(image source: htts://reddit.com/r/japanpics/comments/12nrj9b/gotta_love_the_typical_green_public_phones_in/)
ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ กว่าจะได้คุยกับผู้หญิงสักคนที่เราคิดถึง
ในยุคหนึ่ง ที่การสื่อสารไม่ได้หลากหลาย รวดเร็ว และคล่องตัว ทั้งในแง่โปรโตคอลสื่อสารและอุปกรณ์สื่อสาร
ที่ไม่ได้มีความหลากหลายให้เลือกสรรแบบที่แทบจะไร้ขีดจำกัด
ในแบบฉบับที่สามารถติดต่อถึงกันได้แทบจะ 24 ชั่วโมง (ถ้าเน็ตไม่ล่มซะก่อน) อย่างเช่นในยุคปัจจุบัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
วัยรุ่นมัธยมปลายในยุคหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว หากเมื่อมีใครสักคนที่เราสนใจอยากที่จะทำความรู้จักให้มากขึ้น
มากขึ้นและมากขึ้น เราก็อาจจะอยากพูดคุยกับคนๆ นั้นอยู่บ่อยๆ เท่าที่จังหวะและเวลาจะอำนวย
เนื่องจากช่วงเวลาที่อยู่โรงเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์เรามีเวลาไม่พอ
เนื่องจากเราต้องเอาเวลาไปทำสิ่งเหล่านี้ครับ
1. เอาเวลาไปตั้งใจเรียน แน่นอนสิครับ เราเป็นนักเรียน เพราะงั้นเวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการตั้งใจเรียน (พูดซะดูดีเชียว)
2. เอาเวลาไปเตะบอล ผมว่ามีผู้ชายน้อยมากที่ไม่ชอบเตะบอล เพราะฉะนั้น ถ้าพอจะมีคาบว่างที่ไม่มีกิจกรรมอื่น เราก็จะไปเตะบอลกันครับ เอาพอเหงื่อซึม ชุดนักเรียนไม่เลอะมาก
3. เอาเวลาไปห้องสมุด แน่นอนครับ ห้องสมุด นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือแล้ว ยังเหมาะสำหรับการนั่งหลบอยู่มุมห้องอันแสนสงบ แอร์เย็นฉ่ำ แล้วก็นั่งอ่านเพชรพระอุมา แบบฟินๆ เพียงลำพัง
4. เอาเวลาไปเรียน รด เด็กมัธยมปลายที่สมัครและผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกายผ่านจนได้เป็นนักศึกษาวิชาทหารจะต้องมีช่วงที่ต้องไปเรียนรดครับ
เมื่อเป็นดังนี้ หากไม่ได้คุยกัน (แบบเป็นส่วนตัว) ตอนเจอหน้ากันที่โรงเรียน
ยังเหลืออยู่อีกช่องทางหนึ่งครับ นั่นคือ โทรศัพท์ แต่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือนะครับ
เป็นโทรศัพท์บ้านพื้นฐานธรรมดา ในยุคนั้นนี่ โทรศัพท์มือถือยังเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ
ซึ่งสำหรับใครที่เป็นเด็กในเมืองมักจะมีโทรศัพท์บ้านกันอยู่แล้ว ก็อาจไม่เป็นปัญหา
แต่ในกรณีเด็กต่างจังหวัดที่มาสอบเข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด
ก็จะต้องเป็นเด็กหอไปโดยปริยาย ซึ่งหอพักถูกๆ นั้น (เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด)
เรื่องการที่หอพักจะมีโทรศัพท์ไว้บริการนี่ ลืมไปได้เลยครับ
เพราะฉะนั้น ถ้าผมจะโทรไปหาใครสักคนที่ผมคิดถึงและอยากจะคุยด้วย
ซึ่งเธอคนนั้นเป็นเด็กในเมืองที่มีโทรศัพท์บ้านอยู่แล้ว ในกรณีของผม
ผมต้องพึ่งโทรศัพท์สาธารณะครับ
โทรศัพท์สาธารณะ ถือเป็นช่องทางการสื่อสารชั้นดี และน่าจะดีที่สุดแล้วสำหรับเด็ก ม ปลาย แบบผมในยุคนั้น
