ตัดขาดทุน = ทำลายพอร์ต?! Loss Aversion & Perfectionist

กระทู้สนทนา
โดย Zyo : https://www.facebook.com/zyobooks

ต่อจากประเด็นเมื่อวานครับ มีคำถามที่น่าสนใจว่าด้วย "ความไม่ชอบการตัดขาดทุน"
ตัดขาดทุน = ทำลายพอร์ต

ถึงกระนั้นต้องบอกกันแบบแฟร์ ๆ ตั้งแต่แรกเลยว่า
"การตัดขาดทุนเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน
มันเป็นเงินของคุณ ความเชื่อของคุณ
เรามาเทรดตามความเชื่อ ไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย"
เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ
ทำในสิ่งที่เชื่อจนกว่าคุณจะพบว่า "ไม่ไหวว่ะ การทำแบบนี้มันแย่เกินไปแล้ว
ฉันอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณก็จะเปลี่ยนความเชื่อได้เอง"

ทีนี้คุณต้องถามตัวเองว่า
คุณเจ็บปวดกับการขาดทุนมั้ย? - ถ้าไม่เจ็บเลย เฉย ๆ ชิล ๆ ก็ข้ามไปไม่ต้องสนใจใครที่พูดเรื่องนี้
แต่ถ้าเจ็บจนทนไม่ไหวแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะง่ายขึ้นครับ

“Change happens when the pain of staying the same is greater than the pain of change.”
“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อความเจ็บปวดจากการไม่ทำอะไร > ความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลง”
- โทนี ร็อบบินส์

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยติดหล่มความเชื่อนี้มานานมาก ๆ
ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการเทรดมาสิบปี ก็มีความเห็นแบบนี้มาโดยตลอด
และผมเป็นคนหนึ่งที่รอดมายาวนานได้ แถมมีกำไรติดมือมาเรื่อย ๆ เพราะตัดขาดทุน
จึงเห็นประโยชน์และค่าของมัน
สำหรับผม การขาดทุน...
- ช่วยไม่ให้ผมติดดอย
- ช่วยให้ผมกำจัดหุ้นผู้แพ้ได้ไวขึ้น

** เรื่อง Drawdown นั้นเห็นด้วยนะ ตัดขาดทุนทีไรก็เงินหายทุกที แต่ที่ผมไม่ซีเรียส
เพราะผมมักจะมีเงินเดิมพันในหุ้นผู้แพ้นั้นน้อยมากเสมอ
ส่วนหุ้นผู้ชนะผมมักจะมีเงินลงทุนก้อนโตกว่าหลายเท่าเลย
ถ้าในพอร์ตของคุณมีหุ้นผู้ชนะที่เป็นหุ้นขาขึ้นที่แข็งแรงอยู่หลายตัว คุณจะมองการเทรดของคุณในแง่บวก
คุณจะชอบกลยุทธ์ของคุณ และจะมันทำให้คุณรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ขายหุ้นผู้แพ้ออกให้ไว ๆ
จะได้เอาเงินสดไปเข้าดาวรุ่งตัวใหม่ หรือซื้อผู้ชนะเพิ่มเพื่อจะเพิ่มขนาดกำไรให้คุณ**

ตัดขาดทุน = ทำลายพอร์ต
ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ เป็นความจริง
และคนคิดแบบนี้มีถึง 90%++ ของตลาดเลยทีเดียว
คุณไม่ได้เดินเดียวดาย คุณไม่ผิด

**มันทำลายพอร์ตยังไง? เราเคยสังเกตมั้ย?
เอาจากตัวผมเองนะ มี ๔ สาเหตุหลัก
๑) ความแม่นยำของการคัดหุ้นของคุณต่ำมาก - คุณซื้อหุ้นตามอารมณ์? / มีสัญญาณซื้อมากเกินไป แต่ไม่รู้จริงสักเรื่อง? / เจอ Losing streak ขาดทุนติดต่อกันเป็นประจำ?
๒) คุณไม่ได้ตัดขาดทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ - เทรดด้วยความหวัง? กลัวคัทแล้วเด้ง Loss Aversion กลัวคิดผิด เดี๋ยวมันก็กลับมา ถ้าไม่หมดหวังจริง ๆ ก็ไม่ขาย
๓) Position Size ของคุณโตเกินไป - อยากรวยเร็ว? อยากพิสูจน์ตัวเอง? อยากแก้แค้นเอาคืนตัวที่ขาดทุนหนัก
๔) ไม่อยากแพ้เลย ต้องการกำไรทุกครั้ง - Perfectionist นิยมความสมบูรณ์แบบ?
๕) ความเชื่อเกี่ยวกับการขาดทุน - ขาดทุน = โง่?? และ ตัดขาดทุน = โคตรโง่??

