“แก่อย่างเดียวดาย-ตายอย่างโดดเดี่ยว” ปัญหาหนักกว่า “สังคมผู้สูงวัย” แต่ไม่เคยถูกโฟกัส

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://mgronline.com/live/detail/9670000032687

“อยู่ตามลำพัง” ปัญหาหนึ่งของ “สังคมผู้สูงวัย” เมื่อสถิติชี้จะมี “คนแก่” ที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียว “เพิ่มขึ้น” นักวิชาการสะท้อน ผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวคือ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ถูกมองข้าม
ปัญหาเรื้อรัง เพราะไม่ถูกวางแผนล่วงหน้า

เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “ไทย” ได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์” แล้ว แต่ปัญหาหนึ่งคือ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ “ตัวคนเดียว” โดยไม่มีญาติหรือลูกหลานดูแล นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการทอดทิ้งคนแก่
แต่ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คนมีลูกกันน้อยลง เลือกใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลถึงกัน และจากรายงาน “ภาพสะท้อนสถานการณ์การของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว” ของ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า... 

สัดส่วนของ “คนแก่” ที่อาศัยตามลำพัง “เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด” ในปี 2564 คือมีผู้สูงอายุที่ “อยู่ตัวคนเดียว” ถึง1.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนผู้อายุทั้งหมด
และอีก 21% อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส บวกกับด้วยทุกวันนี้ “คนไม่นิยมมีลูก” ทำให้แนวโน้มผู้สูงอายุในอนาคต จะเป็นคนที่ต้องอยู่ตามลำพังโดยไม่มี“ลูกหลาน” เพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาของการที่ “คนแก่” อยู่คนเดียว แน่นอนคือ “สุขภาพ” ที่ไม่มีใครคอยดูแล บางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้น เสียชีวิต โดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็มี อย่างที่เราเคยเห็นกันในสื่อ

รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวันสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สะท้อนปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องเจอให้ทีมข่าวฟังว่าคือ “การเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารธสุข หรือบริการสังคมอื่นๆ” และคำตอบได้จากผู้สูงอายุเหล่านี้คือ...

“ประมาณ 1 ใน 4 ของคำตอบ คือไม่มีคนพาไป มันก็เป็นคำถามนึงว่า แล้วเราจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ เข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือบริการทางสังคม จะทำยังไงกับคนกลุ่มนี้ดี”
แม้จะตระหนักถึงปัญหาเรื่องผู้สูงอายุในภาพรวม แต่เราไม่เคยนิยามว่า “กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว” แบบไร้ญาติขาดมิตรนั้นเป็น “กลุ่มเปราะบาง”
เอาเข้าจริง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ “ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ”แต่ในเมื่อไม่ถูกนิยามว่าเป็น“กลุ่มเปราะบาง” อย่างคนพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง “เราอาจไม่ได้ตระหนักว่า พวกเขาจะอยู่ได้ไหม”

การจะดูแลเหล่าผู้สูงอายุ จริงๆ อาจต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุอย่าง “การลงทะเบียนผู้สูงอายุ” ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 55 ปี เพราะอีก 5 ปีก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุ
อาจจะต้องขึ้นทะเบียนสำหรับ“คนอาศัยอยู่คนเดียว” เพราะเมื่อแก่ตัวขึ้น ความเสี่ยงเรื่องการดูแลมันจะตามมา คนกลุ่มนี้เองที่ภาครัฐและประชาสังคมต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

“ปัญหาหนึ่งอย่างที่เจอเยอะเลยคือ ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งมากกว่าร่างกาย บางคนถึงร่างกายจะดี แต่มีเรื่องซึมเศร้า ความเหงา ความกังวลที่จะอยู่คนเดียว”
“ความกังวล”คืออีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ลำบาก เรื่องที่กังวลส่วนมากคือ “ความปลอดภัย” ผู้เฒ่าหลายคน อยากจ้างคนมาช่วยดูแล แต่ก็ห่วงเรื่องการถูกทำราย หรือลักขโมย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการเสนอไปในเชิงนโยบายว่า “ควรจะหาหน่วยงานหลัก” ที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ และบรรจุให้เป็นภารกิจหลัก ในทั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือในชุมชน

“เพื่อนบ้าน-ชุมชน” ระบบช่วยเหลือคนแก่
จากสภาพสังคมที่เห็น ดูเหมือนหลายคนในอนาคต คงต้องใช้ชีวิตวัยแก่อย่างโดดเดียว คำถามที่น่าสนใจคือ เรามีระบบที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น สามารถใช้ชีวิตได้ แม้จะไม่มีครอบครัวดูแลได้หรือเปล่า?

กูรูรายเดิมช่วยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ตอนนี้บ้านเรามีบริการที่เรียกว่า “ผู้ช่วยเหลือพาไป” เป็นบริการ ที่พาไปโรงพยายาบาล พาไปทำธุระข้างนอก แล้วก็นำกลับมาส่งที่บ้าน
แต่ด้วยที่ว่าบริการรูปแบบนี้ “มันยังไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ” มีเฉพาะในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นบริการที่ดี และพอจะช่วยแก้ปัญหา การเข้าถึงบริการการรักษาของคนกลุ่มนี้ได้ในระดับนึง

ส่วนในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังในบ้านนั้น บางพื้นที่ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่อง “การบริการชุมชน” โดย ดร.ศุทธิดา อธิบายแนวคิดเหล่านี้ไว้เพิ่มเติม
“มีแนวคิดที่ว่า คนที่อยู่คนเดียวเนี่ย เราอยากให้เขาได้อยู่บ้านเดิม ชุมชนเดิมได้ โดยที่เขาไม่ต้องพึ่งพาใครได้ยาวนานที่สุด หมายความว่าแม้จะอยู่คนเดียวโดยไม่มีครอบครัวเลย แต่ก็จะมีการดูแลโดยชุมชน”

ต่างกับ “ยุโรป” ที่จะเห็นว่า ส่วนใหญ่มักเลือกไปอยู่บ้านพักคนชรา หรือซื้อบริการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะว่า “สวัสดิการและเงินบำนาญของเขาสูง” พวกเขาจึงสามารถดูแลตัวเองในตอนแก่ได้

แต่ตอนนี้บ้านเราก็เริ่มมีโมเดล ที่เรียกว่า “การดูแลระยะยาว” ในบางพื้นที่ คือมีการติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือกล้องวงจรปิดที่ส่งสัญญาญตรงไปยังหน่วยงานในท้องถิ่น

“เขาจะมีกริ่งเรียก แล้วมันจะส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานในชุมชน ให้รับรู้ว่าบ้านนี้ ผู้สูงอายุกำลังมีปัญหา”
อีกอย่างที่ทีมวิจัยของ ดร.ศุทธิดา กำลังผลักดันคือ “การดูแลโดยเพื่อนบ้าน” หมายถึงในหนึ่งชุมชน จะมีการตั้งผู้นำที่รับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุ เก็บข้อมูลว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุกี่คน คนไหนที่อาศัยอยู่คนเดียว แล้วก็ให้เพื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นคนช่วยดูแล “เพราะเพื่อนบ้านจะเป็นคนที่เข้าไปช่วยเหลือได้เร็วที่สุด ตรงนี้ก็อาจช่วยได้”

อาจารย์เสริมอีกว่า จริงๆ แล้วการดูแลเรื่องเหล่านี้ ทางภาครัฐทำมาตลอด อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนคอยดูแลเรื่องเหล่านี้
แต่จากการลงพื้นที่วิจัยก็พบปัญหาหนึ่ง คือจำนวนบุคลากรน้อย และภาระงานที่เยอะ ทำให้บางพื้นที่ไม่ได้ถูกดูแลอย่างทั่วถึง อีกเรื่องคือ “ข้อมูลที่กระจัดกระจาย” ของแต่ละหน่วยงาน ถ้าตรงนี้สามารถบูรณาการรวมกันได้ ก็จะตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่