รู้จักแอพพ์ ‘ทางรัฐ’ คืออะไร เปิดวิธีสมัคร-ยืนยันตัวตน เตรียมตัวรับเงิน 1 หมื่น




รู้จักแอพพ์ ‘ทางรัฐ’ คืออะไร เปิดวิธีสมัคร-ยืนยันตัวตน เตรียมตัวรับเงิน 1 หมื่น

แอพพ์ ทางรัฐ – ภายหลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดรายละเอียดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ และยังได้หารือเกี่ยวกับการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยจะใช้แอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ในการใช้จ่ายโครงการ ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ทั้งนี้ ทางรัฐ ไม่ใช่แอพพลิเคชั่นใหม่ แต่เป็น ซุปเปอร์แอพพ์ (Super App) ที่เริ่มต้นพัฒนาขึ้นในรัฐบาลสมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนที่ว่า สมัครยังไง และใช้ยังไงได้บ้างนั้น มีข้อมูลดังนี้

สำหรับแอพพ์ “ทางรัฐ” เริ่มให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2564 และยังคงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมกับหลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการปกครอง, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ทำให้ประชาชนสามารถรับบริการจากภาครัฐกว่า 149 รายการ

จึงเรียกได้ว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่รวมบริการสำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอพพ์เดียว โดยมีบริการที่น่าสนใจ เช่น

– บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม พร้อมเช็กยอดเงินประกันสังคม สิทธิโครงการเยียวยา ยอดเงินสมทบชราภาพ สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้

– บริการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และสถานพยาบาลตามสิทธิที่ได้รับ เป็นบริการที่แสดงสิทธิรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านได้รับ รวมถึงช่องทางการเปลี่ยนหน่วยบริการ

– ตรวจสิทธิการรักษาพยาบาล (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

– สามารถตรวจสอบใบสั่งจราจร ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงชำระใบสั่งผ่าน QR code โดยแจ้งเตือนและติดตามสถานะการชำระใบสั่งได้ สะดวกง่ายไม่ต้องเดินทาง พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลทะเบียนรถ การจองคิวอบรมใบขับขี่ได้ด้วย

– ตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ

– ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร “แบบสรุป” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

– บริการตรวจสอบและชำระเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

– เช็กข้อมูลใบอนุญาต ประกาศนียบัตร และบัตรผู้ประกาศฯ ที่ออกโดย กสทช.

– ออมเงินกับ กอช. สร้างบำนาญวัยเกษียณ

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ได้ผ่าน App Store และ Google Play ฟรี และเมื่อติดตั้งแอพพ์เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการสมัครเข้าใช้งานแอพพ์ ทางรัฐ ผ่านการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับ ขั้นตอนในการสมัคร เข้าใช้งานแอพพ์ ทางรัฐ สามารถทำได้ 2 ช่องทางด้วยกัน ดังนี้

ช่องทางที่ 1 สมัครเข้าใช้งานและยืนยันตัวตนผ่านแอพพ์ โดยใช้บัตรประชาชน และการสแกนใบหน้า เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อย ก็สามาถเข้าใช้บริการภาครัฐได้ทันที

ช่องทางที่ 2 สมัครเข้าใช้งานและสามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสร้าน 7-eleven ทั่วประเทศไทย, เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย, ตู้บุญเติม, ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ และแอพพลิเคชั่น ThaID ได้อีกด้วย

ซึ่งหากใครที่เคย โหลดแอพพ์ ThaID และยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายมาก เพราะระบบนั้นมีความเชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เคยเผยไว้ถึง สาเหตุที่เลือกใช้แอพพ์ทางรัฐ ไม่ใช่แอพพ์เป๋าตัง ในการใช้จ่ายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ว่า

“สาเหตุที่ไม่เลือกใช้แอพพ์เป๋าตัง เนื่องจากแอพพ์ทางรัฐ เป็นแอพพ์ของรัฐจริงๆ แต่เป๋าตังเป็นของแบงก์ อย่างไรก็ตาม เป๋าตังก็อาจจะยังต้องใช้ แต่เป็นระบบข้างหลัง ไม่ได้เป็นด้านหน้า เนื่องจากเป็นระบบควบคุมแบบเปิด หรือ Open Loop ซึ่งหมายความว่า เป็นวอลเล็ตของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอนแบงก์สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป๋าตังอาจจะไปเชื่อมต่อตรงนั้น เช่นเดียวกันกับ เคพลัส และแม่มณี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ดีจีเออยู่ระหว่างการพัฒนา”

ขอบคุณข่าวจาก 

มติชนออนไลน์

https://www.matichon.co.th/economy/news_4566931
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่