คืนส่องเทียน 2528

ในสมัยนั้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐมีการแข่งขันสูงมากๆ การเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้ หมายถึงต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิด คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเท่านั้น

   สมัยนั้นยังไม่มี มสธ. ไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชน มีแต่วิทยาลัยเอกชน (college) ซึ่งวิทยาลัยเอกชนแถวหน้าในสมัยก็มี วิทยาลัยกรุงเทพ หอการค้า และ เอแบค ซึ่งค่าเทอมก็เอาเรื่องอยู่

   ถ้าหลุดจากนี้ไปก็เป็นโรงเรียนเฉพาะทางของหน่วงงานรัฐที่รับเด็กที่จบ ม.6 เช่น โรงเรียนป่าไม้ จ.แพร่ พานิชย์นาวี ปากน้ำ สมุทรปราการ และ โรงเรียนการไปรษณีย์โทรเลข เขตบางรัก แถวๆถนนเจริญกรุงในปัจจุบัน

   สำหรับเด็กบ้านนอกจากชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างๆอย่างผมมีทางเลือกไม่มากนักนอกจากที่ว่ามานั่นแหละ

   รูปแบบการสอบสมัยนั้นเป็นระบบไร้กระบวนท่า ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่แบ่งที่มาที่ไป กล่าวคือ ไม่สนว่าจะเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ เข้าสอบได้ เลือกได้ทุกคณะที่อย่างเลือก ไม่ดูวุฒิ ม.6 ด้วยซ้ำตอนสมัครสอบ แต่ถ้าสอบได้แล้วจะสมัครเรียน ต้องเอาวุฒิ ม.6 หรือ เทียบเท่ามาแสดงประกอบการลงทะเบียนเรียน

   ระบบแบบนี้จะว่ายุติธรรมก็ได้ จะว่าไม่ยุติธรรมก็ได้อีกเหมือนกัน ขึ้นกับว่าจะหยิบมุมไหนของระบบมาถกกัน

   ผมเห็นช่องว่างของระบบตรงที่ไม่ต้องแสดงวุฒิ ม.6 ตอนสมัครสอบ เลยของตังค์แม่ไปสมัครสอบตั้งแต่ ม.4 และ ม.5 เลย

   ในบ้านหลังเล็กๆของเรา แม่ผมเป็น CFO (Chief Finance Officer) ตัวตึง ค่าสมัครสอบไม่มากก็จริง แต่แม่ผมมีลูก 4 คน กับ พ่อ อีก 1 ที่แม่บอกว่าเป็นลูกคนที่ 5 ทำให้ค่าใช้จ่ายบ้านค่อนข้างตึงไปด้วย

   ทักษะการโน้มน้าวเอางบฯจากฝ่ายบริหารจัดการที่ผมมีทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากที่ต้องเรียนรู้โน้มน้าวแม่ผมนี่แหละ

   ผมบอกแม่ว่า การสอบนี้มันสำคัญกับเด็ก ม.6 ดังนั้นต้องซ้อม ไม่ให้พลาด ทั้งการสมัคร ประกาศสถานที่สอบ ทำบัตรประจำตัวสอบ สำรวจเส้นทางเดินทางไปสอบ บรรยากาศ และ ความกดดันในการสอบ แล้วผมจะเป็นคนแรกของบ้านที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย

… ผมพกความรู้ไปเท่าที่รู้ในตอนนั้นนั่นแหละเข้าห้องสอบ

   ม.4 (2526) สอบติดวนศาสตร์ ม.เกษตร ม.5 (2527) สอบติดวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าบางมด (สมัยนี้คือ มจธ.)

   กลับมาที่ปี 2528 … ทบวงให้เราเลือกได้ 6 คณะ ระบบการสอบแบบโป้งเดียวจอด ไม่มีคะแนนเก็บจากเกรด ม.ปลาย ไม่มีคะแนนผลงานสะสม(portfolio) ไม่มีคะแนนจิตพิสัย ไม่มีแต้มต่อใดๆทั้งสิ้น … ใครจบสายศิลป์อยากเลือกหมอศิริราชก็ย่อมได้ ไม่ห้าม ประมาณนั้น

   เราต้องเลือก 6 คณะ ก่อนสอบ โดยเรียงจากคณะที่อยากได้มากสุดไล่ลำดับไป หมายความว่า เลือกคณะก่อนรู้คะแนนสอบ นั่นแปลว่าเราไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของช่วงคะแนนของแต่ล่ะคณะที่เราอยากเลือกเข้าเรียน

