เกร็ดเพลง เอริก แคล็ปทัน เปิดใจถึง โรเบิร์ต จอห์นสัน และที่มาของงานบูชาครู “Me and Mr Johnson”


อย่างที่รู้กัน เอริก แคล็ปทัน คือมือกีตาร์ที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ดนตรีบลูส์ และมีพ่อเพลงบลูส์ระดับตำนานหลาย ๆ รายเป็นศิลปินคนโปรด อาทิ เอลมอร์ เจมส์, มัดดี วอเทอร์ส, บิก บิลล์ บรูนซี, จิมมี รีด, บี.บี. คิง และแน่นอนโรเบิร์ต จอห์นสัน มือกีตาร์บลูส์ที่ถูกกล่าวขวัญทั้งในแง่ของฝีมือ และที่มาของความสามารถ ซึ่งแคล็ปทันตั้งฉายาให้ว่า เป็น “มือกีตาร์บลูส์ที่น่ารำคาญที่สุดตลอดกาล”

เจ้าของฉายา มือช้า (Slowhand) พูดถึงความรู้สึกเวลาหยิบงานที่เป็นมรดกตกทอดของจอห์นสันฟังว่า “พอบรรดาพ่อเพลงบลูส์ดั้งเดิมจากไป คุณก็เริ่มมาคิดได้ว่า ต้องมีใครบางคนสานต่อประเพณีดั้งเดิมเอาไว้"

“ผมฟังเพลงบลูส์เยอะมาก” แคล็ปทันเล่าถึงช่วงที่แตกเนื้อหนุ่ม “แล้วก็ยังมีงานเพลงอื่น ๆ ที่ได้ยินจากคนในครอบครัว คุณอาจจะได้ยินเพลงของลีด เบลลี หรือบิก บิลล์ บรูนซี หรือชัค เบอร์รีบ้างในบางครั้งบางคราว แต่ในที่สุดผมก็ได้พบกับ 'Crossroad Blues' ของโรเบิร์ต จอห์นสัน"

เมื่อให้พูดถึงเพลงนี้ แคล็ปทันบอกว่า นี่คือหนึ่งใน “เพลงบลูส์ที่ลึกที่สุดในชีวิตของผม” แล้วกับจอห์นสัน เจ้าของเพลง แคล็ปทันบอกว่า เป็น “นักร้องเพลงบลูส์ที่น่ารำคาญและฟังยากที่สุด เพราะเป็นเพลงที่นำอารมณ์มาใช้ในการสร้างดนตรี แต่ไม่ได้ฟังเหมือนเป็นงานของคนที่ไม่ได้ฝึกฝน มันเป็นดนตรีบลูส์ที่มีสไตล์การเล่นซับซ้อนที่สุด ผมคิดว่านะ”

ระหว่างการบันทึกเสียงผลงานที่จะทำเป็นอัลบัมใหม่ จู่ ๆ แคล็ปทันก็เริ่มเล่นแจมกับเพลงของโรเบิร์ต จอห์นสัน แล้วก็จบลงด้วยอัลบัมชุด 'Me And Mr Johnson' แคล็ปทันเล่าถึงอิทธิพลของจอห์นสันที่มีต่อเขาว่า “ด้วยอะไรบางอย่าง ดูเหมือนว่า ผมน่าจะทำอัลบัมนี้ ('Me And Mr Johnson') ตั้งนานแล้ว แต่ความจริงก็คือ มันเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผมที่จะทำงานชุดนี้ก่อนหน้านี้ อาจเป็นเพราะผมเป็นโตเป็นผู้ใหญ่ไม่มากพอ หรือผมไม่คิดว่าผมโตพอ… 

“ผมเติบโต และโตขึ้นมาจากเรื่องเล่ามากมาย ผมไม่ได้รู้สึกกลัวเหมือนที่เคยเป็น แล้วลำดับความสำคัญในชีวิตผมก็เปลี่ยนไป ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมก็คือ ภรรยากับลูก ๆ ดนตรีก็ยังมีความสำคัญ แต่ถูกลดระดับให้เป็นส่วนเล็ก ๆ ในมุมมองชีวิตของผม

"ผมไม่ได้เกรงโรเบิร์ต จอห์นสันอย่างที่เคยรู้สึก ผมมองการทำงานชุดนี้ว่า เป็นการยกย่องความรักที่ผมมีต่อโรเบิร์ต จอห์นสัน มากกว่าเป็นการยกย่องต่อตัวเขา ถ้าจะให้ฟังสมเหตุสมผลนะ

