พื้นที่ด้ามขวานไทย (ภาคใต้) รอดจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษมาได้ยังไงคะ

กระทู้คำถาม
ถ้าบอกว่าเอาไว้เป็นพื้นที่กันชนกับฝรั่งเศสก็คงไม่น่าใช่ เพราะดูตามแผนที่ พม่า กับมาเลเซียก็ตกเป็นของอังกฤษไปแล้ว ถ้ายุคนั้นอังกฤษยึดด้ามขวานไทยคือภาคใต้ไปได้ ตั้งแต่ประจวบลงไป อาณาเขตก็จะเชื่อมต่อกันจากพม่าถึงมาเลเซีย ได้พื้นที่ใหญ่ขึ้น  แล้วก็อยู่ห่างจากอินโดไชน่าของฝรั่งเศสด้วย แล้วเหตุใด ด้ามขวานไทยถึงรอดจากการเป็นอาณานิคมมาได้คะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
เอาจริงก็เคยมีสภาพที่เกือบๆจะเสียไปแล้วครับ   จากที่อังกฤษบังคับทำปฏิญญาลับ 2440 กับไทย   หลักๆของปฏิญญาลับ 2440 นี้คือรัฐบาลไทยตกลงว่าจะไม่ยินยอมให้ประเทศใดก็ตาม ซื้อ เช่า หรือถือกรรมสิทธิ์ดินแดนไทยตั้งแต่บริเวณใต้ตำบลบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ลงไปโดยที่ไม่ให้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อน     เพื่อเป็นการตอบแทนรัฐบาลอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยถ้าถูกชาติอื่นรุกราน   ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วในเชิงปฏิบัติถือว่าไทยได้สูญเสียดินแดนเหล่านั้นทั้งหมดไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2440    ดังนั้นทางราชำสนักจึงต้องการจะยกเลิกปฏิญญาลับนี้ให้ได้   โดยตัดสินใจใช้ 4 รัฐมลายูเป็นสิ่งเจรจา



ในการเจรจาดินแดนครั้งนั้นทางไทยเสนอดินแดนเพียงไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู   แต่นายแพซยิต (ราชทูตอังกฤษ) ก็พยายามเจรจาต่อรองจะเอาดินแดนให้ได้มากขึ้นจะเอาปัตตานี ยะลา สตูล  ปะลิสเพิ่ม   จนนายสโตรเบล (ฝ่ายไทย) ไม่พอใจจนเกือบต้องยุติการเจรจา   แต่ต่อมานายสโตรเบลก็มีท่าที่ผ่อนคลายต่ออังกฤษเพิ่มขึ้นเช่นยอมยกปะลิศให้เพิ่ม (ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเพราะเหตุใด)

แม้ว่าทางไทยจะปฏิเสธเรื่องปัตตานีกับยะลาไปอย่างเด็ดขาดแล้วแต่นายแพซยิตก็ยังไม่ละความพยายาม   ไปเรียกร้องขอดินแดนอื่นเพิ่มคือเมืองรามันห์ตอนใต้และเกาะลังกาวี   แต่ยอมให้ไทยได้เกาะตะรุเตาและเกาะเล็กเกาะน้อยทางตะวันตกของลังกาวี

ต่อมานายสโตรเบลเสียชิวิตทางไทยเปลี่ยนให้นายเวสเตนการ์ดเป็นผู้เจรจาแทน   นายเวสเตนการ์ดเห็นชอบกับข้อเสนอล่าสุดแต่มีเงื่อนไขว่า    อังกฤษจะต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะกู้สร้างทางรถไฟ จาก 4% เหลือ 3.75%

เมื่อเจอเงื่อนไขนี้ทางฝ่ายอังกฤษก็แตกเป็นสองฝ่าย   ฝ่ายแรกคือเซอร์จอห์น แอนเดอร์สันข้าหลวงใหญ่สิงคโปร์เป็นหัวหน้าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของไทยว่าดอกเบี้ยที่ลดคุ้มค่ากับดินแดนที่จะได้เพิ่ม   แต่จะให้ดีแอนเดอร์สันขอระแงะเพิ่ม

อีกฝ่ายคือนายแพซยิตคัดค้านข้อเสนอของไทยอย่างรุนแรง   บอกว่าข้อเสนอดินแดนไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้เป็นคนละประเด็น   และอังกฤษเสียสละให้ไทยหลายเรื่องแล้วเช่นการยอมให้คนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทยแทนศาลกงสุลกับการที่อังกฤษยอมให้ไทยมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือเส้นทางรถไฟ   ฉะนั้นอังกฤษควรจะได้ราห์มันกับเกาะลังกาวีมาเปล่าๆไม่ต้องเสียอะไรตอบแทน   ดอกเบี้ยเงินกู้ต้องคงที่ 4%   แต่ระงับการขอระแงะเพิ่มเดี๋ยวไทยไม่พอใจและยุติการเจรจา

ผลปรากฎว่าทางไทยยอมรับข้อเสนอของแพซยิตยกลังกาวีและราห์มันตอนใต้ให้อังกฤษ   เพราะทางไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อยินยอมต่างๆของอังกฤษคุ้มค่าต่อการตกลงโดยสันติ   และที่สำคัญที่สุดคือการปฏิญญาลับระหว่างไทย - อังกฤษ พ.ศ.2440
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่