“ห๊ะ !! อะไรนะ จอร์เจีย หรอ ” ไม่ใช่จอร์เจียเ ราไปจอร์แดน “ ไปทำไมจอร์แดนมีอะไร ร้อนจะตาย ”
คำพูดของใครหลายคนเมื่อถามถึงว่าทริปของเราปีนี้ไปไหน แน่นอนว่าถ้าพูดถึงประเทศนี้ คงไม่ใช่จุดหมายปลายทางของใครหลายคนอย่างแน่นอน
สำหรับทริปนี้เป็นทริปแรกของเราที่เขียนรีวิวลงพันทิป เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนๆหลายคนในห้องนี้เวลาออกไปเที่ยวที่ต่างๆ เลยตั้งใจเอาไว้ว่าวันนึงจะลองเขียนกระทู้เองให้ได้ สไตล์การเที่ยวของเรานั้น ส่วนตัวภาษาอังกฤษพอสื่อสารได้ไม่ถึงกับคล่อง งบประมาณค่อนข้างจำกัด เพราะฉะนั้น การเที่ยวของเราจึงไม่เน้นช็อปปิ้ง กินของข้างทางได้ไม่มีปัญหา อยากกินเวลาไหนกิน อยากตื่นเวลาไหนตื่น ทั้งทริปเที่ยวแบบหลวมๆไม่จัดรายการเที่ยวหนักเกินไป สำหรับทริปนี้ก็จะเป็น Wadi Mujib - Dead Sea - Wadi rum - Petra - Amman เเละ Jerash
จอร์แดนอยู่ไหน ?
จากแผนที่ถ้าเราประมาณระยะทางจากรุงเทพไปยังกรุงอัมมานเมืองหลวงของจอร์แดน เราลองลากเส้นตรงๆก็ประมาณ 7,000 กิโลเมตร
ซึ่งหากจะบินตรงมายังอัมมานก็ใช้เวลาราวๆ 8 ชั่วโมง ปัจจุบันมีเพียงสายการบินเดียวที่ทำการบินตรงมายังกรุงอัมมานประเทศจอร์แดนคือสายการบิน Royal Jordanian ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของจอร์แดนให้บริการแบบ Full Service น้ำหนักกระเป๋า อาหาร ครบครัน แบบจัดเต็ม
ประเทศที่เป็นพรมแดนก็จะพบว่าหลายๆประเทศแถบนี้ต่างเคยขึ้นข่าวหน้าหนึ่งมาก่อนแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลทางใต้และตะวันตก ซีเรียทางตอนเหนือ อิรักและซาอุดิอารเบียตะวันออก จนเราเองก็แอบเขวๆเหมือนกันนะว่าจะปลอดภัยจะมาดีรึเปล่า สุดท้ายก็เอาวะไม่ลองไม่รู้
ออกเดินทาง
เราเดินทางมาถึง วันที่ 9 เมษายน 2567 ซึ่งโดยปกติแล้ว เวลานี้เป็นช่วงของฤดูใบไม้ผลิของที่นี่ อุณหภูมิประมาณ 22 – 23 องศาในเวลากลางวัน และ 15 – 18 องศาในเวลากลางคืน ถือว่าอากาศดีมากสำหรับเรา สามารถเดินตากแดดได้โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าร้อน การแต่งกายก็แต่งแนวเดียวกับที่ไทยได้เสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เอาอยู่ เพราะแม้อากาศจะเย็นแต่ด้วยความที่มีแดด เลยไม่รู้สึกว่าร้อนหรือเย็นเกินไปนัก ถ้าจะพูดตามความรู้สึกเราคือเหมือนเดินเล่นอยู่ในห้องแอร์ปกติ ไม่ได้รู้สึกร้อนหรือหนาวแต่อย่างใด
