JJNY : 'เบญจา'ชี้ปัญหาไฟฟ้าสวัสดิการทัพเรือ│ปชช.ยังไม่พึงพอใจการแก้ปัญหายาเสพติด│ตรุษจีนยอดขายลด20%│ฮูตียิงใส่เรือสินค้า

'เบญจา' ชี้ปัญหาไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือสัตหีบ ค่าไฟแพง-คุณภาพย่ำแย่ กระทบประชาชน
https://voicetv.co.th/read/sBVLNhjyr
 
'เบญจา' ชี้ปัญหาไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือสัตหีบ ค่าไฟแพง-คุณภาพย่ำแย่ กระทบประชาชน ตั้งคำถามภารกิจทัพเรือจำเป็นต้องจำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่ ยกโมเดลบ้านฉางระยอง โอนให้ กฟภ. ดำเนินการ เตรียมนำหารือในประชุม กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ สัปดาห์หน้า
 
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่างๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระสำคัญ 2 เรื่อง คือการพิจารณาเรื่องการให้บริการกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และการพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของ กมธ.
 
เบญจากล่าวว่า เนื่องจากมติในการประชุมครั้งก่อน อนุญาตให้ถ่ายทอดสดได้เป็นครั้งคราว เมื่อเริ่มการประชุม กมธ. สัดส่วนพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ถ่ายทอดสด เพราะทั้งสองวาระเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ต้องจ่ายค่าไฟแพง การขอมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่ใช้มิเตอร์ชั่วคราว แต่ประธาน กมธ. ระบุข้อกังวลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของกองทัพ และยืนยันไม่ให้ถ่ายทอดสด
 
ส่วนการถ่ายโอนกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นั้น จากการประชุมทำให้ได้ทราบข้อมูลที่ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ขายไฟให้กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ แล้วกิจการฯ ก็ขายไฟต่อให้ประชาชนในราคาที่สูงกว่า จากปกติ 4 บาทกว่าต่อหน่วย มิเตอร์ถาวรของกิจการฯ ขายประมาณ 6 บาทกว่าต่อหน่วย ส่วนมิเตอร์ไฟชั่วคราว สูงไปถึง 8-10 บาทต่อหน่วย .
 
นอกจากค่าไฟแพง คุณภาพการให้บริการยังมีปัญหา ไฟตก ไฟติดๆดับๆ ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของประชาชนเสียหาย จากเฟซบุ๊กเพจของกิจการฯ จะเห็นประชาชนเข้ามาตำหนิต่อว่าอยู่เสมอ นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญนำมาสู่การพิจารณาศึกษาว่าจะถ่ายโอนธุรกิจนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กฟภ. เข้ามาดูแลได้อย่างไรบ้าง
 
เมื่อถามถึงอัตราค่าไฟที่กิจการฯ ขายให้ประชาชนแพงกว่าปกติ เบญจากล่าวว่า กองทัพไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้อย่างชัดเจน บอกเพียงว่าอัตราค่าไฟเท่ากับ กฟภ. แต่เรามีบิลค่าไฟจากพี่น้องประชาชนมาใช้ยืนยันว่าค่าไฟแตกต่างกัน แม้กองทัพบอกว่านั่นคือมิเตอร์ชั่วคราว เราก็ยืนยันกลับไปว่าต่อให้เป็นมิเตอร์ถาวร ถ้าดูจากบิลค่าไฟจะเห็นชัดเจนว่ามีความแตกต่างอยู่ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย เช่น ประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ของกองทัพ ใช้จำนวนหน่วยไฟฟ้าเท่ากัน จ่ายประมาณ 2,000 บาท แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กิจการฯ ต้องจ่ายประมาณ 6,000 บาท เมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ เท่ากับจ่ายค่าไฟสูงกว่าความเป็นจริงเกือบสามเท่าตัว.
 
เราไม่ติดใจเลยถ้ากองทัพสำรองไฟไว้ใช้แค่ในกิจการภายในและอยู่ในพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งควรแบ่งให้ชัดเจน เช่น พื้นที่ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ พื้นที่การรบ แต่พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือ เช่น เป็นรีสอร์ท เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ กองทัพเรือยังมีความจำเป็นต้องเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่” เบญจากล่าว
 
เบญจา กล่าวว่า สำหรับสัปดาห์ต่อไป กมธ. จะศึกษาโมเดลการโอนถ่ายกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ ของ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ที่เคยโอนถ่ายเมื่อปี 2537 ให้ กฟภ. ดูแล โดยปัจจุบันพื้นที่ อ.บ้านฉาง คล้าย อ.สัตหีบ คือกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 
 
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กองทัพเรือชี้แจงว่ายังติดใบอนุญาตที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้จำหน่ายไฟได้อีกประมาณ 25 ปี เรื่องนี้จึงต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปชำระค่าสัมปทานที่กองทัพเรือชำระให้ กกพ. หรือที่กองทัพเรือได้ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อส่งมอบหรือโอนธุรกิจนี้ให้ กฟภ. ดูแล ซึ่งทาง กฟภ. มีความพร้อมอย่างยิ่ง ดังนั้น ถ้านำโมเดลของ อ.บ้านฉาง ปรับใช้กับ อ.สัตหีบ ก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
 
