รบกวนเพื่อนๆ ช่วยรีวิวความเป็นไปได้ของแผนเกษียณเร็วของมนุษย์เงินเดือนค่ะ

สวัสดีสมาชิกทุกท่าน
 
ขอเกริ่นสั้นๆ ปัจจุบัน จขกท. ได้ดำเนินตามแผนการเกษียณไวมาได้สัก 60-70% แล้ว ณ ปัจจุบัน 
รายละเอียดคร่าวๆ ปัจจุบัน จขกท. อายุ 38 ปี ..ทำงานที่ปัจจุบันมา 10 ปี และตั้งใจจะลาออกเมื่อทำงานที่นี่ครบ 15 ปี (อายุการทำงานทั้งหมดคือ 16 ปีนับจากที่แรก)
 
สถานการณ์การเงินปัจจุบัน = อยู่แดนบวก หนี้ 0 บาท
รายจ่ายรายเดือนรวมๆ เฉลี่ย = 35,000-40,000 บาท (ไฟฟ้า,น้ำ,อาหารคน-แมว,มือถือ,Internet, HBO,Netflix,Disney,น้ำมันรถ,กินเที่ยว และอื่นๆจิปาถะ)
รถยนต์+บ้าน+ที่ดิน = ผ่อนหมดครบแล้ว
สถานะ = แต่งงานแล้ว ไม่มีลูก มีแต่แมว
สุขภาพโอเค ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
 
ทรัพย์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสามี
มีเงินสดเก็บ+กองทุนต่างๆ+ประกันออมทรัพย์+สินค้ามีค่าในรูปแบบต่างๆ ณ ปัจจุบัน (ไม่รวมบ้าน/ที่ดิน/รถยนต์) = 13,800,000.00 บาท
 
คิดว่าสิ้นปีเก็บเพิ่มได้อีกประมาณ 1.7 - 1,800,000 บาท โดยเก็บจากเงินเดือน+โบนัส+เงินสมทบกองทุนของบริษัทฯ + ปันผลกองทุน + กำไรเทรดทองคำ
ซึ่งคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2567 จะมีเงินออมทั้งหมดประมาณ 15,500,000 บาท
 
และได้คำนวณคร่าวๆว่าถ้าทำงานอีก 5 ปี และเลิกทำงานในปี พ.ศ. 2572 จะสามารถเก็บเงินได้รวมทั้งหมดประมาณ 26-27,000,000 บาท (ถ้าเดินตามแผนปกติ ไม่มีเหตุต้องใช้เงินก้อน)
 
และเนื่องจากบริษัทฯ มีความพิเศษที่ว่าหากทำงานครบ 15 ปีเต็ม จะได้สิทธิ์รับบำนาญ 30% จากเงินเดือนงวดสุดท้าย โดยเริ่มรับได้ตั้งแต่อายุ 60 ปีเป็นต้นไป คำนวณคร่าวๆว่าอาจจะได้เดือนละประมาณ 55,000-60,000 บาท (ก่อนหักภาษี)..ถ้า จขกท. เลิกทำงานปี พ.ศ. 2572 จริง จะต้องรออีกประมาณ 17 ปี ถึงจะเริ่มได้รับเงินบำนาญที่ว่ามานั้น (ถ้าไม่ตุยไปซะก่อน)
 
ดังนั้นแล้ว จขกท. คิดไว้ว่าอาจจะหารายได้เล็กๆน้อยๆ เนื่องจากมีฝีมือการทำอาหารบางประเภทโดยเฉพาะ เช่น ขายอาหาร/ ขนม / เครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์+มีหน้าร้านเล็กๆบนที่ดินตัวเองไปด้วย เอาแบบที่ไม่ลงทุนมาก
อีกอย่าง คือ เทรดทองคำไปด้วย เพื่อให้ได้เงินหมุนเวียนเข้ามาใช้บ้าง ซึ่งปัจจุบันก็หัดเทรดอยู่ได้กำไรเฉลี่ยเดือนละประมาณ 38,000 บาท จากเงินต้นทุนประมาณ 4 ล้าน
 
