เตรียมแก้กฏหมายเก็บภาษีต่างประเทศโดยไม่ต้องนำเงินเข้า

กระทู้สนทนา
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมาย และเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ตามหลักการ Pillar 2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15%
* จ่อแก้กม.ผู้มีเงินได้จากตปท. และพำนักในไทยเกิน 180 วัน ต้องเสียภาษี
           อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวด้วยว่า กรมสรรพากร อยู่ระหว่างปรับแก้ไขกฎหมายให้บุคคลผู้มีเงินได้จากต่างประเทศ และพำนักอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วัน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากปัจจุบันที่หากมีเงินได้จากต่างประเทศ และเมื่อได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทย จึงค่อยเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักการของ World Wide Income ว่าไม่ว่าบุคคลจะมีรายได้จากที่ใด แต่หากมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศนั้นเกินกว่า 180 วัน ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะนำเงินได้เข้ามาในประเทศแล้วหรือไม่
          "ตามหลักของ World Wide Income เมื่อมีรายได้ และอยู่เกิน 180 วัน มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งในปัจจุบันหากยังไม่นำเงินเข้ามาก็จะยังไม่ถูกเก็บภาษี แต่เรากำลังจะแก้กฎหมายเป็นว่า ไม่จำเป็นต้องนำเงินเข้ามา แต่ก็ต้องเสียภาษี หากมีเงินได้จากต่างประเทศ และอยู่ในไทยเกินกว่า 180 วัน ตอนนี้กำลังร่างกฎหมาย และจะเร่งเสนอกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรม จะพยายามให้เริ่มใช้ในปี 68" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
 
*มั่นใจปีงบฯ 67 จัดเก็บรายได้เข้าเป้า 2.27 ล้านลบ.    
          น.ส.กุลยา กล่าวถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 68 อยู่ที่ 2.372 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีงบประมาณ 67 ขณะที่ช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 (ต.ค.66-ส.ค.67) สามารถจัดเก็บรายได้ได้แล้ว 1.963 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ 8,482 ล้านบาท หรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,911 ล้านบาท หรือ 2.5% พร้อมมั่นใจว่าทั้งปีงบประมาณ 67 จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าที่ 2.27 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน
          สำหรับการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เช่น มาตรการ Easy E-Receipt ในช่วงต้นปี 67 และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ที่เป็นแรงส่งให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ ยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.7%
          "เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น การจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นสะท้อนกิจกรรมเศรษฐกิจที่ดึ้น โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี คือ Easy E-Receipt เป็นการช่วยกระตุ้นการบริโภคเอกชน รวมถึงมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว...ตอนนี้เหลืออีก 1 เดือนของปีงบ 67 ก็มั่นใจว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้า" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
          น.ส.กุลยา กล่าวต่อว่า กรมสรรพากร ได้เดินหน้าสานต่อนโยบาย "oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM" ตามที่ปลัดกระทรวงการคลังได้ริเริ่มไว้ ทำภาษีให้ง่าย และไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นปี 68 โดยกรมสรรพากร จะยกระดับบริการทางภาษี และแสดงข้อมูลทางภาษีให้ครบถ้วน ด้วยการเปิดให้บริการ One Portal : My Tax เริ่มให้บริการกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต่อยอดการกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น
          นอกจากนี้ กรมสรรพากร ยังคงให้ความสำคัญในการเสนอแนะและจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย Low-Value Goods รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่