น้ำหนักตัวคุณแม่ตั้งครรภ์… มากเกิน & น้อยไป บอกอะไรได้บ้าง?



น้ำหนักตัวคุณแม่ตั้งครรภ์… มากเกิน & น้อยไป บอกอะไรได้บ้าง? 



หนึ่งในหลายๆ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ นั่นคือเรื่อง “น้ำหนักตัว” เพราะคุณแม่บางท่านน้ำหนักเกินเกณฑ์ ในขณะที่บางคนก็น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งน้ำหนักที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปนั้น อาจทำให้การตั้งครรภ์เกิดปัญหาตามมาได้



น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์
· ช่วงไตรมาสแรก น้ำหนักควรเพิ่มประมาณ 1 กิโลกรัม (สามเดือนแรก น้ำหนักต่อเดือนอาจจะไม่ขึ้นหรือขึ้นประมาณ 1 กิโลกรัม)
· ช่วงไตรมาสที่ 2 ควรเพิ่มประมาณ 4-5 กิโลกรัม (น้ำหนักต่อเดือนไม่ควรขึ้นเกิน 2 กิโลกรัม)
· ช่วงไตรมาสที่ 3 ควรเพิ่มประมาณ 5-6 กิโลกรัม (น้ำหนักต่อเดือนไม่ควรขึ้นเกิน 2 กิโลกรัม)
 
** โดยทั่วไปเมื่อครบกำหนดคลอดน้ำหนักตัวของคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 14 กิโลกรัม 



คุณแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เกิดจากการทานอาหารที่เกินพอดี ชอบทานแป้งและน้ำตาลไม่ชอบออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้น้ำหนักเกินแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษ แถมทารกในครรภ์ก็ยังได้รับสารอาหารที่เกินพอดีตามไปด้วย ทำให้ทารกตัวใหญ่ อาจคลอดตามธรรมชาติลำบาก แพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าคลอด

** การมีน้ำหนักมากเกินไปของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ยังส่งผลต่อทารกในอนาคต เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อโตขึ้นได้อีกด้วย



คุณแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คุณแม่ที่มีรูปร่างผอมตัวเล็กอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับสารอาหารมากกว่าปกติ เพราะต้องอย่าลืมว่าทารกในครรภ์จะต้องดึงเอาสารอาหารจากคุณแม่ไปใช้ในการสร้างอวัยวะและเสริมพัฒนาการการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงอายุครรภ์ ถ้าคุณแม่ยังทานอาหารในปริมาณน้อย ทารกก็จะดึงเอาสารอาหารที่มีอยู่น้อยนิดนี้ไปใช้ แน่นอนว่ามีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมามีขนาดตัวเล็กกว่าปกติได้



จะเห็นว่าการมีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อย เกินไป ไม่ส่งผลดีทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นนอกจากการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อ้วนเกินไป ควรเน้นอาหารที่ให้พลังงาน หลีกเลี่ยงน้ำตาลและไขมัน รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่วนคุณแม่ที่น้ำหนักน้อยก็ต้องทานอาหารต่อมื้อในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและบ่อยขึ้นนะครับ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่