9 เมษายน 2567 เราออกเดินทางจากหาดใหญ่ด้วยการบินไทยด้วยเที่ยวบินที่ TG-268 เวลา 20.40 น.ถึงสุวรรณภูมิ 22.15 น. ได้น้ำหนักกระเป๋ามา 25 กิโลกรัม ถือว่าเพียงพอสำหรับทริป ประมาณ 9 วัน เรากดจองได้มาในราคา 4,422 บาทถือว่าราคาพอรับได้ไม่แพงเกินไป เพราะหากจะบินโลว์คอส ก็จะต้องลงดอนเมือง พอบวกน้ำหนักกระเป๋าไปราคาก็พอๆกันแถมต้องเสียเวลาเปลี่ยนสนามบินอีก
ขาออกจากสุวรรณภูมิไปจอร์แดนเราเลือกสายการบิน Gulf Air เที่ยวบิน GF-151 กดได้มาในราคา 27,525 บาท ได้น้ำหนักกระเป๋าคนละ 23 กิโลกรัม จองล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน ถือว่าค่อนข้างสูงไปหน่อยสำหรับเรา แต่ก็ไม่มีทางเลือกเพราะด้วยงานที่ทำอยู่สามารถลาไปได้แค่ช่วงนี้เท่านั้น อีกอย่างต่อเครื่องประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาทีก็ถือว่าไม่นานเกินไปเมื่อเทียบกับสายการบินเจ้าอื่นในราคาที่ใกล้เคียงกัน
Gulf Air เช็คอินที่ Row Q และความบันเทิงแรกก็เริ่มเลย เมื่อเจ้าหน้าที่เช็คอินถามว่า
“ พี่กลับจริงใช่มั้ย” เรากับเพื่อนที่ไปด้วยกันถึงกับหัวเราะ กันออกมา เพราะท่าทางเจ้าหน้าที่ถามแบบจริงจังมาก เราเลยยืนยันไปว่าใช่ เหมือนเค้าก็ยังไม่เชื่อเลยขอดูใบจองโรงแรมที่พักเพิ่มอีก ทางนี้เลยให้ไป เจ้าหน้าที่เอ่ยต่อ
“พี่เปลี่ยนโรงแรมเกือบทุกวันเลยหรอ พี่จะเดินทางกลับจริงๆใช่ไหม ” ทางเรายิ้มเเล้วพยักหน้า เจ้าหน้าที่คนนั้นถึงยอมและปริ้นบอร์ดดิ้งพาสมาให้ โดยเราจะได้สองใบทีเดียวเลยคือ ขาออกจากสุวรรณภูมิไปบาห์เรน และจากบาห์เรนไปอัมมาน ในใจตอนนั้นคือขนาดเจ้าหน้าที่เช็คอินขนาดนี้ เจอ ตม.จอร์แดนนี่ขนาดไหน
Gulf Air ขาไปสุวรรณภูมิ - บาห์เรน
เครื่องบิน : Boeing 787-9 สภาพค่อนข้างใหม่ ผู้โดยสารวันนี้ประมาณ 70 % บอร์ดดิ้งตรงเวลาไม่นานมาก ให้ 10/10 เลย
ที่นั่ง : จองที่นั่งล่วงหน้าไม่ได้เลยต้องมาขอที่เคาท์เตอร์ เจ้าหน้าที่ก็ใจดีจัดริมหน้าต่างให้ตามคำขอ เราสูง 178 ถือว่าเข่าไม่ติดนั่งสบาย
เเต่ความรู้สึกเหมือนตัวเบาะมันบางๆไปนิด ให้ 9/10 ไว้ก่อน
อาหารเเละเครื่องดื่ม : อาหารมื้อเเรกเวลาประมาณ 05.30 น. ตามเวลาไทย เป็นออมเลทกับไส้กรอกรสชาติค่อนข้างจืดไปหน่อย
ก่อนเเลนด์จากที่เคยอ่านรีวิวเหมือนจะเสิร์ฟอีกมื้อนึง เเต่เอาเข้าจริงเสิร์ฟเฉพาะขนมปังให้ชิ้นนึงรสชาติไม่ค่อยถูกปาก
เเต่เครื่องดื่มจัดเต็มได้เลย ขอให้เเค่ 8/10
In-Flight Entertainment : จอทัชสกรีนค่อนข้างลื่นมีเกมส์มีหนังไว้บริการ เเต่เราหลับเลยไม่ได้ใช้ ให้ 10/10
