เปิดภาพหาชมยาก วิหารธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

เปิดภาพหาชมยาก…วิหารธรรมศาลา สมัยอยุธยา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช อยู่ทางทิศตะวันออกของพระมหาธาตุเจดีย์ โดยมีส่วนท้ายยื่นเข้าไปในระเบียงคด วิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2437 ที่ผนังด้านหน้าและด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปพระทนทกุมาร และพระพุทธรูปพระนางเหมชาลา สองพี่น้องผู้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์แต่แรกเริ่ม

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยนาม พระธรรมศาลา และผนังด้านตรงข้ามพระประธานประดิษฐานเจดีย์สวรรค์ ที่บรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำอดีตเจ้าผู้ครองเมืองเมื่อ พ.ศ.2181

วิหารธรรมศาลา มีความงดงามและมีคุณค่าทาง ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะและไม่ค่อยได้เปิดให้เข้าชม เป็นโชคดีของผมที่ได้ไปกราบพระมหาธาตุเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาเห็นประตูเปิดแง้มอยู่ จึงขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าไปชมและเก็บภาพมาฝากครับ

ภาพด้านหน้าวิหารธรรมศาลา


ที่หน้าบันมีจารึกระบุช่วงเวลาในการบูรณะวิหาร




เจดีย์สวรรค์ที่บรรจุอัฐิของอดีตท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระยารามราชท้ายน้ำ สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.2181
พระยารามราชท้ายน้ำ เป็นหนึ่งในขุนพลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ถูกส่งไปครองเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อป้องกันมิให้นครรัฐปลายแหลมมาลายูเข้ามาทำลายเมืองท่าทางด้านใต้ พระยารามราชท้ายน้ำได้สิ้นชีวิตลงในการศึกกับกองทัพอุฌงคตะนะ(กลุ่มโจรสลัดปลายแหลมมาลายู)
พญาแก้วผู้เป็นหลานชายได้นำอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำมาบรรจุที่เจดีย์ในวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช


หมู่พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยอยุธยา จำนวน 5 องค์ วัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง ประอบด้วยพระประธาน 1 องค์ และพระพุทธรูปด้านซ้ายและขวาของพระประธาน ด้านละ 2 องค์ และรูปหล่ออดีตท่านเจ้าอาวาสวัด ส่วนพระพุทธรูปสุโขทัยนั้นมีญาติโยมหล่อถวายเมื่อปี 2515




พระพุทธรูปด้านข้างพระประธาน




พระประธาน นาม พระธรรมศาลา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง สมัยอยุธยา มีความงดงามอย่างมากครับ




พระพุทธรูปพระทนทกุมาร ประดิษฐานด้านหน้าพระวิหาร




พระพุทธรูปพระนางเหมชาลา ประดิษฐานในห้องด้านหลังพระวิหาร ถ้าหากเราเดินเข้าไปในวิหารคด จะสามารถเดินเข้าไปชมในส่วนนี้ได้ครับ
พระทนทกุมาร และพระนางเหมชาลา ตามตำนานการสร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชกล่าวว่า เป็นสองพี่น้องที่อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วหนีภัยสงครามมาจากอินเดีย โดยเรือที่เดินทางได้ขึ้นมาเกยหาดทรายที่บริเวณวัดพระมหาธาตุนี้ และได้นำพระเขี้ยวแก้วฝังลงบนหาดทรายเพื่อพักไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจะเดินทางต่อไปยังศรีลังกา เมื่อนำพระเขี้ยวแก้วถวายกษัตริย์ศรีลังกาแล้วกษัตริย์ศรีลังกาก็ได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้กับทั้งสองพี่น้องกลับมาอีกส่วนหนึ่ง ขากลับทั้งสองได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ ณ ที่ที่เคยฝังพระเขี้ยวแก้ว แล้วก่อพระเจดีย์ครอบไว้ จนสมัยต่อๆ มาได้พัฒนาเป็นวัดพระมหาธาตุ เช่นในปัจจุบัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่