คำถาม คือ

1. ด้วยเงินที่สะสมไว้ + กับคิดว่าจะเก็บเพิ่มได้นั้น จะพอมีชีวิตอยู่รอดจนได้รับบำนาญในอีก 17 ปีข้างหน้าหรือไม่ (ส่วนตัวคิดว่าพอ แต่มีตรงไหนที่ควรระวังเป็นพิเศษหรือไม่)
- ไลฟ์สไตล์ จขกท. ค่อนข้างสบายๆ ชิลล์ๆ ไม่ติดหรูอะไร กินอยู่ง่ายๆ ขอแค่ไม่ลำบากไม่เหนื่อยเกิน ปลูกผักทำสวนเล็กๆได้ แต่อย่างทำนาก็ไม่ไหว เกินเบอร์ไปค่ะ

2. หากคุณเป็น จขกท. คุณจะตัดสินใจลาออกในอีก 5 ปี หรือไม่? หรือกัดฟันทำงานต่อไปอีกหน่อยดี
- ป.ล. งานค่อนข้างเครียด, กดดันสูง, ต้องทำงานกึ่งๆด้านกฏหมายด้วย , การเมืองในที่ทำงานเยอะพอสมควร, เคยเครียดมากถึงกับเป็นแพนิค ต้องกินยาเป็นปีๆ มีป่วยออดแอดบ้าง แต่บริษัทก็จ่ายหนักด้วย, สถานะในที่ทำงานคือมั่งคงมาก เนื่องจากสะสม ปสก. มาเยอะ บริษัทจึงให้ความเชื่อถือ จขกท. สูง จะอยู่ทำงานถึงจนอายุ 60 เลยก็ได้ (ถ้าอยู่ไหว)

3. จขกท. มีใจอยากจะซื้อที่ดินสัก 3-5 ไร่ที่ ตจว. ที่ไม่ไกล กทม. มาก หรือแถวชานเมืองเพื่อสร้างบ้านใหม่ (กำหนดงบไม่เกิน 4 ล้าน) โดยมีที่กว้างๆหน่อยไว้ปลูกผัก ต้นไม้ ผลไม้กินเอง+ขายบ้าง เน้นพอเพียง อย่างน้อยก็ไม่ต้องซื้อหาจับจ่ายมากมายในเรื่องอาหาร 
ส่วนบ้าน+คอนโดในเมืองก็ให้เช่าไป อาจจะมีเงินเข้ามาอีกเดือนละ 40,000 บาท แต่ยังชั่งใจอยู่

- ควรเก็บ 4 ล้านไว้ก่อนเผื่อฉุกเฉิน หรือรีบจัดซื้อที่ดินก่อนเลยตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วค่อยไปปลูกบ้านก่อนย้ายไปอยู่

- รบกวนขอความเห็นสมาชิกช่วยแนะนำว่าที่ไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์+Budget ของ จขกท. ร่วมแชร์ ปสก. ได้ค่ะ

4. อื่นๆ ถ้ามีเสนอแนะ

ขอบคุณค่ะ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 21
เรื่องบำนาญและความมั่นคงของบริษัท

ขอชี้แจงตรงนี้ว่า มีเอกสารสัญญาเซ็นต์เป็นลายลักษณ์อักษรค่ะ
บริษัทเป็น Swiss Luxury อายุรวมเกือบ 120 ปี มีสาขาทั่วโลก มั่นคงสูงติดอับดับในประเภทธุกิจนี้ สินค้ามีน้อยกว่าความต้องการลูกค้า ลูกค้าส่วนมากซื้อเพราะการลงทุนระยะยาวด้วย แย่งกันซื้อแบบถึงมีเงินก็ซื้อไม่ได้จริงๆ ฉะนั้นเรื่องเลิกกิจการสามารถตัดออกได้เลยค่ะ (ขออภัยที่ไม่สามารถบอกชื่อและรายละเอียดมากกว่านี้ แต่คนที่ชื่นชอบ Luxury น่าจะพอเดาได้)

