ว่าด้วยเรื่องน้ำท่วมเชียงราย 2567 vs น้ำท่วม กทม. 2554

จากข่าวน้ำท่วมเชียงรายทั้งในตัวอำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอแม่สาย มีข้อสังเกตคือ น้ำมาเร็วไปเร็ว แต่ภาพที่เห็นติดตาคือ กลุ่มเปราะบาง หรือแม้กระทั่งคนปกติเอง ออกมาไม่ได้ และกว่ากู้ภัยจะเข้าไปช่วยก็ใช้เวลานานมาก เช่นกรณี เจ้าของเขียงหมูที่เห็นข่าวเกาะเต็นท์ และต้องขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 ของอาคารพาณิชย์ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ กลุ่มวัยรุ่น 6 คน ที่เดินหนีน้ำออกจากที่พัก และโดนน้ำพัดหายไป 4 คน อีก 2 คนเกาะรั้วบ้านแถวนั้นจนกู้ภัยเอาเรือมารับได้ และระยะเวลาการท่วมจะอยู่ไม่เกิน 7 วัน แต่ภาพที่เห็นคือโคลนตม ภาพรถที่จมน้ำ และอีกกรณีคือ การขอความช่วยเหลือเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นตัวชี้วัดว่าน้ำมาเร็วมาก ทำให้ไม่ได้เตรียมการเรื่องอาหารแห้ง ที่ต้องกินตอนน้ำท่วม ทำให้ผมนึกถึงตอนปี 2554 ที่เจอกับตัวเอง ตอนนั้นคิดว่า แถวรังสิต ดอนเมือง สายไหม ลำลูกกา ไม่น่าท่วมนาน และมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า จนผมต้องไปซื้ออาหารกระป๋อง อาหารแห้ง มากักตุนไว้ เพราะคาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมไม่เกิน 10 วัน เอาเข้าจริงๆ ร่วมๆ 2 เดือน จนต้องหนีไปอยู่ต่างจังหวัด วันก่อนดูข่าวทีวีช่องหนึ่งมาทำข่าวแถวประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เขาสัมภาษณ์ชาวบ้านแถวนั้น ได้ความว่า ถ้าน้ำมา ขอให้น้ำไปเร็วๆ 7 วันก็มากพอแล้ว ตอนปี 2554 โดนไป 3 เดือน หมดค่าซ่อมบ้านไป 3 แสนบาท

คำถามผมก็คือ ทำไมน้ำท่วมต่างจังหวัด เวลาท่วมทีเรียกว่ามาเร็วไปเร็ว แต่น้ำท่วม กทม.และ/หรือปริมณฑล เวลาท่วมทีเรียกว่า ท่วมแล้ว ท่วมอยู่ ท่วมต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่