แข้บักเฮ้า (แข้บักเห้า) ตำนานแสนเศร้า ของวังสามหมอ😭😭😭

 
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอยู่สมัยหนึ่ง พระอินทร์ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกพิภพ อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์โลกทั้งหลาย
ในราว พ.ศ. ๒๓๙๔ ตรงกับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความร่มเย็นเป็นสุข อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ชาวประชาร้องสาธุกันไปทั่วหน้า และในแผ่นดินสมัยนี้ แดนดินถิ่นวังสามหมอ ยังเป็นป่ารกทึบ มีขุนเขา ลำห้วย มากมาย ยากที่จะหาผู้ใดมากล้ำกรายได้ จึงไม่มีผู้ใดรู้จัก จนกระทั่งหน่วยล่าจระเข้ของพระยาสุทัศน์ แห่งเมืองท่าขอนยาง มาพบเข้า ความลี้ลับต่าง ๆ ของวังสามหมอ จึงได้ถูกเปิดเผยขึ้น ประชาชนจากถิ่นต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าไปตั้งรกราก อาศัยทำมาหากิน จนกระทั่งปัจจุบัน
พระยาสุทัศน์ เป็นเจ้าเมืองท่าขอนยาง (ปัจจุบันคือบ้านท่าขอนยาง เคยขึ้นตรงกับอำเภอเมือง ก่อนแยกมาขึ้นกับ อ.กันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) มีภรรยาชื่อนางจันทรา อันว่าเมืองท่าขอนย่างนั้น เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี ประชาชนมีความรักใคร่สามัคคี มีความสนุกสนาน ในฤดูที่มีประเพณีต่าง ๆ พระยาสุทัศน์กับนางจันทรา มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ นางคำบาง เนื่องจากเป็นลูกสาวคนเดียว พ่อแม่จึงรักมาก ได้สรรหาสิ่งต่าง ๆ มาให้ลูกเล่น และให้เป็นเพื่อน ในสิ่งของที่พระยาสุทัศน์ หามาให้นางคำบางเล่นเป็นเพื่อนนั้น มีสิ่งหนึ่งคือ จระเข้ ได้เอามาเลี้ยงเป็นเพื่อนตั้งแต่ยังเล็ก ๆ โดยเลี้ยงไว้ที่ลำชี หน้าจวนของเจ้าเมือง เจ้าเมืองตั้งชื่อจระเข้ตัวนี้ว่า “ฉันท์” แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียก “บักเฮ้า” นางคำบางมีความสนิทสนมกับบักเฮ้ามาก และเคยเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาจะลงอาบน้ำ นางก็มักจะขี่หลังบักเฮ้าลงไปเป็นประจำ เนื่องจากบักเฮ้า ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี และอยู่กับคนมานาน ทำให้มันเกิดความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รู้จักรัก รู้จักกลัว รู้จักงาน และรู้จักเรื่องอื่นๆ ตามวิสัยของสัตว์
จนกระทั่งนางคำบาง มีอายุได้ ๑๗ – ๑๘ ปี เป็นสาวเต็มตัว และมีความสวยงามมาก สมกับเป็นลูกสาวเจ้าเมือง ฝ่ายบักเฮ้า ร่างกายของมัน ก็ใหญ่โตขึ้นมากตามอายุ มีความยาววัดจากหัวถึงหางได้ ๑๒ เมตร หรือ ๒๔ ศอก อ้าปากได้กว้าง ๒ วา หรือ ๘ ศอก วันหนึ่งเวลาพระตีกลองแลง (ประมาณบ่าย ๔ โมง) นางได้ลงไปอาบน้ำในลำชี โดยขี่หลังบักเฮ้า เหมือนที่เคยขี่ทุกครั้ง บักเฮ้าได้พานาง ลอยเล่นไปตามที่ต่าง ๆ ในลำน้ำ ได้รับความสนุกเพลิดเพลิน ทั้งบักเฮ้าและนางคำบาง