   ถ้าเราประเมินตัวเองสูงไป เลือกแต่คณะที่คะแนนสูงๆ เราอาจจะแห้วหมดเลย แต่ถ้า play safe เราสอบติดสักคณะก็จริง แต่เป็นคณะที่ไม่อยากเรียนเท่าไร หรือ น่าจะได้คณะดีกว่านี้

   รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง … ตำราพิชัยซุนวู่นี้ใช้ได้ในกรณีนี้

   “รู้เรา” … รร.กวดวิชา หรือ มหาวิทยาลัยดังๆมักจัด พรีเอ็นทรานซ์ขึ้น โดยคณาจารย์ต่างๆ ซึ่งอ้างว่าความยากง่ายใกล้เคียงกับข้อสอบของปีที่จะสอบกัน … แน่นอนว่าเสียตังค์ และ มักจัดกันใน กทม. หรือ หัวเมืองใหญ่ตามต่างจังหวัด

   ส่วนเด็กต่างจังหวัดเล็กๆ หรือ ไม่มีตังค์ไปสอบพรีเอ็นท์อย่างผม ก็สามารถใช้ข้อสอบจริงปีที่แล้ว หรือ พรีเอ็นท์ปีที่แล้ว เอามาสอบเองได้เช่นกัน โดยมากฟรี โดยขอสำเนาได้จากครูแนะแนว สำเนาเพื่อนๆที่เรียนกวดวิชา หรือ ซื้อเอาเป็นเล่มๆเป็นปีๆไป แต่ต้องไม่ขี้โกงนะ สอบจริงๆ จับเวลาจริงๆ ทำสัก 2 – 3 ปีย้อนหลัง แล้วก็เฉลี่ยๆกัน เราก็จะได้คะแนนโดยประมาณของตัวเราเองที่พอเชื่อได้ว่าสอบอีกทีก็น่าจะไม่หนีกัน

   พอรู้เรา ต่อไปก็ “รู้เขา” … สถิติคะแนนของแต่ล่ะคณะย้อนหลัง มีแจกตามรร.กวดวิชาที่เราไม่จำเป็นต้องไปเสียตังค์เรียนถ้าไม่มีตังค์ หรือ ครูแนะแนวของโรงเรียน สำหรับผมก็ขอดูจากเพื่อนๆที่มันไปเรียนมา

   ทีนี้เราก็พอรู้ล่ะว่า คะแนนอย่างเรานี่เล็งได้สูงสุดแค่ไหนคณะอะไร แล้วถ้าดวงซวยสุดๆ วันสอบแฟนบอกเลิก รถติด รถเสีย เข้าสอบสาย ปวดท้องประจำเดือนมา ฯลฯ เราไม่น่าจะพลาดคณะไหน ทีนี้ก็สูตรใครสูตรมันล่ะว่าใครเสี่ยงอะไรได้แค่ไหน แต่ล่ะคนก็ไม่เหมือนกัน

   เนื่องจากระบบนี้ไม่มีคะแนนเก็บ คะแนน ม.ปลาย คะแนนสะสมผลงาน ฯลฯ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่ง คือ เด็ก ม.ปลาย ไม่เรียนในห้องเรียนกัน โดยเฉพาะ ม.5 ม.6 และ วิชาที่ไม่ใช้สอบเอนทรานซ์ เช่น ผมเล็งสอบวิศวกรรมศาสตร์ ผมต้องสอบ 5 วิชา เลข ฟิสิกส์ เคมี อังกฤษ ไทยสังคม … ผมก็ไม่สนใจเรียนชีวะเลย อ่านหนังสือพอผ่านๆ สอบให้พอผ่านๆ ครูวิชาต่างๆท่านก็เข้าใจ ครูชีวะผมยังสนับสนุนเลย แถมยังบอกว่า ถ้าเป็นครู ครูก็ทำเหมือนพวกเธอ … รักสุดๆเลยครูแบบนี้ที่เข้าใจเด็กๆ

   การสมัคร การประกาศผล ต้องสมัคร และ ตามดูผลเอาเองที่สถานที่ที่กำหนด หนังสือพิมพ์ หรือ ไปรษณีย์บัตร

   สำหรับ กทม. สถานที่ที่ทบวงกำหนด คือ สนามกีฬาฝั่งคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย พวกเราวัยรุ่นสมัยนั้นเรียกว่า “สนามจุ๊บ”

   เจ้าหน้าที่เอาบอร์ดไม้อัดเปล่าๆมาวางรอไว้รอบๆสนามกีฬาแต่หัวค่ำ พอเที่ยงคืนนิดๆก็เอากระดาษต่อเนื่องที่ข้างๆเจาะเป็นรูๆ ตัดเป็นปึกๆตามระหัสประจำตัวเข้าสอบ เอามาแปะโดยใช้ลวดเย็บแบบยิงติดบอร์ดไม้อัด

