เทียบฟอร์ม 3 กองทุนลดหย่อนภาษี TESG - RMF- SSF เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ภาษี

เช็คข้อแตกต่าง 3 กองทุนลดหย่อนภาษี " TESG -SSF-RMF" เงื่อนไขและประโยชน์ทางภาษี หลังคลังเคาะเกณฑ์ใหม่ TESG เตรียมชงเข้าครม. และเปิดให้นักลงทุนซื้อหน่วยลงทุนได้ ก.ค.นี้

จากการที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เตรียมแก้เกณฑ์เงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund : TESG fund) เพื่อกระตุ้นตลาดทุนและเสริมความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยคาดจะเสนอเข้ากระทรวงการคลังในเร็ว ๆนี้  
ทั้งนี้เงื่อนไข TESG ใหม่ จะขยายวงเงินให้นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท จากเดิม 1 แสนบาท และปรับลดระยะเวลาถือครองเดิม 8 ปี เหลือเพียง 5 ปี นอกจากนั้นจะเพิ่มประเภทหุ้นยั่งยืนที่ TESG สามารถเข้าไปลงทุนได้อีกประมาณ 200 หุ้น จากเงื่อนไขเดิมที่มีจำนวนกว่า 128 หุ้น ส่งผลให้มีหุ้นที่สามารถลงทุนได้มากกว่า 300 หุ้น
  
คาด TESG ใหม่ จะมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทุน 30,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเปิดขายหน่วยลงทุน 4- 5 เดือนปีนี้ เมื่อเทียบกับกองทุน TESG ที่ออกมาเมื่อช่วงปลายปี 2566  ที่มีระยะเวลาการดำเนินการเพียง 1 เดือน และมีเม็ดเงินลงทุนราว 6,000 ล้านบาท 
 
อย่างไรก็ดีนอกจากกองทุน TESG (เกณฑ์ใหม่) ปัจจุบันยังมี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)  และ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF ) ซึ่งล้วนเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี

"ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้รวบรวมข้อมูลเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของทั้ง 3 กองทุน ว่ามีความแตกต่างอย่างไรบ้าง ดังนี้

1.กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน : TESG (เกณฑ์ใหม่) 
นโยบายลงทุน : 
ต้องลงทุนมากกว่า  80% ของ NAV ดังนี้
1. หุ้นใน SET/MAI โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E) / ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือระดับการประเมิน CG Ratingของ IOD และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล (G) ในระดับ และ รูปแบบ ที่ ก.ล.ต. กำหนด
2. ESG Bond 
3. Green Token
4.หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล

สิทธิประโยชน์ทางภาษี :
เงินลงทุนจากการซื้อหน่วยลงทุน นำมาลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
เงื่อนไขลงทุน :
ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี 
ขายได้เมื่อไร :
ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน )

กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน : TESG (เกณฑ์เดิม) 
นโยบายลงทุน : 
ต้องลงทุนเท่ากับหรือมากกว่า 80% ของ NAV ดังนี้
1. หุ้นใน SET/MAI โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E) /ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก
2.ESG Bond 
3.Green Token
สิทธิประโยชน์ทางภาษี :
เงินลงทุนจากการซื้อหน่วยลงทุนนำมาลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
เงื่อนไขลงทุน :
ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี 
ขายได้เมื่อไร
ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน  (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน )
 
 
2.กองทุนรวมเพื่อการออม : SSF 
นโยบายลงทุน :
ลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท ( ตามนโยบายของกองทุนนั้น ๆ) อาทิในตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือก อาทิ ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนผสม ที่มีนโยบาลการลงทุนในหลายประเภทสินทรัพย์
สิทธิประโยชน์ทางภาษี :
ลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่กำหนดขั้นต่ำ แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
เงื่อนไขลงทุน :
ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี 
ขายได้เมื่อไร
ต้องถือหน่วยลงทุนให้ครบ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน  (แบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน) 

3.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ : RMF
นโยบายลงทุน :
ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท เช่นเดียวกับ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
สิทธิประโยชน์ทางภาษี :
ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับ SSF และกองทุนเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขลงทุน :
ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (หรืออย่างน้อยปีเว้นปี)
ขายได้เมื่อไร
ถือจนถึงอายุครบ 55 ปี  และต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่แบบปีปฏิทิน ) 

Cr. https://www.thansettakij.com/health/health/600494

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่