และข้อดีของความเป็น ในเมือง การหาตู้โทรศัพท์สาธารณะสักตู้ เพื่อโทรหาใครสักคนนั้น
ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเท่าใดนัก
(ในยุคนั้น บางตำบลยังไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะด้วยซ้ำ ส่วนในบางอำเภอที่ใหญ่หน่อยก็จะมีบ้างแต่ก็น้อยอยู่ดี)
แต่ถึงแม้ในตัวเมืองจะมีตู้โทรศัพท์สาธารณะให้เลือกมากมาย
มันก็ยังจะมีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้แก้ปัญหาอยู่ดี ดังต่อไปนี้ครับ
1. ตู้โทรศัพท์ที่อยู่ในเขตชุมชน มักจะมีคนรอคิวต่อแถวเข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก เมื่อดูคิวแล้ว สมมุติไปถึงตอนสองทุ่ม กว่าจะถึงคิวก็น่าจะเที่ยงคืนโน่นแหละ คิวยาวเกิ๊นนนน
2. ตู้โทรศัพท์บางตู้ กระจกตู้รอบด้านแตกหมดแล้ว ไม่เหลือกระจกแล้ว เหลือแค่ตู้โล่งๆ กับโทรศัพท์ เพราะฉะนั้น บทสนทนาที่ควรจะรู้กันแค่สองต่อสอง รวมถึงความคิดถึงของคนสองคน จะถูกแบ่งปันไปยังผู้คนที่รอคิวอยู่รอบๆ ตู้โทรศัพท์ทันที กลายเป็นความคิดถึงของคนสองคน ที่มีพยานบุคคลเต็มไปหมด
3. ตู้โทรศัพท์บางตู้ที่อยู่ติดกับร้านอาหารตามสั่ง จะอื้ออึงโหวกเหวกไปด้วยเสียงลูกค้าและเสียงการทำอาหารซึ่งบางทีจะคุยก็ต้องตะโกนแข่งกับเสียงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
4. ตู้โทรศัพท์หลายตู้ที่เห็นว่างๆ ก็อย่าพึ่งดีใจไปครับ ที่เห็นมันว่าง เพราะว่ามันเสีย บางทีเข้าไปในตู้ถึงรู้ว่ามันเสีย แต่บางทีก็จะมีคนรอคิวตู้อื่นข้างๆ นั่นแหละ จะรีบบอกเราก่อนว่าตู้เสีย ซึ่งหลายครั้ง ขนาดมีคนบอกแบบนั้นแล้ว ก็ยังอยากจะเข้าไปลองด้วยตัวเองอีกนะ แบบขอลองหยอดเหรีญดูซักเหรียญก็ยังดี จะได้สบายใจ พอพิสูจน์แล้วว่าเสียจริง ก็ค่อยเดินยิ้มเท่ห์ๆ ออกจากตู้ไปหาตู้อื่นต่อไป พร้อมเผชิญกับสายตาของผู้หวังดีที่ตีความได้ประมาณว่า “ KU บอก MEUNG แล้วไงว่ามันเสีย”
5. ตู้โทรศัพท์หลายตู้ ถ้าโชคดีถึงคิวเราแล้วก็จริง แต่พอคุยไปสักพักไม่ถึงสามนาที จะเริ่มมีใบหน้าผู้คนมาคอยกดดันรอบๆ ตู้โทรศัพท์ ประมาณว่า “คุยจะเสร็จรึยัง ฉันรอคิวอยู่นะโว้ย”
6. ตู้โทรศัพท์หลายตู้ ขณะที่เรากำลังคุยๆ อยู่ ก็จะมีคนเร่รร่อนเปิดประตูเข้ามาขอตังค์เราครับ ก็เขาคงรู้แหละว่าเรามีเหรียญแน่ๆ พอไม่ยื่นให้ ก็ไม่ยอมจากไปซะนี่ แล้วก็จะพูดขอตังค์อยู่นั่นแหละ จนกว่าเราจะให้ ก็ต้องยอมๆ กันไป
แต่ปัญหาดังกล่าวมีทางออกครับในเมื่อในเขตชุมชนมีอุปสรรคนัก
เราก็ต้องหาทางออกให้ตัวเองโดยการออกไปหาตู้โทรศัพท์ที่อยู่นอกชุมชนออกไปหน่อย
แต่ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดอื่นที่ตามมาด้วยดังต่อไปนี้. เช่น
1. มีคนคิดเหมือนเราอีกเพียบ ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกครับ ที่คิดหาทางออกแบบเรา เพราะฉะนั้น ตู้โทรศัพท์ที่ไกลจากชุมชนมาสักหน่อย ก็จะมีคิวแล้วเหมือนกัน อาจจะน้อยลงมาหน่อย แต่ถ้ารอคิวก็ยังนานอยู่ดี
