พระสมเด็จ กรุวัดตลิ่งชัน (พิมพ์สมเด็จแบบวัดระฆังฯ) ประมาณปี 2519-2522

พระสมเด็จ กรุวัดตลิ่งชัน (พิมพ์สมเด็จแบบวัดระฆังฯ) ประมาณปี 2519-2522

   

ประวัติความเป็นมาของพระสมเด็จ กรุวัดตลิ่งชัน :

อุโบสถ์วัดตลิ่งชัน (ในอดีต)

          ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นายบุญรอด เกิดเจริญ อายุ 56 ปี เจ้าหน้าที่วัดตลิ่งชัน ได้เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายให้ ดูแลคนงานเพื่อก่อสร้างกำแพงวัดด้านตะวันออกภายในวัด พบว่า ขณะที่คนงานรื้อฐานโกศและเจดีย์เก่าพบโพงเป็นอุโมงค์ และพบโอ่งขนาดกว้างประมาณ 20 ซม. และสูงประมาณ 50 ซม. จำนวน 6 ใบ และกล่องรังสุราแบบแม่โขงถูกปลวกกัดแทะจนขาด ซึ่งทางลูกศิษย์วัด และพระลูกวัดได้ช่วยกันทุบโอ่งและกล่องรังกระดาษ พบว่า ภายในโอ่งพบพระผงพิมพ์สมเด็จแบบวัดระฆัง และภายในกล่องรังกระดาษพบพระพิมพ์ต่างๆ เช่น พระปิดตา, พระพิมพ์สมเด็จ, พระปรกโพธิ์ และพระนาคปรก จำนวนหลายหมื่นองค์ สร้างความแตกตื่นให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างมาดูการขุดกรุอย่างล้นหลาม มีเซียนพระมารุมทึ่งเพื่อที่จะขอเช่าพระแต่ทางวัดยังไม่เปิดให้เช่า

บริเวณที่ขุดพบกรุพระ

          ด้านพระมหาธวัช โพธิเสวี เจ้าคณะแขวงคลองชักพระ และเป็นเจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน กล่าวว่า ทางวัดได้พบกรุพระสมเด็จ ที่บรรจุไว้ในโอ่งรอบอุโบสถ โดยลักษณะพระเป็นพระผงเนื้อปูนผสมผงที่ถอดแบบมาจากสมเด็จวัดระฆัง ซึ่งพระดังกล่าวน่าจะมีอายุประมาณ เกือบ 30 ปี โดยมี "ช่างปลั่ง" แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นผู้สร้างแม่พิมพ์และกดพิมพ์ปั้น ช่างปลั่งได้นำมวลสารเก่าวัดระฆัง (ผงสมเด็จวัดระฆัง 100 ปี ที่แตกหัก) และมวลสารศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่กลีบมารวมเป็นมวลสารเอกสร้างพระสมเด็จวัดตลิ่งชัน

          สำหรับพระพิมพ์ต่างๆที่พบ คาดว่าน่าจะเป็นการสร้างพระของพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ หรือหลวงพ่อศิริชัย (อดีตเจ้าอาวาสวัดตลิ่งชั่น พ.ศ.2519-2545) ซึ่งท่านมรณภาพไปเมื่อ 3 ปีก่อน (พ.ศ.2545) เพื่อเป็นการสืบทอดพระศาสนาให้ยืนยาว โดยสร้างทั้งหมดประมาณ 84,000 องค์ บรรจุอยู่ตามเจดีย์ และรอบโบสถ์ มีมวลสารของเกจิอาจารย์ดังมากมาย ได้แก่ ผงพุทธคุณของหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, ผงอิทธิเจหลวงพ่อกวย วัดโฆษิตตาราม, ผงพุทธคุณหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, ผงหลวงปู่ดู่ วัดสะแก, ผงหลวงพ่อชื้น วัดญาณเสน, ผงหลวงปู่โพธิ์ วัดชัยพฤษมาลา และเกจิอีกหลายท่าน ฯลฯ

วัดตลิ่งชันเปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมบุญบูชาพระสมเด็จฯ

          หลังจากพบพระสมเด็จกรุวัดตลิ่งชัน ทางวัดได้นิมนต์เกจิอาจารย์อีก 9 องค์ ได้แก่ เจ้าคุณเที่ยง วัดระฆัง, หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง, หลวงปู่ทิม วัดพระขาว, หลวงพ่อลำใย วัดสะแก, หลวงพ่อครูบาน้อย วัดศรีดอนมูล, หลวงพ่อสมพงษ์ วัดใหม่ปิ่นเกลียว เป็นต้น เพื่อเจริญพุทธมนต์ก่อนนำพระขึ้นจากกรุ และทำพิธีพุทธาภิเษกประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2548 จากนั้นทางวัดได้ทำการปั๊มตรายางด้านหลังทุกองค์ เพื่อป้องกันการทำของปลอมของเลียนแบบ แล้วเปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมบุญบูชา เพื่อหาปัจจัยไปบูรณะถาวรวัตถุภายในวัดที่กำลังทรุดโทรมลง

เนื้อพระสมเด็จ กรุวัดตลิ่งชัน มีอยู่ 2 แบบ ดังนี้

สมเด็จกรุวัดตลิ่งชัน เนื้อไม่มีคราบกรุ

สมเด็จกรุวัดตลิ่งชัน เนื้อมีคราบกรุ

ตรายางแดง วัดตลิ่งชัน

จุดพิจารณาสังเกตของพระสมเด็จ กรุวัดตลิ่งชัน (พิมพ์ 3 ชั้น แบบวัดระฆังฯ) : (สูง 3.8 ซม. กว้าง 2.5 ซม. หนา 0.7 ซม.)

   

          1. องค์พระมีลักษณะเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย

          2. ซุ้มประภามณฑลจะต้องมีลักษณะเป็นเส้นนูนเดี่ยว ซุ้มด้านข้างทั้งสองเข้าหากัน แต่เส้นซุ้มด้านขวาขององค์พระจะตั้งฉากเป็นเส้นตรงและเอียงไปทางขวาเล็กน้อยในช่วงต้นพอถึงช่วงกลางแล้วจะโค้งเข้าองค์พระ ส่วนเส้นซุ้มด้านซ้ายขององค์พระจะโค้งเข้าตั้งแต่ต้น และยอดซุ้มฯ มีลักษณะโค้งกลม

          3. ด้านหลังองค์พระมีตราประทับสีแดง “วัดตลิ่งชัน”


          4. พระเกศ มีลักษณะลำพระเกศค่อนข้างเรียวยาว และเอียงไปด้านซ้ายขององค์พระ (แต่ปลายเกศเอียงไปทางขวาเล็กน้อยจรดกับเส้นซุ้ม)

          5. พระพักตร์กลมนูนเป็นรูปไข่รับกับเส้นพระศอ (ลำคอ)

          6. พระศอเป็นลำเห็นได้ชัดเจนรับกับพระอุระ (หน้าอก)

          7. พระอุระ มีลักษณะอกผายและเว้ากับซอกรักแร้ทั้งสองข้าง เอวคอดเล็กน้อยและกลมกลืนลงมาบรรจบพระหัตถ์ (มือ) ทั้งสองข้างได้สัดส่วน


          8. ซอกรักแร้ทั้งสองข้างเสมอกัน มีน้อยมากที่ซอกรักแร้ซ้ายจะอยู่สูงกว่า และซอกแขนแคบแต่ลึก

          9. พระเพลา (หน้าตัก) ด้านซ้ายโค้งขึ้นในลักษณะเข่ายกเล็กน้อยเห็นได้ชัดเจน และบริเวณหัวเข่าทั้งสองจะนูนหนาและขาท่อนบนลาดผายลงมา บริเวณเข่าซ้ายรับเส้นชายจีวรที่พาดลงมา

          10. ฐานทั้งสามชั้น มีลักษณะหนาและนูนคมชัด โดย
                    - ฐานชั้นแรกจะเป็นเส้นนูนยาวเท่ากับหน้าตัก และฐานด้านซ้ายจะสูงกว่าด้านขวา
                    - ฐานชั้นกลางจะเป็นเส้นนูนยาวกว่าฐานชั้นแรก มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ 
                    - ฐานชั้นล่างจะเป็นเส้นนูน มีลักษณะเป็นฐานหมอนตัดเฉียง และฐานด้านซ้ายจะสูงกว่าด้านขวา

   

          11. คราบกรุ (กรณีถ้ามี)

     หมายเหตุ : จุดพิจารณาสังเกตของพระสมเด็จฯ ที่กล่าวข้างต้น เป็นจุดที่เจ้าของกระทู้ทำเอง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน…

                 
รูปด้านข้างองค์พระสมเด็จฯ

     เพิ่มเติม : เกี่ยวกับพิมพ์พระสมเด็จ กรุวัดตลิ่งชัน ได้นำพระไปให้เซียนพระที่มีความรู้พระสมเด็จวัดระฆังรุ่น 100 ปี ดู 2-3 ท่าน ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พิมพ์พระคล้ายกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ รุ่น 100 ปี 

ประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดปลอดภัย :

          นายดิเรก ศรศรี อายุ 32 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เกิดปาฎิหาริย์คุ้มครองถูกรถจักรยานยนต์ชนอย่างจัง แต่ไม่เป็นอะไร

พระองค์นี้ผ่านการรับรองพระแท้ จาก สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย แล้ว


ประวัติวัดตลิ่งชัน :

อุโบสถ์วัดตลิ่งชัน (ปัจจุบัน)

          วัดตลิ่งชัน เป็นอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ หน้าบันประดับด้วยถ้วยชามลายคราม บานประตูหน้าต่างมีลวดลายประดับมุกภาพพระเจ้าสิบชาติที่ฝาผนังภายในอุโบสถ มีภาพเขียนพระพุทธรูปปางสมาธิ มีฐานกลีบบัวรองรับเรียงเป็นแถวทั้งสี่ด้าน วัดตลิ่งชัน สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ.2310 ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ เนื่องจากเป็นวัดในชนบทเหมือนหลายๆ วัดที่อยู่ในย่านนั้น

พระครูทิวากรคุณ (หลวงปู่กลีบ)

          พระครูทิวากรคุณ หรือ หลวงปู่กลีบ พุทธรักขิโต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยเมตตา และมีวิชาคาถาอาคมเข้มขลัง วัตถุมงคลของท่านหลายรุ่นปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักสะสม อย่างเหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี 2479 พุทธคุณดีมีประสบการณ์มาก เคยมีเด็กที่ห้อยเหรียญรุ่นนี้ตกน้ำแล้วไม่จม ทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น เป็นเหรียญรุ่นเดียวและรุ่นสุดท้ายที่หลวงปู่กลีบสร้างไว้ ต่อมาก็สร้างเป็น แหวนมงคล 8 ประสบการณ์ดีในเรื่องแคล้วคลาดป้องกันเงี้ยวงา และเป็นที่ต้องการของนักสะสมพระเครื่องอย่างมากก็คือ พระกริ่งหนองแส สร้างด้วยเนื้อทองผสม ตามตำราของวัดสุทัศน์ ปัจจุบันมีค่านิยมหลายหมื่นบาท หลวงปู่กลีบได้สืบทอดวิชาอาคมเวทย์จากหลวงปู่รอด วัดนายโรง คลองบางกอกน้อย และสมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ ท่านเก่งทางทำ ผงอิทธิเจ เคยสร้างพระพิมพ์รูปแบบพระสมเด็จให้ลูกศิษย์ลูกหาบูชา (พระสมเด็จหลวงปู่กลีบ แบ่งออกเป็น 3 พิมพ์ คือ พระสมเด็จพิมพ์สามชั้นแขนกาง, พระสมเด็จปรกโพธิ์เม็ดฐานแซม และพระสมเด็จปรกโพธิ์เม็ดเข่านูน) ในอดีตมีการกล่าวขานกันว่าท่านมีวาจาสิทธิ์ พูดอะไรมักเป็นไปตามนั้น อีกทั้งอำนาจสมาธิแห่งจิตของหลวงปู่กลีบล้ำลึก จะเสกเป่าวัตถุมงคลใดก็เปี่ยมไปด้วยสิริมงคล จึงทำให้พระเครื่อง เครื่องรางของขลังของท่านมีคุณวิเศษและเป็นที่แสวงหาของนักสะสมอยู่ในขณะนี้ หลวงปู่กลีบท่านละสังขารเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2501 สิริอายุ 82 ปี 61 พรรษา ครองวัดยาวนานถึง 52 ปี

พุทธมงคลสิทธิ์นิรมิตรประชานารถ

          ที่วัดตลิ่งชันแห่งนี้มีพระประธานในอุโบสถที่สวยงามมาก พระนามว่า "พุทธมงคลสิทธิ์นิรมิตรประชานารถ" เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ แบบพระจักรพรรดิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัย หน้าตักกว่าง ๓ ศอก ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย นอกจากองค์พระประธานแล้ว ยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่งปางมารวิชัยขนาบข้างอีก ๒ องค์ และยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร ประทับยืนขนาบข้างองค์พระประธานอีก ๒ องค์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนกลาง

ปล.จัดทำเพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น (ไม่ได้ปล่อยเช่า) และหากข้อมูลบางส่วนไม่ถูกต้อง หรือใช้คำไม่ถูกต้อง กระผมต้องขออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ..
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่