“แล้วเมื่อต้องร้องเพลงเกี่ยวกับทางแยก (crossroads) มันคือทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางไหน มันเป็นการพูดถึงการตัดสินใจทางศีลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณทำในทุก ๆ วัน

“ตอนผมฟังเพลงของเขาครั้งแรก ผมรู้สึกตื้นตันไปกับความเปราะบางของตัวเขา สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดก็คือ ผมเข้าถึงความรู้สึกของเขาได้ยังไง นั่นคือสิ่งที่ถูกมองข้ามไปในวันนี้ ที่มีสารพัดวิธีเข้าถึงความรู้สึกของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัด หรือกลุ่มสนทนา แต่ย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 60 ตอนที่ผมได้ยินงานของเขาเป็นครั้งแรก ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มันมีความปิดกลั้นทางวัฒนธรรมมากกว่านี้เยอะ”

กับการตีความบทเพลงของจอห์นสันในตอนแรก ๆ ออกมา อย่าง 'Crossroads' เอริกเล่าว่า “ผมไม่คิดอะไรแบบนั้นเลย (หัวเราะ) ผมแค่จัดการมันให้เสร็จไป! จริง ๆ แล้วความอดทนที่ผมมีต่องานเก่า ๆ ของตัวเองส่วนใหญ่ มีค่าเท่ากับศูนย์นะ โดยเฉพาะ 'Crossroads' ความนิยมที่มีต่อเพลงนี้ที่เป็นการทำงานกับ Cream ทำให้ผมประหลาดใจ ผมไม่คิดว่ามันดีอะไรมาก แล้วก็ไม่เคยกลับไปทบทวนงานเก่า ๆ ของตัวเอง ผมไม่เคยทำอะไรแบบนั้น (หมายเหตุ: แคล็ปทันไม่เคยบันทึกเสียงเพลง “Crossroads Blues” แบบเต็ม ๆ เพลงไว้ในสตูดิโออัลบัมชุดไหนเลย แต่เคยนำบางช่วงไปบรรเลงไว้ในเพลงต่าง ๆ)

“ที่เล่นไว้ในเพลง 'From Four Till Late on Fresh' ของครีม ผมว่าใช้ได้ แต่ผมไม่คิดว่า ผมจะอยากฟังฉบับที่ตัวเองเล่นไว้ในเพลง 'Rambling On My Mind' (จากอัลบัม Blues Breakers) ซึ่งผมทำกับจอห์น มายอลล์ ผมนึกเพลงนี้ไม่ออกด้วยซ้ำ

“บอกตรง ๆ ผมไม่เคยเล่นเพลงของโรเบิร์ต จอห์นสันเลยจริง ๆ ไม่เคยนั่งลงแล้วเล่นเพลงของเขาโดยไม่มีคนเล่นด้วย กระทั่งตอนที่เล่นเพลง 'Malted Milk' ในอัลบัม Unplugged ผมเล่นในฐานะเป็นเพลงเล่นคู่กับแอนดี แฟร์เวเธอร์โลว์ ผมเล่นบางส่วน บางเสี้ยวจากเพลงของโรเบิร์ต จอห์นสันได้ แต่ไม่เคยเล่นทั้งเพลงแบบโน้ตต่อโน้ต

"มีคนไม่มากนักหรอก ที่เวลาบันทึกเสียงแล้วฟังเหมือนเขาร้องเพลงออกมาจากใจ หรือรู้ว่าเขาเคยเจออะไร หรือรู้ว่าเขารู้สึกอะไร ส่วนใหญ่ก็แค่เลียนแบบคนอื่น ๆ หรือพัฒนาบางอย่างสำหรับการแสดงบนเวที ดนตรี… สำหรับผมแล้ว ส่วนใหญ่ก็คือ สิ่งที่สร้างขึ้นมา กระทั่งกับคนที่ผมชอบ ๆ เช่น เลอรอย คารร์ (มือเปียโนบลูส์) หรือซัน เฮาส์ (พ่อเพลงเดลตา บลูส์) ต่างก็ฟังไม่ต่างจากผู้สร้างความบันเทิงด้วยเสียงเพลงสำหรับผม” 

อ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่าน ได้ทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด้วยการกดไลค์หรือกดติดตามเพจ https://www.facebook.com/Sadaos
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่