พักครึ่งที่บาห์เรนประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที
Gulf Air ขาไปบาห์เรน - อัมมาน
เครื่องบิน : Airbus A320-200 เครื่องเล็กลงมาหน่อยเพราะบินประมาณ 2 ชั่วโมงออกตรงเวลา ไฟลท์นี้บินพร้อมกับกรุ๊ปทัวร์ชาวอินเดียเลยคึกคักหน่อย ให้ 10/10 เหมือนเดิม
ที่นั่ง : ค่อนข้างกว้าง เข่าไม่ติดเบาะนั่งสบายกว่าไฟลท์ที่บินมาจากสุวรรณภูมิ ให้ 10/10
อาหารเเละเครื่องดื่ม : อันนี้เรียกไม่ถูกว่าชื่อเมนูออะไรไม่เเน่ใจเรียกว่าเคบับรึเปล่า เสิร์ฟมาในสไตล์ของว่างไม่หนักท้องนัก ลักษณะเป็นแผ่นแป้งห่อด้วยไก่เสิร์ฟแบบเย็นมา ทานเเล้วรู้สึกสดชื่นดี รสชาติแปลกๆหน่อยพอทานได้ ขนมเป็นคุกกี้รสอินผลัมเเละก็เค้กอีก 1 ชิ้น ทานได้เเต่ไม่หมด 8/10
In-Flight Entertainment : จอทัชสกรีนควบคุมผ่านโทรศัพท์ มีเกมส์มีหนังให้เล่นเพลินๆ ให้ 10/10
ตัดเกรด Gulf Air ได้อยู่ที่ 9.3 คะเเนน ค่อนข้างชอบเเละประทับใจกับการบริการเเละราคาที่พอจะเอื้อมถึงได้
ใครสนใจจะมาจอร์แดนขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกเหนือจากเวลาเเละการบริการที่ดีเเล้ว ทางสายการบินมีบริการ
โรงเเรมฟรีพร้อมอาหาร 2 มื้อ สำหรับรอต่อเครื่องที่บาห์เรนตอนขากลับ เดี๋ยวจะมาเเนะนำขั้นตอนในกระทู้ถัดไป
ย่างเข้าจอร์แดน
การเข้าประเทศจอร์แดน โดยปกติแล้วคนไทยจะต้องทำ Visa on Arrival แต่เราเลือกซื้อ Jordan Pass จากเว็บ
https://www.jordanpass.jo ซึ่งก็เป็นค่าวีซ่าเข้าประเทศและค่าเที่ยวชมสถานที่ไปในตัว จากเครื่องให้เดินไปยังช่องทางแยกออกมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ถือ Jordan Pass เจ้าหน้าที่จะทำการสแกน QR CODE เพื่อให้เดินต่อไปยัง ตม. ได้เลย เมื่อถึง ตม. ขั้นนี้ถือว่าค่อนข้างตื่นเต้นสำหรับเรา เพราะด้วยความที่ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น บวกกับสำเนียงอารบิกที่เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกอีก เลยอาจจะดูตื่นเต้นไปบ้างแต่ก็ต้องทำนิ่งๆใจดีสู้เสือไว้ ไม่งั้นโดนถามมาก โชคดีคราวนี้โดนถามแค่ว่า มาจากไหน มากี่วัน มาเที่ยวที่ไหนบ้าง ก็เลยพอจะเอาตัวรอดมาได้ ส่วนเพื่อนของเราก็รอดตามเคยไม่โดนถามอะไรสักคำ
หน้าตาของจอร์แดนพาสที่ส่งมาในเมลล์ เราซื้อแบบเข้าเพตราวันเดียว สนนราคาอยู่ที่ 70 JOD ประมาณ 3,640 บาท
หลังจากออกมาขั้นตอนต่อไปของเราคือซื้อซิม เราซื้อซิมของบริษัท Orange ( ด้านซ้ายมือ ) ประมาณ 15 JOD เรทตอนเราไปประมาณ 52 บาทตกเป็นเงินไทยก็ราวๆ 780 บาท จะได้เน็ต 20GB โทรในประเทศได้ไม่จำกัดแถมโทรต่างประเทศ 20 นาที