2. ถ้าอย่างนั้น ต้องออกไปไกลจากชุมชนเพิ่มขึ้นอีก ต้องหาจุดที่คนมักจะไม่ค่อยไปกัน ซึ่งจุดดังกล่าวมักจะปรากฎอยู่บริเวณที่ไกลออกไปมากๆ จากชุมชน แต่ต้องแลกมากับความเปลี่ยวของบรรยากาศบริเวณโดยรอบ ซึ่งขณะที่คุยสาย ก็ต้องคอยมองรอบๆ ตู้โทรศัพท์ไปด้วย ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เผื่อมีมิจฉาชีพเห็นเราอยู่ลำพังจะเข้ามาปล้นเหรียญที่เราเตรียมมาได้ เดี๋ยวก็ได้อดคุยกับสาวเจ้าพอดี
3. ทางแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งก็คือ ต้องยอมเสียตังค์เพิ่มครับ โดยการซื้อบัตรโทรศัพท์ จะทำให้เรามีโอกาสในการเลือกตู้โทรศัพท์ที่ใช้บัตรโทรศัพท์ ที่คนใช้น้อยกว่าแบบเหรียญ ผมเดาว่าน่าจะเป็นเพราะหลายคนไม่อยากจ่ายเงินซื้อบัตรโทรศัพท์ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ไปจนถึง 100 บาท 300 บาท และ 500 บาท
ทีนี้เมื่อเราหาหนทางจนได้ตู้โทรศัพท์สาธารณะมาครอบครองได้สมใจ
เหรียญที่เตรียมมาเต็มถุงกางเกงจะได้ใช้แน่ๆ แล้ว จะได้คุยกับสาวเจ้าแบบสมใจแล้ว
มันเหมือนจะดีแล้วใช่มั้ยครับ แต่ยังก่อน.... ยังก่อน
มันยังมีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ แฝงมาอยู่บ้างครับ เช่น
1. เวลาและกาลเทศะ ใช่ครับ บางทีกว่าเราจะหาตู้โทรศัพท์เป็นของตัวเองได้
เวลามันก็ล่วงเลยไปจนเกินกว่าที่จะมาคุยกันชิลๆ แบบ เงินหมดเมื่อไหร่ค่อยวางสาย
แบบนั้นบางทีมันก็ไม่ได้ อย่าลืมนะครับ ว่าปลายสายเป็นโทรศัพท์ประจำครอบครัว
ไม่ใช่โทรศัพท์ส่วนตัวประจำห้องนอนของหญิงสาวที่เรากำลังคุยด้วย
เพราะฉะนั้น บางบ้านเขามีกฎว่า ให้ลูกเข้านอนไม่เกินสี่ทุ่ม
แต่เราหาตู้โทรศัพท์ได้ตอนสามทุ่มสี่สิบ นั่นเท่ากับว่าได้คุยกันนิดเดียวเอง
เหรียญที่เตรียมมายังไม่ทันจะพร่องถุงกางเกงเลย ต้องวางสายซะแล้ว
2. บางบ้านเขามีลูกสาวหลายคนนะครับ แบบว่าทั้งบ้านเป็นลูกสาวทั้งหมด
แน่นอนครับ พี่สาวน้องสาวของหญิงสาวที่เราอยากคุยด้วย
ก็ต้องรอใครสักคนโทรไปหาเหมือนกันนั่นแหละ ทีนี้พอเราคุยไปได้หน่อยนึง
ก็จะมีเสียงลอดเข้ามาในสายว่า
“อย่าลืมดูเวลาด้วยนะ” “จะวางสายได้รึยัง”
เท่านั้นแหละครับ เราก็ต้องรีบบอกลา Good Night กัน
คนอื่นๆ เขาก็คงคิดถึงกันเหมือนเรานั่นแหละ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
พอตัดมาที่ยุคนี้ เราสามารถส่งผ่านความคิดถึง ได้ทั้งภาพและเสียงแบบ FULL HD
แทบจะไม่ต้องดิ้นรนอะไรกันแล้ว (ถ้าเน็ตไม่ล่มซะก่อน)
คิดถึงตอนไหนก็บอกคิดถึงกันได้เลย
ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องแลกเหรียญ ไม่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาตู้โทรศัพท์ไกลๆ
มีเวลาไปทำอย่างอื่นได้ตั้งมากมาย เขียนข้อความคิดถึงทิ้งไว้ รอให้เขามาอ่านก็ยังได้ (ถ้าเขาอ่านนะ)
อย่างไรก็อย่าลืมใช้ความสะดวกของการสื่อสารในยุคนี้ให้คุ้มค่ากับความคิดถึงกันด้วยนะครับ
ถ้าขี้เกียจแค่พิมพ์ข้อความส่งความคิดถึง ก็ขอให้นึกถึงความพยายามและความทุ่มเทของคนยุคก่อนไว้
