กฎหมาย CAA ของอินเดีย คืออะไร ทำไมจึงเป็นดราม่าในอินเดียตอนนี้

กฎหมาย CAA หรือชื่อเต็มก็คือ Citizenship (Amendment) Act, 2019 เพิ่งได้รับการประกาศใช้ เนื้อหาหลักๆ ของกฎหมายก็คือ จะมีการมอบสัญชาติ รวมทั้งสิทธิพลเมืองต่างๆ ให้แก่ประชากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศมุสลิมใกล้ๆ อินเดีย คือ ปากีสถาน, บังกลาเทศ และ อัฟกานิสถาน ซึ่งอพยพเข้ามาในอินเดีย รัฐบาลของนาย Narendra Modi อธิบายว่า การกดขี่ชนกลุ่มน้อยที่เป็น Non-Muslim ในประเทศมุสลิมเพื่อนบ้านมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 3 ประเทศดังกล่าว ดังนั้นการออกนโยบายดังกล่าวจึงเป็นการรับรองสิทธิและให้ที่พักพิงแก่ชนกลุ่มน้อยในประเทศนั้นซึ่งหนีมาประเทศอินเดีย

กฎหมาย CAA ระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับสิทธิดังกล่าว คือ การได้รับสัญชาติอินเดียและการเป็นพลเมืองอินเดีย มีคุณสมบัติก็คือ 1.ต้องมาอยู่อินเดียก่อนปี 2557 2.เป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู, ซิกข์, คริสต์, เชน, โซโรอัสเตอร์ (ปาร์ซี) และ พุทธ และ 3. มาจากทั้ง 3 ประเทศคือ ปากีสถาน, บังกลาเทศ และ อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่อยู่ใกล้กับอินเดีย แต่ประชากรที่เป็นมุสลิม รวมถึงประชากรที่มาจากศรีลังกา จีน เนปาล พม่า และประเทศอื่นๆ ไม่เข้าข่ายดังกล่าว (ถูกต้อง Rohingya หมดสิทธิ์ 100%)

ทำไมหลายคนและหลายกลุ่มไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย CAA นอกจากการมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนาแล้ว ในบรรดารัฐที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังกังวลว่าการเข้ามาของประชากรดังกล่าวจะสร้างปัญหาให้กับรัฐนั้นมากขึ้น โดยเฉพาะในรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งอาจจะต้องรองรับชาวฮินดูจากบังกลาเทศเข้ามาเป็นพลเมืองอินเดียอีกจำนวนมาก (แม้พวกเขาจะเป็นเบงกาลีเหมือนกันก็ตาม) เช่นเดียวกับรัฐปัญจาบ และรัฐราชสถาน ที่อยู่ติดกับปากีสถาน

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามกับ Modi ยังกล่าวว่า ทั้งเรื่องการสร้างวัดพระรามในเมืองอโยธยา รวมถึงเรื่องกฎหมาย CAA นี้ ยังเป็นการสร้างคะแนนเสียงให้กับนาย Modi ซึ่งกำลังจะลงเลือกตั้งสมัยที่ 3 (ประเทศอินเดีย นายกฯ ไม่มีการจำกัดวาระ) โดยเฉพาะกลุ่มฮินดูชาตินิยมซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของอินเดีย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่