กล่าวถึงบักนนท์จระเข้ป่า ไม่มีใครเลี้ยง อาศัยอยู่ในลำน้ำชี มีความใหญ่โตพอ ๆ กับบักเฮ้า เป็นจระเข้ที่เกเร ชอบไล่ฟัดกินคน และสัตว์เลี้ยงอยู่เนื่อง ๆ เมื่อบักนนท์ มองเห็นคนขี่หลังบักเฮ้า มันจึงตรงรี่เข้าหา หมายจะใช้หางฟาดและงับกินเป็นอาหาร จึงได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ระหว่างบักเฮ้ากับบักนนท์ เนื่องจากเป็นจระเข้ขนาดใหญ่ทั้งสองตัว การต่อสู้จึงเป็นไปอย่างรุนแรง ท้องน้ำบริเวณที่ต่อสู้ เกิดความปั่นป่วน คลื่นกระแทกฝั่งชีเป็นระลอกๆ บักเฮ้าเห็นว่า การต่อสู้ครั้งนี้หนักมาก ประกอบกับมีความพะวักพะวง กลัวนางคำบางจะตกจากหลัง แล้วถูกบักนนท์คาบไปกิน จึงได้ผละถอยออกจากการต่อสู้ชั่วคราว พร้อมทั้งคาบนางคำบางไส่ในปาก บักนนท์ เมื่อเห็นบักเฮ้าผละหนี จึงตรงเข้าไล่คาบบักเฮ้าเป็นการใหญ่ บักเฮ้าหันกลับไปต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง และหลงกลืนนางคำบางลงไปในท้อง การต่อสู้ลงเอยด้วยชัยชนะของบักเฮ้า โดยบักนนท์ได้หลีกหนีไป พร้อมด้วยบาดแผลเหวอะหวะทั้งตัว
ฝ่ายบักเฮ้า เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว จะพานางคำบางกลับเข้าท่า เพราะเป็นเวลาค่ำแล้ว ซ้ำมองหานางที่ขี่อยู่บนหลังก็ไม่เห็น และมองดูบนฝั่ง เห็นเจ้าเมืองและคนอื่นๆ มองดูอยู่เต็มฝั่ง จึงคิดทบทวนเหตุการณ์ดู จึงรู้ว่าตนได้กลืนนางคำบางลงไปในท้องเสียแล้ว ถ้าจะเลยไปที่ท่าน้ำ ก็กลัวเจ้าเมืองจะจับฆ่า และถ้าจะอาศัยอยู่ที่นี่ ก็กลัวหมอจระเข้ของพระยาสุทัศน์จะทำร้าย เพราะโทษครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก จำเป็นต้องหนีไปให้ไกลที่สุด 
เมื่อคิดได้ดังนั้น บักเฮ้ารีบไหว้น้ำดำน้ำ หนีไปอย่างเร่งรีบ มุ่งหน้าตามลำน้ำลงไปเรื่อยๆ เมื่อมาถึงปากน้ำลำปาวไหลตกลำชี เห็นว่า ถ้าขึ้นไปลำน้ำปาว คงจะปลอดภัยกว่าเป็นแน่ เพราะตามลำชี มีหมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งมากมาย กลัวคนเห็น เมื่อขึ้นมาตามลำปาวแล้ว ได้เดินทางมา จนกระทั่งเกือบถึงตัวเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ รู้สึกว่า การเคลื่อนตัวเองไปตามลำน้ำนั้นลำบากมาก เพราะลำน้ำปาวแคบเข้าไปเรื่อยๆ และหมู่บ้านหนาแน่นเข้ากลัวคนเห็น จึงได้ตัดลัดทางขึ้นเลิงบักดอก (เลิง หมายถึงทุ่งน้ำกว้าง เมื่อน้ำหลากน้ำจะเต็มไปทั้งทุ่ง ในฤดูแล้ง จะมีน้ำขังอยู่ตามแอ่งตามหนอง และลำห้วยบ้างเล็กน้อย ส่วนที่เป็นทุ่งทั้งหมดแตกระแหง) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง จ.กาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน แล้วเดินทางผ่านป่าเขาลำห้วย มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อหาที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง ด้วยความทุกข์แสนสาหัส 