ตัดเกรด สัญญาณเน็ต ได้อยู่ที่ 8 คะเเนน คุณภาพสัญญาณของเน็ตสัญญาณถือว่าค่อนข้างดี จะมีติดขัดนิดหน่อยตรงช่วง Dead sea
การเดินทางในจอร์แดน เราเช่ารถจากแอพ Discover Cars จากบริษัท Payless เพราะสามารถรับรถได้ที่สนามบินเลยแต่ราคาก็ถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับการไปรับรถจากบริษัทข้างนอก ถือเอาความสะดวกไว้ก่อน เราจองโตโยต้า ยาริสไป ราคารวม 9702 บาทรวมประกันเรียบร้อย จำนวน 10 วัน ทางบริษัทจะตัดบัตรเราล่วงหน้าก่อนประมาณ 2000 ที่เหลือจ่ายตอนรับรถที่สนามบิน การเติมน้ำมันได้รับครึ่งถึงเติมกลับก็ครึ่งถังเหมือนเดิม
คืนแรกและคืนที่สองเราพักอยู่ที่ Crowne Plaza Jordan - Dead Sea Resort & Spa เราจองได้ในราคา 13,860 บาทถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับที่พักวันอื่นๆ แต่สาเหตุที่ยอมเลือกเนื่องจากว่าโรงแรมนี้มีชายหาดส่วนตัวไว้สำหรับแช่ทะเลเดดซี เนื่องจากเราไม่สามารถแช่ทะเลเดดซีตรงไหนก็ได้ ต้องลงไปหาดสาธารณะที่ทางการจัดไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้นการเลือกโรงแรมที่มีชายหาดส่วนตัวจึงตอบโจทย์สุด อีกทั้งมีบริการอาหารเช้าและกิจกรรมต่างๆ ให้ทำทั้งสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกายหรือร้านอาหารต่างๆที่ครบจบในที่เดียว
หลังจากเข้าที่พักก็พักผ่อนเอาแรงกันหลังจากที่เดินทางกันมานานเเล้วว่ากันใหม่สำหรับทริปในวันต่อไป
สำหรับ EP.1 เตรียมตัวออกเดินทาง ขออนุญาตจบไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ
CR. Jordan 2024 ด้วยตนเอง ฉบับตัดเกรดตามใจฉัน EP.1 เตรียมตัวออกเดินทาง
จอร์แดนอยู่ไหน ?
Gulf Air เช็คอินที่ Row Q และความบันเทิงแรกก็เริ่มเลย เมื่อเจ้าหน้าที่เช็คอินถามว่า “ พี่กลับจริงใช่มั้ย” เรากับเพื่อนที่ไปด้วยกันถึงกับหัวเราะ กันออกมา เพราะท่าทางเจ้าหน้าที่ถามแบบจริงจังมาก เราเลยยืนยันไปว่าใช่ เหมือนเค้าก็ยังไม่เชื่อเลยขอดูใบจองโรงแรมที่พักเพิ่มอีก ทางนี้เลยให้ไป เจ้าหน้าที่เอ่ยต่อ “พี่เปลี่ยนโรงแรมเกือบทุกวันเลยหรอ พี่จะเดินทางกลับจริงๆใช่ไหม ” ทางเรายิ้มเเล้วพยักหน้า เจ้าหน้าที่คนนั้นถึงยอมและปริ้นบอร์ดดิ้งพาสมาให้ โดยเราจะได้สองใบทีเดียวเลยคือ ขาออกจากสุวรรณภูมิไปบาห์เรน และจากบาห์เรนไปอัมมาน ในใจตอนนั้นคือขนาดเจ้าหน้าที่เช็คอินขนาดนี้ เจอ ตม.จอร์แดนนี่ขนาดไหน