เตรียมเสนอ “ชุดไทยพระราชนิยม” ให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ ก่อนส่งข้อมูลให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ


เสริมศักดิ์ ขานรับ นายกเศรษฐา เตรียมเสนอ “ชุดไทยพระราชนิยม” ให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ
ก่อนส่งข้อมูลให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อไป


นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ( ๒๗ กุมภาพันธ์ ๖๗ เวลา ๑๐.๒๐ น.) ว่า เนื่องในปีมหามงคล ครบ ๖ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  ได้ทรงดีไซน์ลายผ้าวชิรภักดิ์  ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายหัวใจ เป็นเสื้อผ้าให้ทางรัฐบาลช่วยกันนำไปโปรโมท และจะมีการตัดเสื้อผ้าใส่ นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้เร่งรัด กระทรวงวัฒนธรรม ทำเรื่องของ ชุดไทยพระราชนิยม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อ UNESCO อีกด้วย
 
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลชุดไทยฯ ที่เตรียมนำเสนอต่อยูเนสโก มีความพร้อมแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบก่อน และทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบงานมรดกภูมิปัญญาของชาติ จะดำเนินการส่งข้อมูลตามเอกสารที่ ยูเนสโก กำหนด ให้ทันภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ นี้ หลังจากนั้น ยูเนสโก จะนำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาฯ ที่ประเทศต่าง ๆ ที่นำเสนอ เข้าสู่วาระการพิจารณาตามลำดับต่อไป ซึ่งในขณะนี้ ในส่วนของประเทศไทย ในปลายปี ๒๕๖๗ จะมีรายการ ต้มยำกุ้ง กับ เคบายา จะเข้ารับการพิจารณา และในลำดับถัดไปจะเป็นรายการ ชุดไทยพระราชนิยม   มวยไทย และ ประเพณีลอยกระทง  ตามลำดับ
 
“ประเทศไทยได้ประกาศขึ้นบัญชี ชุดไทยพระราชนิยม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ระดับชาติ) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๖ ในราชกิจจานุเบกษา แล้วเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๗ โดยชุดไทยพระราชนิยม เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในลักษณะแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับงานช่างฝีมือ และการพิจารณานำชุดไทยไปใช้สวมใส่ตามโอกาส ถือเป็นแนวปฏิบัติการแต่งกายของสตรีไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และได้จัดทำข้อมูลรองรับการเตรียมเสนอต่อยูเนสโกภายใต้ชื่อ ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ในครั้งต่อไป” นายเสริมศักดิ์ เผย

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้ข้อมูลถึงความสำคัญของ ชุดไทย ว่า เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยมีปรากฏหลักฐานรูปแบบการนุ่งและการห่ม มากว่า ๑๔๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ  เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น ๘ แบบ เพื่อให้ประชาชนใช้ในโอกาสต่าง ๆ ปัจจุบัน คนไทยนิยมสวมใส่ชุดไทย ทั้ง ๘ แบบ ในวิถีชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา งานพิธีการสำคัญในชีวิต
 
นายโกวิท ยังได้เผยถึง คุณค่าของชุดไทย ว่า การสวมใส่ชุดไทยของคนไทยแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการการนุ่งห่มของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ และมีคุณค่าที่ควรตระหนักถึงความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ดังนี้

๑.   ในด้านงานช่างฝีมือ แสดงให้เห็นถึงฝีมือช่าง และหัตถศิลป์การทอผ้า การสร้างสรรค์ลวดลาย การออกแบบและตัดเย็บ รวมถึงการปักประดับด้วยเทคนิคต่าง ๆ อันวิจิตรบรรจง ส่งต่อให้ผู้สวมใส่เกิดความภาคภูมิใจ 

๒.  ในด้านแนวปฏิบัติทางสังคม และความรู้ความเข้าใจในการนำ ชุดไทย ไปสวมใส่ให้เหมาะสมกับโอกาส แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน บ่งบอกถึงความผูกพันของครอบครัว ชุมชนและสังคม การสวมใส่ชุดไทยช่วยเสริมบุคลิกภาพของสตรีไทยให้ดูสง่างามในความเป็นไทย ใช้ในโอกาสที่เหมาะสมทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

๓.   ส่งเสริมกระบวนการทางความคิด มีการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการให้ความเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และย้ำเตือนให้ผู้คนในปัจจุบัน ได้ตระหนักถึงรากเหง้าวัฒนธรรมคุณค่าฝีมือช่างคนไทยที่สืบทอดวิชาการออกแบบตัดเย็บสิ่งทอ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้สร้างสรรค์แฟชั่นของคนรุ่นใหม่ โดยนำผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น มาออกแบบตัดเย็บเป็นชุดไทยทั้งแบบอนุรักษ์และสร้างสรรค์ 

๔. ในด้านเศรษฐกิจ การสวมใส่ชุดไทยของผู้คนมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้หมุนเวียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ชุดไทย สามารถสวมใส่และศึกษาเรียนรู้ได้ในคนทุกกลุ่ม ทั้งในครอบครัว ชุมชน การศึกษาในระบบ นอกระบบ รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย และอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ เป็นซอฟท์พาวเวอร์ ที่สร้างงาน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ




พาพันเคลิ้มพาพันรักสัตว์พาพันไฟท์ติ้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่