จริงตามบางคอมเม้นท์ว่า บริษัทไหนจะอยากแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้? ถูกต้องค่ะ ดังนั้น พนง. บรรจุรุ่นหลังดิฉันจึงได้สัญญาฉบับใหม่ ซึ่งโดนตัดสวัสดิการนี้ออกไปแล้วเรียบร้อย มีแค่ในส่วนกองทุนสมทบเลี้ยงชีพซึ่งจ่ายแล้วจบเลย
ส่วนรุ่นพี่ๆ พนง.ที่ได้สวัสดิการส่วนนี้ที่เกษียณออกไปแล้ว ไม่ว่าจะตามกำหนดหรือ Early  Retire ก็ได้รับบำนาญจริง และทุกปีเงินบำนาญก็ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อด้วยค่ะ

จากที่ได้เห็บงบการเงินบริษัทปัจจุบัน เงินส่วนที่จ่ายบำนาญให้พนง.เกษียณที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น เป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ เท่านั้นเอง หรือแม้แต่รุ่นปัจจุบันที่ยังทำงานอยู่และรอเกษียณในวันหน้าก็มีจำนวนไม่เยอะค่ะ เพราะหลายๆท่านที่ได้สัญญาฉบับเดียวกันนี้ก็ไม่ได้ทำงานถึง 15 ปีกับบริษัทหลายท่าน

ดังนั้นแล้ว สวัสดิการบำนาญตรงนี้ได้แน่นอนเมื่ออายุ 60 ค่ะ

เพิ่มเติม
ขอบคุณความเห็นที่เพื่อนๆทุกคนให้มานะคะ มีหลายจุดที่ จขกท. เหมือนจะมองข้ามไปบ้างเหมือนกัน และบางอย่างรู้แหละว่าควรทำแต่ยังไม่ทำ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ (แต่จริงๆสำคัญนะ) ต้องขอบคุณทุกความเห็นจริงๆ ค่ะ

ความเห็นที่ 35 วิเคราะห์และให้ความเห็นได้ถูกต้องเลยค่ะ ชอบมาก

จขกท. เป็นมนุษย์เงินเดือนจริง ไม่ได้มีงานเสริม แค่งานหลักงานเดียวก็แทบจะตุย แต่ความเห็นที่ 35 วิเคราะห็ได้ถูกต้องในเรื่องของโอกาส, สถานที่ทำงาน และสวัสดิการที่ดีทำให้มีชัยไปกว่าครึ่ง ถ้า จขกท ไม่เปลี่ยนที่ทำงาน ก็คงถึงนานนนนกว่าจะถึงจุดนี้...จขกท ขอแนะนำเด็กรุ่นใหม่ๆ ถ้ามีโอกาสได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้ ว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ได้แย่ และประสบความสำเร็จได้ ถ้าคุณอยู่ถูกที่ ถูกเวลา พัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ และรู้จักการบริหารเงิน ตั้งแต่เริ่มทำงาน

จขกท เริ่มต้นทำงานงานแรก 16 ปีที่แล้วเงินเดือนเริ่มที่ 13,000 บาท เงินเดือนสุดท้ายก่อนออกคือ 30,000 บาท (หลังจาก 5 ปีครึ่ง)
ระหว่างทำงานที่แรกก็เรียนต่อ ป.โท (เสาร์-อาทิตย์เต็มวัน) เฉพาะทางไปด้วย 2 ปีจบหลักสูตร หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ได้ Job Offer และได้ผ่านสัมภาษณ์ในบริษัทที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน เริ่มแรกเงินเดือนเริ่มที่ 50,000 พอผ่านไป 10 ปี ก็ได้เพิ่มตามตำแหน่ง (โปรโมท 2 รอบ) และความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย จึงทำให้ จขกท. เป็นม้าเร็วตีนปลายในการเก็บเงิน ทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็ว ดังนี้

