ขอแสดงความยินดี ทีมไทยคว้าชัยจากการแข่งขัน RoboCup Eindhoven 2024

ขอแสดงความยินดีกับทีมไทยที่ได้รับรางวัล ในการแข่งขัน RoboCup Eindhoven 2024 โดยมีรายระเอียดตามประเภทการแข่งขันดังต่อไปนี้
 RoboCupRescue League – รางวัลที่ 1
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย IRAP ROBOT มจพ. ตัวแทนประเทศไทยคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย WORLD ROBOCUP RESCUE 2024 สมัยที่ 10

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2024 ระหว่างวันที่ 16-21 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ประจำปี 2567 World RoboCup Rescue 2024 เป็นสมัยที่ 10 ให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ และพ่วงอีก 2 รางวัล ได้แก่ BEST IN CLASS MOBILITY (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก) และ BEST IN CLASS Dexterity (รางวัลสมรรถนะการทำงานแขนกลยอดเยี่ยมระดับโลก) ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทั้งนี้จากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. จากประเทศไทยที่สามารถคว้าแชมป์โลกได้นั้น ได้คะแนนสูงสุด 1076 คะแนน
 
ส่วนรองแชมป์โลกอันดับ 2 ทีม Shinobi ประเทศญี่ปุ่นได้คะแนน 921 คะแนน 

และรองแชมป์โลกอันดับ 3 ทีม Alert ประเทศเยอรมัน ได้ 825 คะแนน จากทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 20 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ 1. เยอรมัน 2. ญี่ปุ่น 3. ฝรั่งเศส 4. จีน 5. เกาหลีใต้ 6. ออสเตรีย  7. สวิสเซอร์แลนด์ 8. เม็กซิโก 9. บังคลาเทศ และ 10. ไทย ทั้งนี้รอบชิงชนะเลิศมีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 6 ทีม ดังนี้ 1. iRAP Robot ไทย  2. Shinobi ญี่ปุ่น 3. Solidus สวิสเซอร์แลนด์ 4. Alert เยอรมัน 5.Quix ญี่ปุ่น  6. Hector เยอรมัน
           
ทั้งนี้ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย IRAP ของ มจพ. ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสร้างหุ่นยนต์และเดินทางไปแข่งขัน โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  สมาคมศิษย์เก่า มจพ. ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย
​          
ประชาชนชาวไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีกับทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ที่สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ประจำปี 2567 (World RoboCup Rescue 2024)  และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  (มจพ.) เด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก


 
RoboCup@Home (Social Standard Platform) – รางวัลที่ 2
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นิสิตคณะวิศวฯ คว้ารองแชมป์ การแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก World RoboCup 2024 ประเภทหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้าน @Home SSPL
นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีม SKUBA คว้ารองแชมป์โลกมาครอง จากการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก World RoboCup 2024 ประเภทหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้าน หรือ @Home รุ่น Social Standard Platform League (SSPL) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 22 กรกฎาคม 2567 ณ เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์
สมาชิกทีม SKUBA ประกอบด้วย
นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้แก่ นายภคพล เต็งชาตะพันธ์ (หัวหน้าทีม) นายกันตินันท์ ช่วงรังษี และนายนภณัฏฐ์ ทองตัน (นิสิตปริญญาเอก) นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้แก่ นายรัชกร อนันตานานนท์ โดยมี รศ.ดร.กาญจนพันธุ์ สุขวิชชัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม
การแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้าน @Home เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้าน ตามภารกิจต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นแบบอัตโนมัติ เช่น การเตรียมอาหาร จัดห้องครัว เก็บและแยกขยะ รวมถึงการดูแลคนภายในบ้าน โดยในปีนี้มีทีมเข้าร่วมทั้งสิ้น 32 ทีม จาก 19 ประเทศทั่วโลก


RMRC RoboCupJunior – รางวัลที่ 2
สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ในแข่งขัน RoboCup 2024 ประเภท Junior Rescue การแข่งขันหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ณ เมือง Eindhoven ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

 
Onstage RoboCupJunior – รางวัลที่ 1 (Super team)
โรงเรียนบ้านบึง “อุตสาหกรรมนุเคราะห์”
 
Robocup@Home Playground รุ่น Junior – รางวัลที่ 3 & Rising Star Award Junior
ทีม 404 Not Found (King’s College International School Bangkok และ The Newton)

ทั้งนี้การแข่งขันรายการ RoboCup 2024 มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน จากทั่วโลก มีรายการแข่งขันหุ่นยนต์แยกย่อยมากกว่า 25 ประเภท และแยกย่อยลงไปตามรายละเอียดตามประเภทและความสามารถของหุ่นยนต์อีกจำนวนมาก ทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเรียนรู้วิทยาการหุ่นยนต์อย่างกว้างขวาง และเป็นโอกาสอันดีที่ได้จะแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมโดยกลุ่มผู้เข้าแข่งขันจากประเทศต่างๆ สำหรับการแข่งขันในปีถัดไป RoboCup 2025 จะจัดขึ้นที่ประเทศ Brazil

พาพันขอบคุณ รูปและข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) / สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่