   ไม่รู้ว่าจุฬาฯต้องการประหยัดไฟฟ้า หรือ จงใจสร้างบรรยากาศโรแมนติก ทำให้เราต้องจุดเทียนไขส่องดู

   ส่องใกล้มากก็ไม่ได้ เพราะจะไหม้กระดาษ ส่องห่างก็มองไม่เห็น … ความรักก็เฉกเช่นกัน

   มือซ้ายจับกระดาษพลิก มือขวาถือเทียน … ไม่ได้มีมือซ้ายมือขวาของเราคนเดียว มีอีกหลายๆมือของเพื่อน ม.6 ร่วมชะตากรรมที่มุงรอส่องเทียนต่อจากเรา … รอส่องเทียนด้วยแววตาที่แบกความหวังของคนที่รัก และ ของตัวเอง

   น้ำตาเทียนไหลลงมือผม ย้อยหยดลงมือซ้ายใครสักคนที่คุกเข่าส่องเทียนอยู่ข้างล่าง … สายตาผมส่งไปแทนคำ “ขอโทษ”

… ได้รอยยิ้มหลังสะเก็ดพรายน้ำตาคล้อยระยับเปลวเทียนจากสาวแปลกหน้ากลับมาแทนคำว่า “ไม่เป็นไรค่ะ”

“เจอไหมครับ ระหัสอะไรครับ เดี๋ยวผมช่วยหา” …

“ไม่เจอค่ะ” … สะอื้นยาวลึก

“… 40853 คงไม่ติดค่ะ”

“แป๊บนึงครับ อย่าพึ่งโทรฯบอกใครนะ เดี๋ยวผมดูให้อีกรอบ ขยับนิดนึงครับ”

   คุกเข่าลงไป … ไหล่ชนไหล่ … กลิ่นแปลกๆชวนให้ขนลุกที่ท้องน้อยกระทบจมูก … ผมมารู้ที่หลัง เขาเรียกว่ากลิ่น “สาปสาว”

“40853 ใช่ไหมครับ นี่ไง นิเทศฯจุฬา ดีใจด้วยนะครับ”

   เธอส่องดูให้ชัดอีกทีด้วยแก้มเปื้อนน้ำตา แต่คราวนี้เป็นน้ำตาแห่งความปิติปลื้ม

“นี่ครับ โทรบอกที่บ้านเลย” … ผมยื่นเหรียญบาทสองสามเหรียญให้เธอ

“ขอบคุณค่ะ” … เธอยิ้มสวย

… ริมขอบแก้มฝาดเลือดสาว น้ำตาแห่งความสุขเธอที่ยังไม่แห้งดีเป็นประกายเล่นล้อเปลวเทียนระหว่างทางเดินแคบๆ … ไหล่เคียง เราเดินไปต่อคิวตู้โทรศัพท์ด้วยกัน

… ผมลักลอบตักตวงความสุขจากการแอบเสพลักยิ้มน้อยๆบนแก้มฝาดเลือดสาวของเธอ … ผิดศีลข้อลักขโมยหรือไม่ ผมไม่แคร์

ไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่ได้ยิน …

“พี่เอก … แอนติดที่เดียวกับพี่เอกเลยค่ะ ต่อไปนี้เราจะได้เจอกันทุกวันแล้วนะ พี่เอกอยู่หอไหนค่ะ แอนไปอยู่ด้วยได้ไหม”

… เวลาตกหลุมรักก็เหมือนเราฟังเพลงเพราะๆ เพลงที่ทุกคนก็รู้ว่ามันยาวแค่ 3 นาที … 3 นาทีที่เดินจากรอยหยดเทียนใต้บอร์ดประกาศผลเอ็นทรานซ์ถึงตู้โทรศัพท์

   พวกเราเรียกคืนนั้นว่า … “คืนส่องเทียน” … คืนที่เต็มไปด้วย ความหวัง ความสุข น้ำตา และ ก้าวแรกของวันสุดท้าย

   พี่ๆบางคณะนัดจับกลุ่มกันบูมรับน้องใหม่ข้างๆบอร์ดทั้งที่มืดๆ และ สลัวแสงเทียนนั่นแหละ

… คืนส่องเทียน คืนที่หลายคนพบรักแรกกันที่นั่น และ เป็นคืนที่แยกหลายชีวิตออกจากกันที่นั่นดุจเดียวกัน ….

   ผมรู้สึกขอบคุณที่สตีฟจ๊อบส์ยังไม่คิดค้นโทรศัพท์ฉลาดๆในตอนนั้น เราไม่มีไฟฉายมือถือ เราจึงได้เงาเปลวเทียนปลิวพยับบังเบลอรอยยิ้มของคนหนุ่มสาวที่สมหวังจากสายตาของหนุ่มสาวที่ผิดหวัง ….