1)    ช่วง 4-5 ปีหลังได้โปรโมท+เงินเดือนเพิ่มขึ้นเยอะพอสมควรจากการตรากตรำทำงานยากๆหลายโปรเจคไป เลยเก็บได้มากขึ้น เช่น ปี 2566 เงินเดือนหลังหักภาษี+ค่าใช้จ่ายแล้วเก็บได้ประมาณ 173,000 ต่อเดือน x 12 เดือน = 2.07 ล้านบาท (โดยยังไม่รวมปันผล/กำไร/ส่วนสมทบอื่นๆ ในระหว่างปี)
2)    จขกท ใช้วิธีการลงทุนหลายแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง เพื่อใช้เงินต่อเงิน ซึ่งเริ่มจากการลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงานที่แรก ปีแรก เงินเดือนแรกที่หมื่นต้นๆ โดยเริ่มจากประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ปีละ 20,000 เท่านั้น
3)    ยิ่งรายได้เพิ่มขึ้น ตามธรรมชาติคนเราก็จะดิ้นรนหาวิธีลดหย่อนมากขึ้น เริ่มศึกษาเรื่องระบบภาษี จึงได้เริ่มซื้อ LTF/ SSF/ SSF พิเศษ ไปเรื่อยๆ เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันซื้อต่อเนื่องมาแล้ว 10 ปี + กองทุนสมทบเลี้ยงชีพบริษัทฯ ให้บริษัทหักที่เรทสูงสุดตั้งแต่เดือนแรกมาตลอด + มาตราลดหย่อนต่างๆตามรัฐบาลประกาศ + ประกันสะสมทรัพย์ + อื่นๆ จัดเต็มตลอด เต็มเพดานลดหย่อน ไม่ให้เสียสิทธิ์ นอกจากนี้ก็ลงทุนกองต่างประเทศด้วย ผันผวนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนบ้างแต่ผลตอบแทนสูงกว่า
จขกท. ฝากเงินสดออมทรัพย์น้อยมาก เพราะพิสูจน์แล้วว่า “ยิ่งออมยิ่งจน” ดอกเบี้ยที่ได้แต่ละปีเทียบไม่ได้การปันผล/หรือกำไรจากการเทรดต่อเดือนได้เลย (ความเห็น/ ปสก. ส่วนตัว)
4)    หลังๆเริ่มศึกษาการเทรดอื่นๆ ที่ไม่ซับซ้อนเกินไป เช่น ทองคำแท่ง คือเอาเงินเย็นที่เป็นเงินเก็บค่อยๆหัดเทรด เริ่มจากเงินต้นหลักหมื่น เป็นหลักแสน และหลักล้านตามลำดับ ปัจุบันได้กำไรเฉลี่ยเดือนละเกือบ 4 หมื่นบาท จากเงินต้น 4 ล้านตามที่กล่าวไป ส่วนนี้เราไม่ซีเรียสมาก บางช่วงได้เยอะบางช่วงน้อยหน่อยตามธรรมชาติตลาดทองคำ แต่ไม่ขายก็ไม่ขาดทุน ทิ้งไว้งั้นแหละ เขียวค่อยขาย 555

Life Style (ไลฟ์สไตล์) เป็นอีกหนึ่งตัวแปรข้อสำคัญที่จะทำให้เรา “ไปถึง” หรือ “ไม่ถึง” เป้าหมาย

จขกท นำหลักการ สไตล์เกษียณตามเทรนด์ FIRE มาใช้กับตัวเอง คือ Fat FIRE – กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ปกติ แต่ต้องการเร่งเก็บเงินโดยใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะเน้นนำเงินเก็บมาลงทุนเพื่อให้เงินเติบโตอย่างรวดเร็ว (แนะนำให้ศึกษาดูค่ะ)

