SCB นำทีมปรับโครงสร้างหนี้ EA เลื่อนหุ้นกู้ไปปีหน้า-ดิ้นหาผู้ร่วมทุนใหม่

กระทู้คำถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้ทำหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ รุ่น EA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ และ รุ่น EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในวันที่ 14 ส.ค. โดยมีการแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้า ว่าจะมีการขอเลื่อนกำหนดการไถ่ถอนหุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดชำระออกไป โดยรุ่น EA248A ขอเลื่อนออกไป 10 เดือน 15 วัน ไปครบกำหนดชำระในวันที่ 30 มิ.ย. 2568 ส่วนรุ่น EA249A ขอเลื่อนออกไป 9 เดือน 1 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 29 ก.ย. 2567 นี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด พร้อมกับมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รุ่น EA248A อีก 1.89% ต่อปี จากเดิมดอกเบี้ยคงที่ 3.11% ต่อปี เป็น 5% ต่อปี และรุ่น EA249A อีก 1.8% ต่อปี จากเดิมอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.2% ต่อปี เป็น 5% ต่อปี
งในหนังสือดังกล่าวบริษัทได้ยืนยันและรับรองว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัท ยังคงเป็นไปตามปกติ โดยไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ และบริษัทเชื่อมั่นว่า ภาพรวมของการประกอบธุรกิจของบริษัท ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมีรายได้เข้ามายังบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
โดยแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้และดอกเบี้ย จะมาจาก (1) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกระแสเงินสดหลักให้กับบริษัท                                         
2) เงินทุนที่ได้รับจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner(s) ที่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งขณะนี้บริษัท “อยู่ระหว่างเจรจา” และ พิจารณาคัดเลือก Strategic Partner(s) เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
(3) การจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ
ล่าสุด EA ได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ โดยแต่งตั้งนายฉัตรพล ศรีประทุม ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน นายสมใจนึก เองตระกูล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่เพิ่งแต่งตั้งไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ นายสมใจนึก ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการเช่นเดิม.
ขณะเดียวกันยังแต่งตั้งนายวสุ กลมเกลี้ยง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) และแต่งตั้งนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทแทน นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ กรรมการที่ลาออก ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้ EA รายหนึ่ง เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาของ EA นั้น ธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะเป็นแบงก์หลักที่ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาทำดีลปรับโครงสร้างหนี้ โดยล่าสุดได้เจรจานำหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นของ บลจ.แอสเซท พลัส (Asset Plus) เข้ามารวมอยู่ในหนี้แบงก์แล้ว เพื่อยืดระยะเวลาจ่ายหนี้ออกไปเป็น 3 ปี
โดยแลกกับการชำระหนี้จากกระแสเงินสด (Cash Flow) ในการดำเนินงานของ EA ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรายเดือน จำนวน 36 เดือน เพื่อไม่เป็นการกดดันให้ EA จะต้องสูญเสียกระแสเงินสดให้กับการจ่ายตั๋วเงินในระยะสั้น ๆ ข้อดีก็คือมีโอกาสได้เงินคืนสูงในอนาคต
“ส่วนหนี้หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดปีนี้ การขอเลื่อนออกไป ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการปรับโครงสร้างเหมือนบริษัทอื่น ๆ ในการพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า SCB และ EA ที่มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปรับโครงสร้างให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป โดยนำสินทรัพย์ทุกอย่างมากองและแก้ปัญหาหนี้หุ้นกู้ไปทีละเปลาะ เห็นร่องรอยของความพยายาม อย่างหุ้นกู้รุ่น EA248A ก็มีการเพิ่มหลักประกัน”
สำหรับหลักประกันที่เพิ่ม ได้แก่ 1.การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจสิทธิ.
เรียกร้องภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัทย่อยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรวม 5 สัญญา สิทธิในบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ให้หลักประกันแต่ละราย ซึ่งรับเงินค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรโรงไฟฟ้า (กังหันลม) ของผู้ให้หลักประกันแต่ละรายให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
2.การจำนองอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทย่อยของ EA ทั้ง 5 แห่งให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
“เหล่านี้เห็นถึงความพยายามของ EA เพราะถ้ารอดจะ Win-Win เพราะแบงก์เจ้าหนี้ทุกรายก็จะรอด รวมถึงลูกหนี้รายย่อยด้วย เพราะบริษัทไม่ได้กลวง มีสินทรัพย์อยู่ประมาณหนึ่ง ส่วนแผนหาผู้ร่วมทุน อาจจะยังเป็นไปได้ยากหน่อย” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่อีกแห่งกล่าวว่า ตอนนี้แบงก์เจ้าหนี้พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกันอยู่ โดยล่าสุดได้มีการนำหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นเข้ามารวมกับหนี้เงินกู้ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากแบงก์ปล่อยสินเชื่อในลักษณะโครงการ มีหลักประกัน ประกอบกับ EA ยังมีโรงไฟฟ้า ซึ่งมีรายได้ประจำจากการขายไฟอยู่ น่าจะสามารถชำระหนี้ได้
“แบงก์เจ้าหนี้พยายามแก้กันอยู่ Restructuring กันไป เพราะเราปล่อยเป็นโปรเจ็กต์ มีหลักประกัน แก้ไม่ยาก แล้วบริษัทก็ยังมีรายได้จากโรงไฟฟ้า จะคล้ายกับกรณีการบินไทยที่ยังมีทรัพย์สิน ก็ขายชำระหนี้กันไป”... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1621939

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่