นกแก้วโม่ง...วัดสวนใหญ่

เคยได้ยินและเคยอ่านเรื่องราวของ "นกแก้วโม่ง" แห่งวัดสวนใหญ่ในจังหวัดนนทบุรีมานานแล้ว ...และเคยคิดจะหาจังหวะไปเที่ยวชมอยู่หลายครั้ง
....แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาโอกาสไม่ได้สักที

จนเมื่อต้นเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา (พศ.2566) มีโอกาสผ่านไปทำธุระส่วนตัวใกล้ๆวัดแห่งนี้ พอเสร็จภาระกิจจึงขับรถเลยไปอีกหน่อยเพื่อแวะไปชมสถานที่อยู่ ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของพื้นที่ในเมืองซึ่งยังคงเป็นที่อาศัยสำหรับนกแก้วโม่ง

เดินทางถึงวัดสวนใหญ่เกือบเที่ยง จอดรถเสร็จก็เดินเข้าไปหลังโบสท์...
หมายนกแก้วโม่งในวันนี้อยู่บนต้นยางนาสูงใหญ่ 2 ต้นที่ขึ้นอยู่ริมคลองบางกรวยซึ่งอยู่ด้านหลังของวัด


หลังจากเจอสถานที่อันเป็นเป้าหมาย ยืนรออยู่ไม่นานก็มีนกบินเข้ามาที่โพรงบนต้นยางนาต้นที่อยู่ด้านหลัง
แต่นกตัวนี้เป็นนกแขกเต้า (Red-breasted Parakeet)....ซึ่งยังไม่ใช่นกเป้าหมายของผมในวันนั้นครับ


ระหว่างรอนกก็ลองหาดูข้อมูลของ "วัดสวนใหญ่" เอามาฝากกันครับ

"วัดสวนใหญ่" เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2375 


เดิมทีวัดแห่งนี้อยู่ในป่าทึบริมคลองที่ประชาชนชาวบ้านในละแวกนี้ร่วมใจบริจาคพื้นที่สร้างวัดขึ้น 
แต่ก่อนเรียกว่า “วัดใหม่" ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสวนใหญ่" ซึ่งมีความหมายว่า วัดที่ตั้งอยู่ในสวนอันกว้างขวาง


นั่งเล่นในศาลาริมน้ำรออยู่พักใหญ่ ราวๆบ่ายโมงก็เริ่มมีเสียงร้องจากบนยอดต้นยางนาดังเซ็งแซ่ไปทั่วบริเวณลานวัด


นกแก้วโม่งคู่นึงบินเข้ามาเกาะที่ต้นยาง และนกตัวเมียก็เริ่มทำการสำรวจโพรง โดยที่นกตัวผู้เอาแต่ยืนดูอยู่ห่างๆ
ทั้งนกแก้วโมงและนกแขกเต้า เป็นนกในธรรมชาติที่อาศัยอยู่บนต้นยางนา 2 ต้นด้านหลังวัดสวนใหญ่แห่งนี้ 


นกทั้ง 2 ชนิดมักจะแยกย้ายกันออกไปหากินในตอนเช้า และจะกลับมานอนพักผ่อนบนต้นยางนา 2 ต้นนี้ในตอนเย็นราว 5-6 โมงเย็น 


โดยนกแก้วโม่งฝูงนี้มีอยู่ราว 20-30 ตัว แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์อาจมีจำนวนมากขึ้นถึงราว 50-100 ตัวเลยทีเดียว


ผมได้โอกาสนั่งคุยกับคุณป้าเจ้าของบ้านที่อยู่ข้างต้นยางนาทั้ง 2 ต้น ลองสอบถามแกดูว่าไม่รู้สึกรำคาญเสียงร้องของนกเหล่านี้บ้างหรือ? เพราะขนาดผมเข้ามาดูนกตอนกลางวัน มีนกอยู่ในบริเวณนี้แค่ไม่กี่ตัวเสียงยังดังซะขนาดนี้ ถ้าเป็นช่วงเช้าและเย็นนี่คงไม่ต้องพูดถึง
ซึ่งคุณป้าแกเล่าให้ฟังว่าอาศัยอยู่ที่ชุมชนวัดสวนใหญ่แห่งนี้มาตั้งแต่เกิด เห็นนกเหล่านี้จนชินตา และได้ยินเสียงร้องแบบนี้จนคุ้นหู เลยดูเป็นเรื่องปรกติสำหรับคุณป้าและชาวชุมชนแห่งนี้ไปละครับ


นกแก้วโม่งมีชื่อภาษาอังกฤษคือ Alexandrine Parakeet เป็นนกพื้นเมืองที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Palaeornis eupatria ในปัจจุบันนี้จัดเป็นนกที่ค่อนข้างหาพบได้ยากแล้วในธรรมชาติ


นกชนิดนี้เป็นนกในตระกูลนกแก้วขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง แต่จัดเป็นนกแก้วที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ในธรรมชาติของเมืองไทย
มีความยาววัดจากหัวถึงปลายหางได้ราว 51-58 เซ็นติเมตร โดยนกเพศเมียมีขนาดเล็กกว่าเพศผู้ 
ส่วนหัวและลำตัวมีสีเขียว จงอยปากสีแดงสด บริเวณหัวไหล่มีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้ง 2 ข้าง นกเพศผู้มีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอ ส่วนนกเพศเมียไม่มี


นกแก้วโม่งมักหากินอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ พักนอนบนต้นไม้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ชอบเกาะตามยอดไม้และมักเลือกทำรังตามโพรงไม้ใหญ่ๆ โดยใช้วิธีขุดไม้จำพวกไม้เนื้ออ่อนให้เป็นโพรง หรือบางครั้งอาจเลือกใช้โพรงเก่าในการทำรัง


ขอทิ้งท้ายกันไว้ว่าทั้งนกแก้วโมงและนกแขกเต้าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พศ. 2535 ซึ่งหมายความว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้ล่าหรือมีไว้ในครอบครอง 


ดังนั้นใครที่คิดอยากได้นกแก้วโมงหรือนกแขกเต้ามาเลี้ยง ถือเป็นการทำผิดกฎหมายนะครับ
ปล่อยให้เค้าอยู่กันอย่างอิสระ ปล่อยให้ธรรมชาติดูแลกันเอง...น่าจะเป็นข้อสรุปที่ลงตัวที่สุดครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่