การปฏิรูปราชการ และ ปฏิรูปการจัดงบประมาณแผ่นดิน ตามแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ของ คุณพ่อสุขวิช รังสิตพล

กระทู้สนทนา

บทความพิเศษ : แผนฯ 8 คืออะไร?

บทความพิเศษ เรื่อง แผนฯ 8 คืออะไร แนวทางการชี้แจงทำความเข้าใจกับปรัชญาหลัก ตลอดจนวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ซึ่งมีพระบรมราชโองการประกาศใช้แล้วนั้นคือ แผนปฏิรูปสังคม* โดยเอาคนและสังคมเป็นตัวตั้งและใช้ความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในสังคมเป็นเครื่องมือให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในปรัชญา เจตนารมณ์ หลักการ และแนวทางของแผนฯ 8 ได้มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงเห็นควรสรุป แผนฯ 8 อย่างง่าย ๆ ให้พิจารณากันสะดวกยิ่งขึ้น

1. แผนฯ 8 เป็นแผนชี้นำ ไม่ใช่พิมพ์เขียว
- แผนฯ 8 มาจากการร่วมคิดของหลายฝ่าย จากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ได้กำหนดมาจากภาคราชการฝ่ายเดียว ไม่ได้เป็นแผนที่ สศช. เขียนขึ้นมากับนักวิชาการหรือข้าราชการไม่กี่คนเพื่อให้รัฐบาลประกาศใช้เป็นแผน

- แผนฯ 8 ไม่ได้กำหนดจากข้างบน เป็นพิมพ์เขียวสั่งการให้ข้างล่างทำแผนปฏิบัติการไม่มีการระบุรายละเอียดภาคปฏิบัติ เป็นเพียงการวางกรอบ

- แผนฯ 8 เป็นเพียงการชี้นำจุดมุ่งหมาย เป้าหมายของสภาพที่พึงปรารถนาในอนาคต รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานตลอดจนวิธีการบริหารจัดการ เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคม ทั้งภาครัฐด้วยกัน และภาครัฐร่วมกับภาคสังคมได้ใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการ ในขั้นรายละเอียดร่วมกัน

- แผนฯ 8 ต้องการให้ผู้วางแผนกับผู้ปฏิบัติการตามแผนฯ เป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพราะถือว่าการสร้างกระบวนการวางแผนในลักษณะร่วมคิด
 ร่วมทำ ร่วมติดตามประเมินผล เพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ที่กำหนดไว้ร่วมกันได้

2. การชี้นำจุดมุ่งหมายสุดท้ายของการพัฒนา

- จุดมุ่งหมายรวมขั้นสุดท้ายของการพัฒนาตามแผนฯ 8 ก็คือการพัฒนาให้คนไทยทุกคนเป็นคนเก่ง-คนดี-คนมีความสุข สามารถก้าวมั่นทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ได้

- แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะจุดมุ่งหมายการพัฒนาคนให้เก่งเฉพาะแค่การเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ วัดด้วยผลผลิตประชาชาติหรือ GNP หรือรายได้ต่อหัวแต่อย่างเดียวอย่างแต่ก่อน

- โดยสรุปแผนฯ 8 ชี้นำว่า ในการไปร่วมกันแปลงแผนออกสู่ภาคปฏิบัติในรูปของการกำหนดแผนงาน โครงการมาตรการต่าง ๆ ในขั้นรายละเอียดนั้น ควรคำนึงถึงการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย ทำให้ประชาชนเป็นคนเก่งขึ้น มิใช่แค่เป้าหมายการเพิ่มผลผลิตแต่เพียงอย่างเดียว

- อาจมีการโต้แย้งว่าจุดมุ่งหมายการพัฒนาให้เป็นคนเก่ง-คนดี-คนมีความสุข ดูออกจะเป็นนามธรรม จะวัดกันด้วยอะไร เพราะตัวเลข GNP รายได้ต่อหัว ที่ใช้เป็นเครื่องวัดผลการพัฒนาดูจะชัดเจนเป็นรูปธรรมดีอยู่แล้ว