   อัตราการแข่งขันสมัยนั้นสูงมากๆ หนุ่มสาว ม.6 สมัครสอบเป็นแสนๆคน แต่มหาวิทยาลัยรัฐฯรองรับได้หลักหมื่นต้นๆ

… ถ้ามีกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งซอฟแวร์ AI อยู่หน้าประตูสนามจุ๊บ ข้อมูลวันรุ่งขึ้นจะบอกว่า จำนวนรอยยิ้ม และ หยดน้ำตาที่เดินออกจากสนามจุ๊บเป็นไปตามอัตราส่วนเดียวกัน … หมื่นต่อแสน … อันจะตรงข้ามกับจำนวนแววตาที่เต็มไปด้วยพลังความหวังเต็มร้อยที่เดินสวนรอยยิ้มและหยดน้ำตาเข้าไปในสนามจุ๊บพร้อมเทียนที่ยังไม่ได้จุดในมือ

   คืนนั้น … ผมสงสัยว่าทำไมเราใช้แสงจากเทียนแทนที่จะเป็นแสงจากกระบอกไฟฉาย

   ในปี 2528 ทบวงฯประกาศผลการสอบเอ็นทรานซ์ทางหนังสือพิมพ์วันเสาร์ที่ 18 พ.ค. ดังนั้น คืนวันศุกร์ที่ 17 คือ คืนส่องเทียน
   ไปรษณีย์บัตรถูกส่งออกจากทบวงฯวันที่ 16-17 บางคนได้ไปรษณีย์บัตรก่อนคืนส่องเทียน หลายคนที่รู้ว่าสอบติดจากไปรษณีย์บัตรก็จะมาสนามจุ๊บอย่างยิ้มแย้มยินดี เพื่อเป็นกำลังใจ ช่วยเพื่อนลุ้น หรือ อวดว่า ฉันสอบติดแล้ว

   หลายคนที่รู้ว่าสอบไม่ติดมักจะเก็บตัวอยู่บ้าน เว้นแต่จะเป็นคนที่จิตแข็ง และ อีคิวดีจริงๆ ก็จะมาส่องเทียนที่สนามจุ๊บร่วมลุ้น เพื่อแสดงมุทิตาจิตต่อเพื่อนที่ประสบความสำเร็จ และ ประโลมปลอบเพื่อนหัวอกเดียวกัน

   ความหวัง ความสุข น้ำตา กาลกำเนิด กาลปัจฉิม ว่ายวนเวียน หลากภาพ หลายอารมณ์ ปลิว สาดไสว ซ้อนทับ โฉบโถม เสียดเฉียดผ่านดวงใจหนุ่มสาว … ในคืนส่องเทียน

… หยดเทียนชักนำ และ พรากพลัด … ความรักดุจเพลงไพเราะที่ยาว 3 นาที

   ในวัยใกล้เกษียณของผม คืนส่องเทียนจึงเป็นคืนภาพจำที่งดงาม ภาพจำที่แม้แต่หัตถ์พระเจ้าก็ไม่อาจจะพรากเธอในภาพไปจากสำนึกจิตสุดท้าย

   คืนนั้น … ผมสงสัยว่าทำไมเราใช้แสงจากเทียนแทนที่จะเป็นแสงจากกระบอกไฟฉาย

… คำตอบอาจจะอยู่ที่กลิ่นสาปสาวแรกที่รู้จัก

… กลิ่นสาปสาวแรกที่รู้จักที่อยู่ข้างตัวผมตลอดมาเกินกว่าครึ่งชีวิต

---------

เชิงอรรถ

   ตอนแรกเลยผมเริ่มเขียนเรื่องนี้ลงในเพจ  https://www.facebook.com/nongferndaddy เป็นบทความเชิงประวัติศาสตร์ให้หลานๆรู้จักระบบการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อปี 2528 และ สร้างแรงจูงใจเพื่อยอมรับความเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ

   ระหว่างที่เขียน ... มี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เปลี่ยนบทความเชิงประวัติศาสตร์ ไปเป็นเรื่องสั้นเชิงชีวประวัติ ... เหตุการณ์แรก คือ ฝนตก เหตุการณ์ที่สอง คือ ผมเปิดไวน์ดื่ม

   เรื่องนี้มีความจริงครึ่งหนึ่ง จิตนาการครึ่งหนึ่ง ... ไวน์ และ สายฝน ทำให้ผมบอกไม่ได้ว่าครึ่งไหนจริง และ ครึ่งไหนจินตนาการ

... พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร

https://nongferndaddy.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่