1.    จขกท. ชีวิตเรียบง่ายมาก ไม่ติดเที่ยว ดื่ม แยกได้ว่าอะไรคือของ “จำเป็น” หรือ “แค่ของมันต้องมีตามกระแส” ด้วยรายรับที่มากขึ้น..ไม่ได้เปลี่ยนนิสัยของ จขกท. แต่อย่างใด ไม่ฟุ้งเฟ้อ เคยเดินตลาดนัด กินข้าวข้างทาง เดินตลาดชาวบ้าน ยังไง ปัจจุบันก็ยังทำอย่างนั้น สินค้าที่ใช้ก็เอาแค่พอประมาณ ราคาตามคุณภาพ คุ้มค่า
พวกของตามกระแส ไม่เคยได้กินเงิน จขกท มาแต่ไหนแต่ไร..ไม่ได้ขี้เหนียวนะ แต่แค่ไม่รู้จะดิ้นรนซื้อมาทำไม เพราะรู้ว่าไม่นานก็ทิ้งไว้รกบ้านแน่ๆ
มีสปอยส์ตัวเองมั้ย มีค่ะ โดยเฉพาะเรื่องกิน นานๆ ทีก็อยากกินของอร่อย/ ของโปรดเนอะ จัดไม่อั้นเหมือนกัน..เวลาว่างก็ท่องเที่ยวเต็มที่ ไป ตปท. ทุกปี ปีละ 3-4 ครั้ง (แต่ จขกท มีบัดเจ็ทชัดเจน) เที่ยวปกตินะ บิน Eco โรงแรม 3-5 ดาวแล้วแต่โปร
2.    ถ้าจะซื้อของแพง จะซื้อต่อเมื่อรู้ว่าระยะยาวคือกำไรแน่นอน เปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดได้ง่าย เช่น นาฬิกา ทองคำ เป็นต้น ส่วนพวกกระเป๋า เสื้อผ้า Fast-fashion คือ จบที่สูงสุดแค่แบรนด์ Coach, C&K, MK, H&M ทั่วไปแค่นั้น
3.    บัตรเครดิต อย่ารูดใช้แล้วจ่ายขั้นต่ำ..จ่ายทั้งก้อนสิ้นเดือนไป (อย่าติดกับดักบัตรเครดิต) แบบนี้เราจะได้แต้มแต่ไม่เสียดอกเบี้ย แล้วเอาแต้มไปใช้เป็นส่วนลด/ แลกตั๋วเครื่องบิน อื่นๆเอา
4.    ความมีวินัยในการใช้เงิน การเก็บออมนะ ลองกำหนดเป้าหมายแบบระยะสั้นก่อน เพื่อท้าทายตัวเองก้ได้ จากนั้นกำหนดเป้าหมายยาวขึ้น ทำไปเรื่อยๆเถอะ เมื่อเวลาผ่านไป 4-5..10 ปี จะเห็นเลยว่าดอกผลมันงอกเงยได้มากแค่ไหน จขกท ก็ศึกษาเอาเอง ลองผิดถูก เสียเวลาไปบ้างเหมือนกัน แบบรู้งี้ทำตั้งนานแล้ว..
5.    ถ้าจะลงทุนอะไรสักอย่าง ลองลงทุนเรื่อง “การศึกษา” ... คุณอาจไม่ต้องเสียเงินเรียนด้วยซ้ำ เสียแค่เวลาเท่านั้น เดี๋ยวนี้อยากรู้อะไร เปิด Youtube/ Internet ดูเอาก็ได้ จขกท. ก็ใช้เวลาว่างเอานี่แหละ ล้างจาน/ทำกับข้าว/ขับรถก็เปิดฟังไปเรื่อยๆ
สิ่งสำคัญคือ พัฒนาตัวเองเสมอ ทั้งเรื่องงาน เรื่องลงทุน เรื่องบริหารการเงิน
6.    "อย่าเกินตัว" และหัดรีวิวสถานการณ์การเงินประจำ จะได้รู้ว่าเราอยู่จุดไหน เป้าหมายว่างไว้แบบนี้ แล้วฉันจะเดินต่ออย่างไร ถ้ามีหนี้จะปิดหนี้ไหนก่อน เป็นต้น จขกท. รีบปิดหนี้ผ่อนบ้านกับรถก่อนเลย หมดแล้วสบายตัว ที่เหลือเก็บอย่างเดียว และอย่าก่อหนี้ถ้าไม่จำเป็น..ซึ่งย้อนกลับไปที่ข้อ 1

เพิ่มเติม
จขกท แยกกระเป๋ากับสามีค่ะ แต่มีเก็บเงินลงพอร์ทลงทุนด้วยกันทุกเดือน
สามีมีงาน/เงินเก็บ/บ้านที่ประเทศบ้านเกิดตัวเอง พูดสั้นๆคือ สามีอยู่แดนบวกเหมือนกันค่ะ ไม่มีหนี้อะไร เก็บอย่างเดียว
กระทู้นี้เพื่อ จขกท คนเดียวล้วนๆ ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่