ฝ่ายเจ้าเมืองพร้อมทั้งภรรยา และข้าราชบริพารทั้งหลาย ต่างพากันโศกเศร้าเสียใจ ที่นางคำบางต้องถูกบักเฮ้ากลืนกินเข้าไป ทุกคนเคียดแค้นชิงชังบักเฮ้าเป็นอย่างมาก บรรดาหมอจระเข้าทั้งหลาย ได้มาอาสา ขอตามไปปราบและฆ่าบักเฮ้ามากมาย ในจำนวนนี้ มีหมอจระเข้ผู้หญิงรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง มีอายุมากแล้ว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ยาแม่คำหม่อน” พระยาสุทัศน์ เมื่อเห็นผู้คนมามากมาย ที่จะตามไปปราบจระเข้ในครั้งนี้ ถ้าจะให้เดินทางเป็นขบวนเดียวกันก็กลัวว่า ผู้นำ จะบังคับบัญชาไม่ไหว จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ขบวน ขบวนที่หนึ่งมอบหมายให้ขุนบวร เป็นหัวหน้าฝ่ายขวา ขบวนที่สองมอบให้ขุนประจวบ เป็นหัวหน้าฝ่ายซ้าย ให้ทั้งสองคน ช่วยกันปกครองบังคับบัญชา และให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ และช่วยกันแก้ปัญหา
ขบวนล่าบักเฮ้า ได้ออกเดินทางเลียบไปตามฝั่งลำน้ำชี มุ่งหน้าลงไปตามทางน้ำ ไปจนถึงบ้านเกิ้ง (บ้านเกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ในปัจจุบัน) คณะติดตามเกิดความลังเลใจว่า อาจจะติดตามมาไม่ถูกทาง จึงตัดสินใจไปทางลัดดีกว่าไปเส้นตรง (ปัจจุบันเส้นทางลัดเส้นนี้ มีผู้ไปตั้งหมู่บ้านขึ้นเรียกว่า บ้านลาด อ. เมืองมหาสารคาม) บังเอิญเมื่อมาทางลัด ได้เห็นรอยบักเฮ้าอย่างชัดเจน เพราะบักเฮ้าตัวใหญ่มาก เมื่อไปทางใดต้นไม้ต้นหญ้าและพืชอื่น จะล้มเป็นทาง รอยตะกุยดินลึก และรอยลากหางจะหนักมาก คณะติดตามจึงได้ติดตามเรื่อยมาจนถึงลำปาวแล้ว เลยขึ้นเลิงบักดอก แล้วจึงได้พักนอนที่บ้านหลุบ (อยู่ทางตะวันตกของเลิงบักดอก) ตื่นเช้าขึ้นมา รีบเดินทางติดตามรอยต่อไป ประมาณ ๔ โมงเช้า จึงพากันหยุดพักผ่อนและกินข้าวเช้า เมื่อกินข้าวเสร็จ ได้ปรึกษากันว่า อาวุธที่จะใช้ล่าบักเฮ้ายังมีไม่ครบ ส่วนที่มีอยู่แล้วมันเล็ก ไม่สามารถที่จะฆ่าบักเฮ้าได้ จึงได้พากันตั้งเตาตีเหล็กอยู่ที่นั่น โดยหาเหล็กที่มีอยู่ทั้งหมดตีรวมกันเข้า ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ฉมวกสามง่าม เหล็กแหลม และเหล็กแหลมหัวท้าย ที่มีเหล็กกันจระเข้งัดบ้าง (ที่ตั้งเตาตีเหล็กนี้ ปัจจุบันเป็นบ้านเหล็ก อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่