- ตอบว่าถ้าจะสนใจวัด ก็วัดได้ไม่ยาก สามารถสร้างเครื่องชี้วัดขึ้นมาวางเป้าหมายและติดตามประเมินผลได้ เช่น

คนเก่ง วัดด้วยเครื่องชี้วัดประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่ม output per unit of input หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Total Factor Productivity ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปความเก่งของคนไทยจะต้องวัดกันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร จากการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในระดับสูงขึ้น เพื่อให้ผลผลิตต่อหน่วยของแรงงานที่ใช้เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ มิใช่มาจากการใช้แรงงานเท่าเดิม ผลผลิตเท่าเดิม หรือใช้แรงงานมากขึ้นแต่ผลผลิตเท่าเดิม ผลการวิจัยในปัจจุบันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ประสิทธิภาพการผลิตของไทยลดลงเรื่อง ๆ ในอดีตผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 100 หน่วย มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรถึง 41 หน่วย ปัจจุบันผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 100 หน่วย มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพียง 20 หน่วย การเพิ่มขึ้นของผลผลิตที่เหลืออีก 80 หน่วย เกิดจากการใช้ปัจจัยการผลิตเพิ่มเข้าไปเรื่อย ๆ (จนถึงจุดที่ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ (Diminishing return) แล้ว)

คนดี แม้ว่าจะเป็นเรื่องของนามธรรมเกี่ยวกับจิตใจ เราไม่อาจไปล่วงรู้ได้ว่ามีใครถือศิลกินเจ นั่งวิปัสนากรรมฐาน บรรลุโสดาบันไปแล้วสักกี่คน แต่ในแง่ชีวิตประจำวันของชาวบ้านก็พอวัดกันได้ ด้วยเครื่องชี้วัดมากมาย เช่น จำนวนอาชญากรรมที่ลดลง คดียาเสพติดที่ลดลง คดีข่มขืนที่ลดลง มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม ดูแลสิ่งแวดล้อม เคารพกฎจราจรมากขึ้น เป็นต้น

คนมีความสุข ความสุขก็เป็นเรื่องที่วางกฎเกณฑ์ทั่วไปยาก เพราะแต่ละคนมีมาตรฐานความสุขไม่เหมือนกัน แต่ในแง่ทั่ว ๆ ไปขั้นพื้นฐานคนเราจะมีความสุขได้อย่างน้อยต้องมีสองอย่าง คือมีเงิน มีรายได้พอเพียงกับการครองชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

- รายได้ นักเศรษฐศาสตร์ก็คุ้นกันดีอยู่แล้วในการพัฒนาเครื่องชี้วัด การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว การกระจายรายได้ที่แท้จริง (ไม่คิดเงินเฟ้อ) คนเก่งคือคนที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และมีค่าตอบแทนในรูปรายได้สูงขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ค่าจ้างเพิ่มตามการเพิ่มของ productivity)
- คุณภาพชีวิต วัดได้ด้วยเครื่องชี้วัดมากมาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บที่ลดลง สุขภาพจิตที่ดีขึ้น มลพิษลดลง ครอบครัวอบอุ่น ไม่แตกแยกหย่าร้าง อยู่ในชุมนุมเข้มแข็ง เอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน

- นักเศรษฐศาสตร์...กำลังหาทางนำเครื่องชี้วัด ดี-เก่ง-มีความสุข มาคำนวณรวมเป็นมูลค่าเพิ่มของผลผลิตส่วนรวมแบบ GNP เป็น HNH หรือ Gross National Happiness กันอยู่

- ขณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์กำลังหาทางสร้างเครื่องชี้วัด ดี-เก่ง-มีความสุขของสังคมส่วนรวม ให้เป็นตัวเลขเดียว ด้วยการปรับปรุงวิธีการคิดมูลค่าเพิ่มแบบ Gross National Product ให้เป็น Gross National Welfare หรือ Gross National Happiness กันอยู่เหมือนกัน

