทุ่มจ่ายผลตอบแทนให้รัฐถึง 305,555 ล้านบาท แลกสัมปทาน 50 ปี เพื่อสร้างอาณาจักรแห่งใหม่เป็นเกตเวย์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ใน “มาสเตอร์แพลน” การพัฒนาโครงการมีองค์ประกอบหลัก อาทิ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง ความยาว 3,500 เมตรรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด มีหลุมจอด อากาศยานรวม 124 หลุมจอด อาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี
ระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัยภายในอาคาร เช่น ระบบเช็กอินอัตโนมัติ ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติหรือรถไฟ APM คลังสินค้า และฟรีเทรดโซน พื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร รองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี เป็นต้น

นอกจากองค์ประกอบหลักยังมีองค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็นฮับการบินของโครงการ โดยพัฒนาพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ เป็นแอร์พอร์ตซิตี้ มีพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร พัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า เมดิคอลฮับ และออฟฟิศสำนักงาน
ยังมีพื้นที่คอมเมอร์เชียลเกตเวย์ 430,000 ตารางเมตร ตั้งเป้าจะใหญ่กว่าสยามพารากอนประมาณ 3 เท่า มีห้างสรรพสินค้า ดิวตี้ฟรี โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า และลักเซอรี่เอาต์เลต พื้นที่คาร์โก้และฟรีเทรดโซน 419,000 ตร.ม. จะเป็นพื้นที่ฟรีเทรดโซนที่สมบูรณ์ด้วยบริการแบบเบ็ดเสร็จ

ตามแผนแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 เฟส 
โดยเฟสที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
เฟสที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี
เฟสที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
เฟสที่ 4 ระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่2 เพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ เช็คอินแบบอัตโนมัติ เพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด กระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ทำให้ต้องเขย่าพิมพ์เขียวใหม่ ซอยการพัฒนาจาก 4 เฟส เป็น 6 เฟส โดยเฟสที่ 1 มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 2 จำนวน 15.9 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 3 จำนวน 22.4 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 4 จำนวน 30 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 5 จำนวน 45 ล้านคนต่อปี และเฟสที่ 6 จำนวน 60 ล้านคนต่อปี

เพื่อให้รองรับผู้โดยสารของแต่ละระยะสอดคล้องกับประมาณการผู้โดยสารที่เปลี่ยนไป ในระยะแรกจะพัฒนาให้งานหลักให้รองรับผู้โดยสาร ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคนต่อปี และจะลงทุนในระยะถัดไปในเฟสที่เหลือ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึง 80 % แต่ยังกำหนดเป้าหมายให้สนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสารในปีสุดท้ายได้ 60 ล้านคนต่อปีเท่าเดิม

ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายให้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว สปอร์ตคลับและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ดัน “สนามบินอู่ตะเภา”เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่…) พ.ศ….. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ  โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองการบิน 6,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในเขตอีอีซี ให้เปิดสถานบริการได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหลับไหล

รองรับแนวทางการส่งเสริมการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ในเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่อีอีซี หลังได้รับความเห็นชอบจาก“ครม.”ไปในปี 2565
เมื่อรัฐบาลไฟเขียว จะสร้างความมั่นใจ เพิ่มแรงจูงใจต่อนักลงทุนต่างชาติที่เอกชนผู้รับสัมปทานต้องการดึงเข้ามาลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่าขายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง

ล่าสุดได้บรรจุ “สนามแข่งรถฟอร์มูล่าวัน” เพิ่มเข้าไปในพิมพ์เขียว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้มีรายได้สูง ซึ่งอาจเช่าเหมาลำเครื่องบินมาจากต่างประเทศ และนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่นี้ จะเกิดการกระตุ้นการเดินทาง และสร้างรายได้มากขึ้น
“วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยว่า ขณะนี้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บนเนื้อที่ 6,500 ไร่ อยู่ระหว่างออกแบบและพัฒนาคอนเซ็ปต์ของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีเป้าหมายจะให้เมืองการบินอู่ตะเภาเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก คาดว่าจะเริ่มเดินหน้าโครงการได้ในปี2568 เป็นต้นไป

“ในส่วนของเมืองการบิน จะมีเนื้อที่ประมาณ 1,200-1,500 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ล่าสุดเราได้นำสนามแข่งรถฟอร์มูล่า 1 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล เข้ามาบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาในเฟสแรกด้วย ซึ่งพื้นที่อยู่รอบนอกสนามบิน และนอกเขตการบิน คาดเปิดบริการปี 2571 พร้อมกับสนามบิน” วีรวัฒน์กล่าว

พร้อมอธิบายว่าภายในโครงการเมืองการบินยังประกอบด้วยหลายส่วนที่เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาทิ งานแสดงสินค้าและการจัดประชุม (MICE) พื้นที่ 230,000 ตารางเมตร ,อารีน่า 12,000 ที่นั่ง,ศูนย์การค้าระดับโลกกว่า 160,000 ตารางเมตร,โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ระดับ3-6 ดาว ขนาด 7,650 ห้อง ,เมดิคัลฮับ,สำนักงานเกรดเอ เป็นต้น โดยจะเปิดให้บริการสำหรับนักเดินทางตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการลงทุน ส่วนสถานบันเทิงนั้น ยังไม่ได้มีการพูดถึงในขณะนี้

แม้ซีอีโออู่ตะเภา จะยังไม่เฟิร์ม แต่มีข่าวสะพัดหนาหูว่ากลุ่มบีทีเอสเตรียมดึงทุนยักษ์จากดูไบเข้ามาลงทุน
ขณะที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” ก็ได้ปักหมุดให่ “อู่ตะเภา” เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไว้บนแผนที่โลกแล้ว
ล่าสุดระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ….ผ่านอนุมัติ ได้มียักษ์ต่างชาติแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุน
ไม่ว่าบริษัท เอ็มจีเอ็ม รีสอร์ตส อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์,กาแลกซี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ , แซนด์ส ไชน่า ,วินน์ มาเก๊า และกลุ่ม Las Vegas Sands Corporation เป็นต้น เช่นเดียวกับนักลงทุนไทยก็ซุ่มศึกษาอภิมหาโปรเจ็กต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นี้ เช่นกัน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/economy/news_4791595

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่