“ชิป” บ่อน้ำมันอนาคต ที่หลายประเทศ อยากครอบครอง

“ชิป” บ่อน้ำมันอนาคต ที่หลายประเทศ อยากครอบครอง /โดย ลงทุนแมน
“เราควรซื้อชิปให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้”
นี่คือคำพูดของ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ก่อนที่สหรัฐฯ จะแบนการส่งออกชิปไปยังจีน
ซึ่งทำให้เห็นว่า ชิปมีความสำคัญมากแค่ไหน และจีนเองก็ยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างมาก
เรียกได้ว่า ในอนาคต หากใครสามารถควบคุมอุตสาหกรรมชิปได้ เท่ากับการกุมอำนาจไว้ในมือ เทียบได้กับการครอบครองบ่อน้ำมันก็ว่าได้
อย่างในปัจจุบัน 5 ใน 10 บริษัทใหญ่สุดในโลก ก็มีความข้องเกี่ยวกับคำว่าชิป ตั้งแต่ Microsoft, Apple, Google, Amazon, Meta ที่ใช้ชิป เป็นต้นทุนขับเคลื่อนธุรกิจ
ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิตและผู้ดิไซน์ ได้แก่ TSMC และ Nvidia ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา จนติดทำเนียบบริษัท TOP TEN โลก
การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ นำมาสู่สงครามทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเมือง ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไม่ต่างอะไรไปจากการแย่งชิงทรัพยากรสำคัญ ในประวัติศาสตร์
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อย่างที่เห็นกันมาแล้วว่า หากประเทศไหนได้ครอบครอง ทรัพยากรหรือเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก ก็จะสามารถมีอำนาจขึ้นมาได้
เริ่มตั้งแต่จักรวรรดิสเปน ในช่วงศตวรรษที่ 15
ครอบครองดินแดนในทวีปอเมริกาใต้แทบทั้งหมด ซึ่งดินแดนเหล่านี้ มีทองคำอยู่จำนวนมาก
ทำให้สเปน กลายมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
เพราะมีความมั่งคั่งสูง จากทองคำจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งสิ่งนี้กลับทำให้สเปนเพิกเฉยกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว แถมถลุงเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย
จนในที่สุด สเปนเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และจักรวรรดิก็ล่มสลาย..
ต่อมาในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษค้นพบการนำถ่านหินและไอน้ำ ไปใช้ในอุตสาหกรรม
ทำให้ครั้งหนึ่ง อังกฤษเคยขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกถ่านหินไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก แถมยังสามารถขยายดินแดน ไปยึดครองประเทศต่าง ๆ ได้อีกจำนวนมาก
แต่ไม่นานนัก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ก็มีการค้นพบทรัพยากรชิ้นสำคัญ ที่เรียกว่า “น้ำมัน” ซึ่งในตอนนั้นเรียกกันว่า “ทองคำดำ”
แม้การนำน้ำมันมาใช้ประโยชน์ จะเริ่มต้นครั้งแรกในยุโรป แต่กลายเป็นสหรัฐฯ ที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันของตัวเอง ให้ยิ่งใหญ่กว่าได้
ตัวอย่างเช่น Standard Oil Company of California ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น Chevron, Standard Oil of New Jersey หรือ ExxonMobil ในปัจจุบัน
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ ก็เข้าไปสัมปทานน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และประเทศตะวันออกกลาง มาจนถึงวันนี้
และทำให้กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยจากน้ำมัน รวมกลุ่มก่อตั้ง OPEC สร้างอำนาจควบคุมทิศทางราคาน้ำมันของโลก
ถึงตรงนี้ แม้จะดูเหมือนว่า น้ำมันเป็นทรัพยากรสำคัญ หากประเทศไหนได้ครอบครอง ก็จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจตามไปด้วย
แต่ปัจจุบัน ภาพเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง..
