รู้จัก MIT แห่งอินเดีย ขุมทรัพย์มันสมอง ที่ป้อน CEO ให้บริษัทอเมริกัน

กระทู้สนทนา
รู้จัก MIT แห่งอินเดีย ขุมทรัพย์มันสมอง ที่ป้อน CEO ให้บริษัทอเมริกัน /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่าตอนนี้ บริษัทสัญชาติอเมริกันยักษ์ใหญ่หลายแห่งนั้น ถูกบริหารโดยคนเชื้อสายอินเดีย
ตัวอย่างเช่น
- Alphabet เจ้าของ Google และ YouTube ที่มีมูลค่าบริษัท 62 ล้านล้านบาท มี CEO เป็นคนอินเดียชื่อ Sundar Pichai ซึ่งรับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2015
- IBM บริษัทเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญเรื่องโซลูชันองค์กร และ AI โดยเป็นผู้พัฒนา IBM Watson ก็มี CEO เป็นคนอินเดียนามว่า Arvind Krishna
ที่น่าสนใจคือ CEO ทั้งสองคนนี้ นอกจากเชื้อสายแล้ว ยังมีอีกจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศอินเดียที่มีชื่อว่า Indian Institute of Technology หรือ IIT
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จนได้รับฉายาว่า MIT แห่งอินเดีย เลยทีเดียว
แล้วจุดเริ่มต้นของ IIT อินเดีย มาจากไหน
ทำไมถึงผลิต CEO ป้อนบริษัทระดับโลกได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของ IIT ก็ต้องย้อนกลับไปในยุคที่อินเดีย ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
ในตอนนั้น ประเทศอินเดีย เป็นเพียงฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย เพื่อป้อนให้กับโรงงานทอผ้าของอังกฤษ เพียงเท่านั้น
ด้วยความที่มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ทำให้การผลิตสิ่งทอที่อินเดีย ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีความได้เปรียบเหนือประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นจุดด้อยของอินเดียเช่นเดียวกัน เพราะผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ในอินเดีย เป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำ หรือ Low-Skilled Labor ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียมีขีดจำกัด และพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศอื่น
เรื่องนี้ทำให้หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 กลุ่มนักธุรกิจและชนชั้นนำของอินเดีย ซึ่งนำโดย Nalini Ranjan Sarkar ได้เสนอให้มีการตั้งสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีขึ้นในอินเดีย
ส่งผลให้ในปี 1950 IIT แห่งแรก ได้ถือกำเนิดขึ้นในเมืองขรรคปุระ รัฐเบงกอลตะวันตก
ก่อนที่ต่อมาในปี 1956 รัฐสภาอินเดีย ได้อนุมัติร่างกฎหมาย เพื่อเปิดทางให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ภายใต้การผลักดันของ Jawaharlal Nehru นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
การสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย ทำให้มีการเปิด IIT เพิ่มอีก 4 แห่ง ที่เมืองมุมไบ, เมืองเจนไน, เมืองกานปุระ และเมืองเดลี
ซึ่งหลักสูตรของ IIT ส่วนใหญ่นั้น เป็นหลักสูตรด้านวิศวกรรม ที่เน้นการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างวิศวกรใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะภาคโครงสร้างพื้นฐานของอินเดีย
และในปัจจุบัน IIT มีสถาบันในสังกัดมากถึง 23 แห่ง
ครอบคลุมทั่วประเทศ
เมื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้อินเดียสามารถผลิตวิศวกรได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากปีละ 3,000 คน ในช่วงปี 1960 ก็ขยับมาสู่บัณฑิตหลักแสน หลักล้านคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก IIT
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ทำให้รัฐบาลอินเดีย เจอโจทย์ใหม่ที่ต้องแก้
เพราะด้วยความที่มีวิศวกรจบใหม่ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีตลาดแรงงานและธุรกิจ ที่มารองรับแรงงานทักษะสูงเหล่านี้
ในปี 1967 รัฐบาลอินเดียจึงเริ่มแผนพัฒนาอุตสาหกรรมด้าน IT โดยร่วมมือกับ Tata Consultancy Services เพื่อสร้างธุรกิจ ให้บริการปรึกษาด้าน IT กับบริษัทต่างชาติ
โดยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติทั่วโลก หันมาจ้างวิศวกรชาวอินเดีย ที่ตอนนั้นมีค่าแรง 200 บาทต่อชั่วโมง แทนการใช้วิศวกรจากสหรัฐฯ ซึ่งมีค่าแรงสูงถึง 2,000 บาทต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 10 เท่า
ด้วยจุดเด่นเรื่องค่าแรงของชาวอินเดียที่ยังถูก และมีคุณภาพสูง ทำให้วิศวกรจากอินเดีย เริ่มเป็นที่ยอมรับจากบริษัทระดับโลก โดยเฉพาะบริษัทจากซิลิคอนแวลลีย์ แหล่งรวมบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ
ยิ่งในช่วงปี 1980 อินเดียมีการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ทำให้บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติหลายแห่ง เลือกมาตั้งสำนักงานในอินเดีย
โดยในปัจจุบันนี้ อินเดียกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรม IT ระดับแนวหน้าของโลก และสามารถผลิตวิศวกรด้าน IT ได้สูงถึงปีละ 1.4 ล้านคน
ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จบมาจาก IIT นั่นเอง
ส่วน Tata Consultancy Services ก็กลายเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและบริการด้านไอทีข้ามชาติ ที่ดำเนินธุรกิจใน 46 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานมากกว่า 6 แสนคน และมีมูลค่าบริษัทมากเป็นอันดับ 2 ของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม IIT ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานศึกษา ที่เข้ายากที่สุดในโลก โดยมีอัตราการรับเข้าอยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก ในขณะที่ MIT ของสหรัฐฯ มีอัตราการรับเข้าที่ 7%
พูดง่าย ๆ คือ หากมี 100 คน ซึ่งมีความฝันอยากเข้าเรียนที่นี่ จะมีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่สามารถสอบเข้ามาเรียนที่ IIT ได้..
โดย Satya Nadella ซึ่งเป็น CEO ของ Microsoft คนปัจจุบัน ก็เคยไปสอบเข้า IIT ถึง 2 ครั้ง แต่ก็สอบไม่ผ่านแม้แต่ครั้งเดียว จนต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่นแทน
นอกจากนี้ เมื่อมีการแข่งขันสอบเข้าที่สูงมาก ก็เป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดสถาบันกวดวิชา สำหรับติวเพื่อสอบเข้า IIT โดยเฉพาะ ที่เมือง Kota ซึ่งได้รับฉายาว่า Kota Factory หรือสถาบันที่ผลิตคนเพื่อเข้าเรียนใน IIT
โดยค่าใช้จ่ายในการติวพิเศษเพียง 1 ปี สูงถึง 179,000 บาท หรือมากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนอินเดีย ซึ่งอยู่ที่ 81,000 บาทต่อปี กว่าเท่าตัว..
แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่คนอินเดียส่วนใหญ่ กลับพร้อมเดิมพันกับลูกหลาน ที่อยากเข้า IIT อย่างมาก
เพราะหากได้ทำงานเป็นวิศวกร IT ในอินเดีย ก็มีโอกาสที่จะมีรายได้หลักหลายแสน ถึงหลักล้านบาทต่อปี
และถ้ามีโอกาสได้ไปทำงานที่บริษัทในสหรัฐฯ ก็จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงถึง 5,300,000 บาท..
โดย Sundar Pichai หนึ่งในศิษย์เก่า IIT ที่เป็น CEO ของ Alphabet คนปัจจุบัน ได้เงินเดือนเฉลี่ย ปีละ 72 ล้านบาท ซึ่งนี่ยังไม่รวมผลตอบแทนด้านอื่น ๆ เช่น ผลตอบแทนจากหุ้น ที่ได้รับเป็นหลักพันล้านบาทต่อปี
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงไม่แปลกใจ ว่าทำไม IIT ถึงกลายเป็นโรงงานผลิต CEO ระดับโลกได้ ก็เพราะว่ามาจากการมุ่งพัฒนาคนด้าน IT อย่างจริงจังของอินเดีย
บวกกับความเข้มข้นในการคัดคนเข้าเรียน และหลักสูตรที่เน้นการประยุกต์ใช้ มากกว่าภาคทฤษฎี ทำให้นักศึกษาจาก IIT มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ อินเดียก็กำลังเผชิญกับอีกหนึ่งความท้าทายเหมือนกับหลาย ๆ ประเทศ นั่นก็คือ ปัญหาสมองไหล
จากตอนแรกอินเดียตั้งเป้าให้ IIT เป็นแหล่งผลิตแรงงานด้านวิศวกรรม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประเทศตัวเอง
แต่มาวันนี้ กลับกลายเป็นว่าอินเดีย ส่งออกคนเก่ง ๆ เหล่านั้น ไปเป็นวิศวกร รวมถึง CEO ให้กับบริษัทต่างชาติแทน..
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่