ควรอนุโลมให้คนพิการที่พอทำกิจสงฆ์ได้ บวชได้บ้างไหมเพราะไม่ได้ทำผิด ถึงขั้นปาราชิก

กระทู้คำถาม
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา ให้สัมภาษณ์ประชาไท โดยวิเคราะห์ถึงสถานการณ์และปัญหาของพุทธศาสนาแบบไทยๆ ว่า พุทธไทยมักอ้างธรรมวินัยของเถรวาท ซึ่งหากดูธรรมวินัยของเถรวาทในสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว กลับมีลักษณะยืดหยุ่นตามบริบทของสังคมมากกว่า เช่น เมื่อมีการบวชเกิดขึ้นครั้งแรก พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติพระวินัยเอาไว้ล่วงหน้า การบวชคือการเข้ามาปฏิบัติธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา การมีชีวิตที่ดี บรรลุธรรรม ฯลฯ เท่านั้น

การบัญญัติวินัยเกิดขึ้นจากพระที่บวชในระยะหลังๆ มีมากขึ้น บางคนไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น พระมีเมีย มีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ วินัยของพระ 227 ข้อจึงเกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องคุณสมบัติและคุณลักษณะของคนที่จะเข้ามาบวชว่าต้องเป็นอย่างไร เช่น ต้องไม่พิการ ต้องเป็นเพศชาย มีอวัยวะ 32 ประการ ฯลฯ ซึ่งข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมกับสังคมในเวลานั้น การบัญญัติวินัยแบบนี้จึงอาจใช้ไม่ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน

“ในภาวะปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว คนพิการ ผู้หญิง เพศที่สาม ที่สี่ ฯลฯ มีพื้นที่ทางสังคมเยอะขึ้น แต่พุทธไทยเรายังยึดวินัยที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยโบราณ ยึดติดการตีความตามตัวอักษร นอกจากนี้ การตีความยังอยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นอำนาจที่แข็ง ไม่ยืดหยุ่น ไม่ผ่อนปรน ไม่เปิดพื้นที่ให้กับความคิดที่ก้าวหน้า และไม่ให้โอกาสกับความหลากหลายของคนในโลกสมัยใหม่ แต่กลับยืดหยุ่นสำหรับตัวเอง เช่น เวลาตีความเรื่องภิกษุณีคุณตีความทุกตัวอักษรเป๊ะ แต่เวลาตีความเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติของพระ กลับยืดหยุ่นเข้ากับยุคสมัยทุกอย่าง

"ในวินัยสมัยพุทธกาลนั้นไม่มีการอนุญาตให้บวชเรียนหนังสื่อเป็น ตรี โท เอก แต่คุณก็ตีความว่ามันทำได้ วินัยไม่ได้บัญญัติเลยว่า ต้องมีองค์กรสงฆ์ตามกฎหมายแบบมหาเถรสมาคม แต่ก็ตีความว่ามีได้ วินัยตามตัวอักษรจริงๆ ห้ามพระรับเงินและทอง ทุกวันนี้พระก็รับได้ อ้างว่าเป็นไปตามสังคมสมัยใหม่ นี่มันคือการยืดหยุ่นสำหรับตัวเอง แต่กลับไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้คนอื่น” สุรพศกล่าว

เขาเสริมว่า สังคมไทยไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ มีการตีความหลักการแบบศรีธนญชัย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายที่มีอำนาจ โดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของคนชายขอบทางศาสนา เช่น ผู้หญิง เพศที่สาม คนพิการ ฯลฯ เพราะไม่ได้สนใจความเป็นคนของคนเหล่านั้น จึงอาจต้องใช้เวลานานมากในการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์เพื่อการแก้ไขในระยะยาว

“ธรรมวินัยเป็นอุบายวิธี ไม่ใช่สัจธรรม อุบายวิธีก็คือวิธีการที่ทำให้คนเราเรียนรู้เพื่อมีประสบการณ์ต่อความจริง หากเป้าหมายของการเรียนรู้คือความสงบทางจิตใจและความเป็นอิสรภาพภายในแล้ว พุทธศาสนาก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรับรู้ด้วยตนเอง ในนิกายอื่นอย่างมหายาน เซ็น วัชรยาน ฯลฯ เขาจับประเด็นนี้ถูก จึงมีความยืดหยุ่นมาตลอด การมีภิกษุณีของเขามันเป็นเรื่องปกติ นักบวชของเขาก็มีได้หลายประเภท ทั้งนักบวชที่มีครอบครัวและไม่มีครอบครัว หรือถือพรหมจรรย์ก็มี”

นอกจากนี้ สุรพศเสนอให้แยกองค์กรศาสนาให้เป็นองค์กรเอกชน โดยเชื่อว่าจะช่วยให้อำนาจการตีความที่เดิมเคยขึ้นกับมหาเถรสมาคม ซึ่งตีความธรรมวินัยในลักษณะที่เป็นอำนาจนิยม มีการแยกกลุ่มและมีอิสระที่จะตีความมากขึ้น จนอาจเป็นไปได้ว่า บางสำนักที่มีความพร้อมรับคนพิการก็สามารถรับเพื่อเรียนรู้ปฏิบัติธรรมในเพศของนักบวชได้

“การที่เราให้คนนั่งวีลแชร์บวชไม่ใช่สิ่งที่ผิด ถ้าสงฆ์หรือชาวพุทธในกลุ่มนั้นๆ ยอมรับ เพราะการเป็นพระขึ้นอยู่กับการปฏิบัติด้วย ไม่ใช่แค่พิธีกรรม ความเป็นพระในเชิงนามธรรมนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความว่า อำนาจนั้นอยู่ที่กลุ่มใด” สุรพศเสริม

นอกจากนี้ สุรพศกล่าวเช่นเดียวกับพระมหาไพรวัลย์ว่า ‘ในแง่ธรรมวินัย การสั่งสึกนั้นทำไม่ได้’ เพราะคนที่ต้องถูกปรับอาบัติคือคนที่บวชให้ ซึ่งต้องว่ากันตามธรรมเนียม

“หากถามว่า ทำไมคนไม่ต่อต้านการสึกแบบนี้ มันก็เป็นคำถามเดียวกันกับการถามว่า ‘ทำไมไม่เรียกร้องให้ปล่อยไผ่ ดาวดิน’ พวกเราเป็นสังคมที่ไม่มีความรู้สึกอ่อนไหวต่อคนเล็กคนน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิ ละเมิดความเป็นคน เราเป็นสังคมที่ถูกปลูกฝังให้ซาบซึ้งในความดีงามของคนข้างบนเสียมากกว่า” เขาทิ้งท้าย

https://prachatai.com/journal/2016/08/67556
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่