3. แผนฯ 8 ชี้นำการสร้างค่านิยม (Core value) และแนวทางในการดำเนินงานไปสู่จุดมุ่งหมาย
- ค่านิยมใหม่ เนื่องจากจุดมุ่งหมายการพัฒนาที่กำหนดขึ้นร่วมกันให้คนไทยเป็นคนเก่ง-คนดี-มีสุข เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน แยกกันเป็นเรื่อง ๆ ไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิดของทุกฝ่ายในสังคมในการพัฒนา จากความคิดแบบแยกส่วน ขาดความเชื่อมโยงเกื้อกูลต่อกัน มาเป็นการคิดเป็นรวมส่วน บูรณาการ เชื่อมโยงเกื้อกูลต่อกันในทุกมิติการพัฒนา เพื่อให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง
- แนวทางหรือยุทธศาสตร์ แผนฯ 8 ชี้นำอีกว่าในการดำเนินการไปสู่จุดมุ่งหมาย คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาตามค่านิยมหรือวิธีคิดแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกันทุกมิติ จำเป็นจะต้องมีแนวทางการพัฒนาแบบเชื่อมโยงกันทุกมิติเช่นกัน คือการชี้นำแนวทางการพัฒนาทั้งคน และทั้งระบบรอบตัวคนไปพร้อม ๆ กัน โดย
- พัฒนาคนให้เต็มศักยภาพ เพื่อให้สามารถกำหนดเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่พึงปรารถนาได้
- พัฒนาระบบที่อยู่รอบตัวคนให้เอื้อต่อคน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
- ในแผนฯ 8 จึงได้มีการพูดถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา การสร้างคุณค่าจิตสำนึกใหม่ ควบคู่กันไป รวมทั้งแนวทางการพัฒนาระบบที่อยู่รอบตัวคน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูประบบรัฐ ระบบเศรษฐกิจมหภาคการเงิน การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นทั้งเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็ง ระบบการบริหารจัดการให้เอื้อต่อการพัฒนาคนมากยิ่งขึ้น

4. แผนฯ 8 วางกลไกการแปลงแผนออกสู่ภาคปฏิบัติโดยการยึดพื้นที่ ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
- การพัฒนาประเทศ มุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนให้เป็น คนดี-คนเก่ง-คนมีความสุข เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในทุกมิติพร้อม ๆ กันไปทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการที่ดีเป็นเรื่องของการที่จะต้องพัฒนาคนให้เกิดศักยภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อคน ดังนั้น กลไกการพัฒนาแบบพัฒนาเป็นส่วน ๆ เป็นเรื่อง ๆ แยกความตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานหรือแยกตามรายสาขาการพัฒนา เช่น สาขาเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน ฯลฯ นั้นไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการหรือกลไกการพัฒนาที่ยึดพื้นที่หรือชุมชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แทนที่จะยึดหน่วยงานหรือยึดหน้าที่ของหน่วยงานดังแต่ก่อน
- แผนฯ 8 มีจุดเน้นในเรื่องการปรับกลไกการบริหารจัดการให้เป็นระบบ โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและมีขั้นตอนที่เหมาะสม มีการพัฒนาแบบองค์รวมในแนวราบโดยยึดพื้นที่ชุมชนเป็นเป้าหมาย ยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งผลก็คือจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่อง (Interact) ในหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และจะมีส่วนทำให้การพัฒนาสังคมสามารถขับเคลื่อนไปได้ (Social Movement)

- การแปลงแผนฯ 8 ลงสู่ภาคปฏิบัติโดยยึดพื้นที่ชุมชนเป็นศูนย์กลางจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยการผนึกกำลังกันทุกฝ่าย ร่วมเป็นภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ของเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและองค์กรต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ประชาชนและชุมชน

*การปฏิรูปสังคม (Social reform) มีความหมายกว้างกว่าการพัฒนาในสาขาสังคม (Social sector) ซึ่งมีความหมายแคบเฉพาะในด้านการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม เท่านั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่