ส่วนกรณีสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กองทัพยอมรับความเปลี่ยนแปลง โรงไฟฟ้าที่สัตหีบ กองทัพคืนได้ แต่จะกันเอาไว้เฉพาะส่วนที่ใช้ในกองทัพเท่านั้น ตนยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เพราะในที่ประชุม ตัวแทนจากกองทัพไม่ได้พูดเหมือน รมว.กลาโหม ทั้งยังยืนยันว่าพื้นที่กิจการฯ ดังกล่าวเป็นพื้นที่ความมั่นคง 
 
เบญจา กล่าวว่า ส่วนวาระที่สอง คือการพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของ กมธ. ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วที่ต้องการหารือเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของ กมธ. ชุดนี้ แต่ประธาน กมธ. ยังไม่มีความชัดเจน ขอเลื่อนเป็นวาระการประชุมครั้งหน้า ซึ่ง กมธ. สัดส่วนพรรคก้าวไกล รวมถึงคนอื่นๆ เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะเรื่องนี้ใช้เวลาไม่นาน ในขณะที่ธุรกิจกองทัพมีจำนวนมาก การทำงานจึงต้องวางกรอบให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อในการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จะสามารถลงรายละเอียดแต่ละประเด็นได้  เช่น อนุฯ ศึกษาธุรกิจพลังงาน อนุฯ ศึกษาธุรกิจคลื่นวิทยุ จะทำให้รู้ว่ามีธุรกิจอะไรบ้างของกองทัพ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ หรือที่เป็นสวัสดิการภายใน หรือที่เป็นสวัสดิการที่ต้องส่งเงินคืนคลัง เมื่อเห็นภาพชัด กมธ. จะทำงานได้ครบและรอบด้านภายในกรอบ 90 วัน



‘นิด้าโพล’ ชี้ประชาชนยังไม่พึงพอใจการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล 
https://www.dailynews.co.th/news/3151888/

“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล” ระบุยังไม่พึงพอใจในผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 3 เดือน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 25-29 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ “ผู้เสพยาเสพติด” พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.09 ระบุว่า เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายที่ภัยต่อสังคม ควรถูกจับและลงโทษอย่างจริงจัง รองลงมา ร้อยละ 25.50 ระบุว่า เป็นผู้ป่วยที่ควรได้รับการบำบัดรักษา ร้อยละ 23.28 ระบุว่า เป็นผู้ป่วยที่ควรถูกจับเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา ร้อยละ 12.67 ระบุว่า เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายที่ควรถูกจับและลงโทษ และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ด้านมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.92 ระบุว่า การปราบปราม (จับกุมผู้ค้า/สกัดกั้นตามแนวชายแดน/ยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติด) รองลงมา ร้อยละ 14.89 ระบุว่า การส่งเสริม (ให้หมู่บ้าน/ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด) ร้อยละ 11.30 ระบุว่า การป้องกัน(การสร้างความตระหนักและป้องกันในกลุ่มเด็กและเยาวชน) ร้อยละ 6.18 ระบุว่า การบำบัดรักษา (บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด/ติดตามดูแลช่วยเหลือ/ให้โอกาส) ร้อยละ 3.82 ระบุว่า การป้องปราม (ในสถานบันเทิง) ร้อยละ 3.51 ระบุว่า การบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวช และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับมาตรการที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากที่สุด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.28 ระบุว่า การป้องกัน (เอาใจใส่ดูแลเด็ก/เยาวชนในครอบครัว ในหมู่บ้าน/ชุมชน) รองลงมา ร้อยละ 33.28 ระบุว่า ปราบปรามยาเสพติด (แจ้งเบาะแส/ให้ข้อมูลข่าวสาร) ร้อยละ 11.45 ระบุว่า การบำบัดรักษา (นำผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารับการบำบัดรักษา ช่วยติดตามดูแล ช่วยเหลือ
ให้โอกาส) และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวนผู้ใช้กัญชาและกระท่อมในทางที่ผิดเมื่อเปรียบเทียบกับ ก่อนการปลดกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 78.09 ระบุว่า การใช้กัญชาและกระท่อมในทางที่ผิดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 13.97 ระบุว่า การใช้กัญชาและกระท่อมในทางที่ผิด มีจำนวนมากเหมือนเดิม ร้อยละ 3.82 ระบุว่า การใช้กัญชาและกระท่อมในทางที่ผิด มีจำนวนลดน้อยลง ร้อยละ 2.75 ระบุว่า การใช้กัญชาและกระท่อมในทางที่ผิด มีจำนวนน้อยเหมือนเดิม และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความพึงพอใจในผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.02 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย รองลงมา ร้อยละ 31.98 ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 22.44 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 6.64 ระบุว่า พึงพอใจมาก และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.34 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.82 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 35.19 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.06 สมรส และร้อยละ 2.75 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 24.89 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.42 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.71 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.87 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.11 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 9.77 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.57 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.69 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.06 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.42 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.53 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 24.12 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.09 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 28.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.59 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.12 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.83 ไม่ระบุรายได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่