หวังว่าตอนนี้คงจะทำให้อยากแสดงความคิดถึงให้ใครสักคนได้รับรู้กันแล้วนะครับ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สวัสดีครับ
timetowalkforsomthingfirstman
16 มีนาคม 2567
ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ กว่าจะได้คุยกับผู้หญิงสักคนที่เราคิดถึง
(image source: htts://reddit.com/r/japanpics/comments/12nrj9b/gotta_love_the_typical_green_public_phones_in/)
2. ตู้โทรศัพท์บางตู้ กระจกตู้รอบด้านแตกหมดแล้ว ไม่เหลือกระจกแล้ว เหลือแค่ตู้โล่งๆ กับโทรศัพท์ เพราะฉะนั้น บทสนทนาที่ควรจะรู้กันแค่สองต่อสอง รวมถึงความคิดถึงของคนสองคน จะถูกแบ่งปันไปยังผู้คนที่รอคิวอยู่รอบๆ ตู้โทรศัพท์ทันที กลายเป็นความคิดถึงของคนสองคน ที่มีพยานบุคคลเต็มไปหมด
3. ตู้โทรศัพท์บางตู้ที่อยู่ติดกับร้านอาหารตามสั่ง จะอื้ออึงโหวกเหวกไปด้วยเสียงลูกค้าและเสียงการทำอาหารซึ่งบางทีจะคุยก็ต้องตะโกนแข่งกับเสียงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
4. ตู้โทรศัพท์หลายตู้ที่เห็นว่างๆ ก็อย่าพึ่งดีใจไปครับ ที่เห็นมันว่าง เพราะว่ามันเสีย บางทีเข้าไปในตู้ถึงรู้ว่ามันเสีย แต่บางทีก็จะมีคนรอคิวตู้อื่นข้างๆ นั่นแหละ จะรีบบอกเราก่อนว่าตู้เสีย ซึ่งหลายครั้ง ขนาดมีคนบอกแบบนั้นแล้ว ก็ยังอยากจะเข้าไปลองด้วยตัวเองอีกนะ แบบขอลองหยอดเหรีญดูซักเหรียญก็ยังดี จะได้สบายใจ พอพิสูจน์แล้วว่าเสียจริง ก็ค่อยเดินยิ้มเท่ห์ๆ ออกจากตู้ไปหาตู้อื่นต่อไป พร้อมเผชิญกับสายตาของผู้หวังดีที่ตีความได้ประมาณว่า “ KU บอก MEUNG แล้วไงว่ามันเสีย”
5. ตู้โทรศัพท์หลายตู้ ถ้าโชคดีถึงคิวเราแล้วก็จริง แต่พอคุยไปสักพักไม่ถึงสามนาที จะเริ่มมีใบหน้าผู้คนมาคอยกดดันรอบๆ ตู้โทรศัพท์ ประมาณว่า “คุยจะเสร็จรึยัง ฉันรอคิวอยู่นะโว้ย”
6. ตู้โทรศัพท์หลายตู้ ขณะที่เรากำลังคุยๆ อยู่ ก็จะมีคนเร่รร่อนเปิดประตูเข้ามาขอตังค์เราครับ ก็เขาคงรู้แหละว่าเรามีเหรียญแน่ๆ พอไม่ยื่นให้ ก็ไม่ยอมจากไปซะนี่ แล้วก็จะพูดขอตังค์อยู่นั่นแหละ จนกว่าเราจะให้ ก็ต้องยอมๆ กันไป
2. ถ้าอย่างนั้น ต้องออกไปไกลจากชุมชนเพิ่มขึ้นอีก ต้องหาจุดที่คนมักจะไม่ค่อยไปกัน ซึ่งจุดดังกล่าวมักจะปรากฎอยู่บริเวณที่ไกลออกไปมากๆ จากชุมชน แต่ต้องแลกมากับความเปลี่ยวของบรรยากาศบริเวณโดยรอบ ซึ่งขณะที่คุยสาย ก็ต้องคอยมองรอบๆ ตู้โทรศัพท์ไปด้วย ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เผื่อมีมิจฉาชีพเห็นเราอยู่ลำพังจะเข้ามาปล้นเหรียญที่เราเตรียมมาได้ เดี๋ยวก็ได้อดคุยกับสาวเจ้าพอดี
3. ทางแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งก็คือ ต้องยอมเสียตังค์เพิ่มครับ โดยการซื้อบัตรโทรศัพท์ จะทำให้เรามีโอกาสในการเลือกตู้โทรศัพท์ที่ใช้บัตรโทรศัพท์ ที่คนใช้น้อยกว่าแบบเหรียญ ผมเดาว่าน่าจะเป็นเพราะหลายคนไม่อยากจ่ายเงินซื้อบัตรโทรศัพท์ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ไปจนถึง 100 บาท 300 บาท และ 500 บาท