เมื่อถอยออกมา มองกลับไปด้วยใจเป็นกลาง จะพบว่า
การตัดขาดทุน เป็นแค่ "ปลายเหตุ"
ต้นเหตุ คือ การเทรดโดยไม่ระวัง และความคาดหวังที่ไม่สมจริง
ต้นเหตุมาจากความเชื่อของคุณเอง

เทรดโดยไม่ระวัง ยังไงก็ต้องโดน แถมโดนบ่อยด้วย
ความคาดหวังไม่สมจริง = Perfectionist ไม่อยากพลาด/ไม่อยากขาดทุนเลย พยายามซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุด
เมื่อ Perfectionist + เทรดโดยไม่ระวัง = พอร์ตพังอย่างไม่ต้องสงสัย
ที่สำคัญคือ การขาดทุนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ เซียนก็เลี่ยงไม่ได้
ความจริงนั้น การคิดผิด การขาดทุน เป็นเรื่องธรรมชาติของการเทรด ไม่มีใครเลี่ยงได้
มืออาชีพที่อยู่รอดได้ยาวนาน ก็คิดผิดและขาดทุน แต่เขาไม่เลี่ยง เขาหันหน้าเข้าหาบริหารจัดการ ด้วยการตัดขาดทุนและ Position Size ที่เหมาะสม
ที่เขาทำได้เพราะเขามีความเชื่อเกี่ยวกับการขาดทุนที่แตกต่าง
เซียนมองว่า ขาดทุน = เรื่องปกติ ใคร ๆ ก็เจอ ดังนั้น ขาดทุน -> ดูแผนการขาย ถ้าเข้าแผนก็ขายออก

## Cut loss เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
อย่าเอาแต่โทษ Cut loss แต่ต้องดูที่มาของการ Cut loss


คุณต้องรู้ตัวเลขของกลยุทธ์เทรดของคุณ
Win Rate ของคุณเท่าไหร่?
ตลาดที่เป็น Easy Money ของคุณมีลักษณะอย่างไร?
Risk Reward ของคุณเท่าไหร่?
Position Size ของคุณเท่าไหร่ต่อหุ้นหนึ่งตัว?
หุ้นผู้ชนะของคุณหน้าตา(ทรง)เป็นแบบไหน? เป็นต้น

คุณคุมได้เฉพาะ Risk นั่นคือจำกัดขนาดการขาดทุนให้เสียน้อย
Reward หรือกำไรนั้น คุณต้องโอนอ่อนตามตลาด คุณบังคับราคาให้ขึ้นไม่ได้
Cut loss เป็นการจัดการผลการเทรดที่แย่ นั่นคือการ Exit ออกจากหุ้นที่แย่ให้ไว
Exit ที่ดี ก็จำกัดขนาด Risk ได้ดีมาก

ถ้าคุณตัดขาดทุนแล้วเสียเยอะ ต้นตอปัญหาคือ
- Position Sizing ของคุณไม่ถูกต้อง
- คุณเทรดมั่ว ตามใจตัวเอง หน้าเทรดเยอะเกินไป?? - อยากรวยเร็ว 
- คุณจับจังหวะตลาดไม่ถูกต้อง - อยากเทรดตลอดเวลา (FOMO)
- คุณไม่รู้ว่าหุ้นที่คุณคิดผิดมันเป็นยังไง? - คุณไม่ไม่สามารถยอมรับว่าคุณคิดผิดได้ง่าย ๆ (Perfectionist )
งานนี้คุณต้องกลับไปตรวจสอบการเทรดของตัวเองให้ดี แล้วแก้ไข(ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงนะ)

พี่มาร์ค มิเนอร์วินี ยอดเซียนหุ้นบอกว่า
“หากคุณถูกตัดขาดทุนซ้ำๆ กัน อาจเป็นหนึ่งในสิ่งต่อไปนี้:
1. การจับจังหวะตลาดของคุณไม่เวิร์คแล้วในตอนนี้
2. สภาพแวดล้อมของตลาดไม่เป็นมิตรกับกลยุทธ์ของคุณ
3. เปอร์เซ็นต์ตัดขาดทุนของคุณแคบเกินไปสำหรับการจับจังหวะของคุณ
แต่ทั้งนี้…การเพิ่มความเสี่ยงโดยการขยายขนาด Stop loss ให้กว้างขึ้นนั้นไม่ได้ช่วยแก้ไขการจับจังหวะที่แย่ของคุณ
แต่กลยุทธ์การตัดขาดทุนแคบ ๆ จะช่วยคุณได้มากหากมีการจับจังหวะที่ดี(และตลาดที่เป็นมิตร)"

## Position Sizing คือการแก้ไขที่ต้นเหตุ
คุณต้องกล้าถามตัวเอง และเชื่อในคำถามที่ว่า
"ถ้าคิดผิดฉันจะยอมเสียเท่าไหร่?"
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะน้อยคนนักที่จะทำได้
นี่คือ "การให้ความเสี่ยงมาก่อน"

