รัฐบาลจีนเผชิญปัญหาท้าทาย “โรงงานซอมบี้” ในอุตฯรถยนต์

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://www.prachachat.net/columns/news-1539991

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนกำลังผงาดขึ้นเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของประเทศ และสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “รถอีวี” จากประเทศจีนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดที่คุกคามต่อส่วนแบ่งการตลาดของค่ายรถยักษ์ใหญ่แต่เดิมในแทบทุกตลาดรถยนต์สำคัญของโลก
เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ยอดส่งออกรถยนต์จากจีนพุ่งขึ้นกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในเวลาเดียวกับที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศจีนก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ออกมามากที่สุดในโลกไปด้วยเช่นเดียวกัน

ดู ๆ แล้วอุตสาหกรรมรถยนต์จีนกำลังอยู่ในภาวะสดใส มีอนาคตไกลที่สุดมากกว่าอีกหลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงกำลังซุกซ่อนปัญหาท้าทายที่แม้แต่ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนเองยังยอมรับว่า ต้องแก้ให้ตก หากต้องการให้เศรษฐกิจจีนพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างเต็มตัวในอนาคต
ตามข้อมูลของออโตโมบิลิตี บริษัทที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในเซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2023 จีนผลิตรถยนต์ได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 30.1 ล้านคัน ทำสถิติมากกว่าระดับที่เคยผลิตได้มากที่สุดซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ซึ่งผลิตได้ 28.9 ล้านคัน ลงได้อย่างงดงาม

ปัญหาก็คือ ยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งประเภทที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือรถอีวีแทบทั้งสิ้น ภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมแบบครบวงจรจากภาครัฐ อุตสาหกรรมรถอีวีของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว บดบังปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนอยู่ในเวลานี้
เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดของยอดรวมการผลิตรถยนต์ของจีนสำหรับตลาดภายในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า จีนผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนสันดาปภายใน หรือรถที่ใช้น้ำมันแบบดั้งเดิม ออกมาเพียง 17.7 ล้านคัน ลดลงถึง 37% จากที่เคยผลิตได้มากถึง 28.3 ล้านคันในปี 2017
ข้อเท็จจริงก็คือ ยอดขายรถยนต์ใช้น้ำมันในจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับยอดขายรถอีวีที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จนเมื่อถึงปี 2023 ยอดขายรถอีวีในจีนก็กินส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในจีนไปมากกว่า 30%

ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในประเทศจีน แทบจะเรียกได้ว่าล่มสลายไปในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง
คำถามก็คือ แล้วจะทำอย่างไรกับโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีอยู่หลายร้อยโรงงานทั่วประเทศจีน ที่จู่ ๆ ก็ไม่อาจดำเนินการผลิตได้ เพราะผลิตไปก็ขายไม่ได้อีกต่อไป และจะทำอย่างไรกับแรงงานจำนวนมหาศาลที่คุ้นเคยอยู่กับระบบการผลิตแบบโลว์เอนด์ในโรงงานที่กลายเป็น “ส่วนเกิน” เหล่านี้

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมไปถึงบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุตรงกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่เพียงสร้างปัญหาให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ ทั้งที่เป็นโรงงานต่างชาติในจีน และโรงงานของจีนที่ได้รับการหนุนหลังจากภาครัฐเท่านั้น
แต่ยังจะก่อปัญหาร้ายแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสำหรับจีนในระยะยาวขึ้นมาอีกด้วย

สี จิ้นผิง กล่าวไว้ในที่ประชุมเพื่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลในเวลานี้ก็คือ “สภาวะที่บางอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน” เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความยุ่งยากและท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข
บางโรงงานถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปเป็นเพื่อการผลิตอีวี บางแห่งเปลี่ยนเป้าจากตลาดภายในประเทศเป็นการผลิตเพื่อส่งออก แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายร้อยโรงงานที่กลายเป็นส่วนเกินแบบที่ถูกเรียกว่าเป็น “โรงงานซอมบี้” ไปในที่สุด

“จิน เค่อหยู” รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิคส์ ชี้ว่า ปัญหาร้ายแรงที่สุดก็คือ จีนจะทำอย่างไรกับแรงงานจำนวนมากในโรงงานซอมบี้เหล่านี้ ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกสิบปีข้างหน้า
แน่นอนการเพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มศักยภาพให้แรงงานเหล่านี้สามารถรองรับงานในโรงงานไฮเอนด์ได้ เป็นทางออกอย่างหนึ่ง แต่ใช้สำหรับแก้ปัญหานี้ไม่ได้ในจีน

อุปสรรคที่แท้จริงที่ทำให้แรงงานในโรงงานผลิตรถยนต์แบบเดิมไม่สามารถโยกย้ายไปทำงานกับโรงงานผลิตอีวีได้ ก็คือ ระบบการขึ้นทะเบียนครัวเรือน หรือระบบทะเบียนราษฎรของจีน ที่ไม่ยอมให้ครอบครัวของแรงงานได้สิทธิในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และบริการพื้นฐานของภาครัฐได้ในกรณีที่โยกย้ายประเมินกันว่า ระบบดังกล่าวนี้ปิดกั้นโอกาสการย้ายถิ่นของคนจีนไม่น้อยกว่า 400 ล้านคน

แล้วก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม แม้ว่าอุตสาหกรรมอีวีจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้กลับลดลง หลังจากทำสถิติไว้สูงสุด 5 ล้านคนเมื่อปี 2018 แล้วก็ลดลงอย่างต่อเนื่องปีละราว 500,000 คน

“ไชน่า เลเบอร์ บุลเลติน” องค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อผู้ใช้แรงงานในฮ่องกง ระบุว่า ยิ่งมีโรงงานปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีการชุมนุมประท้วงเกิดถี่ยิบขึ้นตามมา ข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ ก่อเหตุหยุดงานประท้วงขึ้นมากกว่า 60 ครั้ง
เพื่อดึงดูดความสนใจจากรัฐบาลกลางของจีนที่ปักกิ่งให้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังนั่นเอง

... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/columns/news-1539991

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่