เพราะหากเราไปดูสินค้านำเข้า 3 อันดับแรกของโลก ในปี 2022 จะพบว่า
- น้ำมัน 57.8 ล้านล้านบาท
- ชิป 44.3 ล้านล้านบาท
- รถยนต์ 28.1 ล้านล้านบาท
เห็นได้ชัดเลยว่า ชิปกำลังเป็นสินค้าที่ประเทศทั่วโลกต้องการเป็นอย่างมาก โดยนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากน้ำมันเท่านั้น
และยังเป็นสินค้าใน 3 อันดับแรก เพียงอย่างเดียว ที่เติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 5 ปีในช่วงที่ผ่านมา โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เลยทีเดียว
การเติบโตที่ต่อเนื่อง ก็เพราะว่าชิป เป็นสินค้าที่ไม่ต่างอะไรกับน้ำมัน ที่ใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ
เพราะชิป เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยี
ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ตโฟน และเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง AI ไปจนถึงอุปกรณ์ทางทหาร เช่น ขีปนาวุธ หรือโดรนไร้คนขับอีกด้วย
จะเห็นว่าชิปเป็นสิ่งที่มีความต้องการจากทั่วโลกสูง
แต่กลับกัน ชิปเป็นสิ่งที่ผลิตได้อย่างจำกัด และไม่พอต่อความต้องการ โดยเฉพาะชิปที่มีความซับซ้อนหรือมีประสิทธิภาพสูง
ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 บริษัทที่สามารถผลิตชิปขั้นสูงที่มีคุณภาพ ส่งออกไปทั่วโลกได้ นั่นคือ TSMC จากไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้
แต่ยังไม่มีบริษัทจีนรายใดเลย ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นทั้งผู้ผลิตชิปหรือผู้ออกแบบ ที่แข่งขันในระดับโลกได้
ทำให้จีน พยายามแข่งกับสหรัฐฯ เพื่อชิงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้ และลดการพึ่งพาจากต่างชาติ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ดูจะไม่ง่ายนัก หากประเทศไหน อยากครอบครองอุตสาหกรรมชิปไว้คนเดียว เพราะอุตสาหกรรมนี้ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่ทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น
- ASML ธุรกิจผลิตเครื่องผลิตชิป EUV ของเนเธอร์แลนด์
- TSMC ธุรกิจรับจ้างผลิตชิป ของไต้หวัน
- Samsung ธุรกิจออกแบบ รวมถึงรับจ้างผลิตชิป ของเกาหลีใต้
ในขณะที่สหรัฐฯ มีธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการออกแบบชิป เช่น Apple, Nvidia, AMD ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ผลิตจากประเทศอื่น ๆ แทน
ส่วนจีนเอง แม้กำลังพัฒนาให้ตัวเองสามารถผลิตชิปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น แต่ก็ดูเหมือนว่า ยังห่างไกลจากความสำเร็จพอสมควร
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเห็นแล้วว่าอดีตที่ผ่านมา ทรัพยากรที่มีค่าเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และแต่ละช่วงเวลา ก็มีประเทศที่ครอบครองมัน แตกต่างกันออกไป
ไล่ตั้งแต่
- ทองคำ ครอบครองโดยสเปน
- ถ่านหิน ครอบครองโดยอังกฤษ
- น้ำมัน ครอบครองโดยสหรัฐฯ และกลุ่ม OPEC
จนมาถึงวันนี้ ที่เป็นชิป อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ที่อยู่เบื้องหลังหลาย ๆ เทคโนโลยี กลับไม่มีประเทศไหน ที่สามารถครอบครองทั้งอุตสาหกรรมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ก็จะมีเพียงประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีอำนาจ ในแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ แตกต่างกันออกไปเท่านั้น
แต่ในอนาคต ก็ไม่แน่ ที่ภาพนี้จะเปลี่ยนไป..
เนื่องจากตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือจีนเอง ต่างก็ต้องการลดการพึ่งพาคนอื่น และหันมาควบคุมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมชิป ให้ครบจบในประเทศมากขึ้น
เพราะเล็งเห็นว่า ชิป มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของชาติ
ซึ่งประเทศไหนที่เป็นผู้นำด้านนี้ ก็จะมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกสูง นั่นเอง
หรือเรียกได้ว่า “ชิป” กลายเป็นบ่อน้ำมันแห่งอนาคต ที่หลายประเทศอยากครอบครอง ก็คงไม่ผิดมากนัก..
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่