คนส่วนใหญ่ มักคิดว่า "ถ้าฉันคิดถูก ฉันจะได้กำไรมากแค่ไหน?"
การคิดแบบนี้แหละที่ทำให้คุณ อัด Position Sizing เต็ม ๆ ตั้งแต่ไม้แรก
แล้วพอขาดทุน การตัดขาดทุน 5% จึงเสียหายหนัก
และถ้าเป็น Losing streak ด้วยล่ะก็พอร์ต Drawdown(ขาดทุน) หนักเลย

ต้นตอปัญหาก็คือ ความเชื่อของคุณ
คุณต้องเปลี่ยนให้ได้ เพราะความเชื่อนี้มันสวนทางกับธรรมชาติของนักพนันมือสมัครเล่น(Mass มือใหม่มาด้วยทัศนคติแบบนี้กัน)
คุณต้องเปลี่ยนให้ได้

ถ้าเปลี่ยน จาก  "ถ้าฉันคิดถูก ฉันจะได้กำไรมากแค่ไหน?"
ย้ายไปเป็น "ถ้าคิดผิดฉันจะยอมเสียเท่าไหร่?"
วิธีการของคุณจะเปลี่ยนไปเป็นคนละขั้วเลย

นี่เป็นวิธีคิดของคนกลุ่มน้อย ที่อยู่รอดได้ยาวนาน
"ถ้าคิดผิดฉันจะยอมเสียเท่าไหร่?" จะช่วยให้คุณ
- เริ่มต้นซื้อหุ้นไม้แรกที่น้อย ๆ ก่อน เพื่อลองตลาด
- สมมุติจากเดิมที่คุณมีความเชื่อ "ถ้าฉันคิดถูก ฉันจะได้กำไรมากแค่ไหน?"
- คุณซื้อไม้แรกไม้เดียวจบเต็มโควตา 100,000 บาท
- ถ้าไม้แรกคิดผิด คุณต้องตัดขาดทุน 5% คุณเสียเงิน 5,000 บาท

แต่ถ้าคุณให้ความเสี่ยงมาก่อน "ถ้าคิดผิดฉันจะยอมเสียเท่าไหร่?"
- คุณจะกล้าแบ่งไม้ซื้อแบบใหม่ ไม้แรกฉันจะลองแค่ 10,000 บาท
แบบนี้เขาเรียกว่า Pilot position size (การแบ่งไม้ซื้อไม้แรกด้วยเงินก้อนน้อยๆ)

พี่มาร์ค มิเนอร์วินี ยอดเซียนหุ้นบอกว่า
“ผมจะ Pilot buy ด้วยเงินก้อนเล็ก ๆ
หากตลาดสามารถยืนได้ดี ผมจะเพิ่มเงินลงไปอีก”

"เมื่อ Pilot position ของผมเริ่มทำงาน ผมจึงเหยียบคันเร่งเท่านั้น
การตัดสินใจนั้นไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจ แต่ขึ้นอยู่กับผลตอบรับ
False breakout และความล้มเหลวของฐานมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์
พวกมันให้ข้อมูลอันมีค่าแก่คุณเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนตามนั้น”

ข้อดีของ Pilot position size (การแบ่งไม้ซื้อไม้แรกด้วยเงินก้อนน้อยๆ)
- ถ้าคิดผิด ด้วยไม้แรกคุณลองแค่ 10,000 บาท ตัดขาดทุน 5% คุณเสียเงิน 500 บาท
- ถ้าฉันคิดถูก ราคาวิ่งขึ้น ฉันจะซื้อเพิ่มเดิมพันไปเรื่อย ๆ จนครบโควตา 100,000 บาท
- การทำแบบนี้ มันจะช่วยลดขนาดความสูญเสียได้มหาศาลเลย
- การทำแบบนี้ แม้คุณจะมี Win Rate แค่ 30% ก็รอดและรวยได้
เพราะคุณจำกัด Downside ได้ยอดเยี่ยมครับ

งานนี้คุณจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่อง Position Sizing อย่างจริงจัง
หลักการของ Position Sizing คือ
"หุ้นที่คุณคิดผิด ต้องมีเงินเดิมพันให้น้อย
หุ้นที่คุณคิดถูก ต้องมีเงินเดิมพันให้เยอะ"
และกฎทองคำของการเทรดจึงเป็น “Cut your losses short and let your profits run.” ไงครับ

Position Sizing คือด่านสุดท้ายที่นักเทรดผู้ดิ้นรนต้องเรียนรู้
ถ้าคุณกระจ่าง ผ่านได้ ใช้งานดี 
จากนั้นไป คุณจะรอดและทำกำไรสม่ำเสมอได้ไม่ยากแล้วครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่